อาการปวดระดูทำไมต้องใส่ใจ?

December 03 / 2024

 

 

อาการปวดระดูทำไมต้องใส่ใจ

 

 

 

พญ.วันวิสาข์ ไชยชนะ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติ-นรีเวช

 

 

 

     อาการปวดระดูหรือปวดท้องเวลามีประจำเดือนนั้นเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในสตรีวัยเจริญพันธ์ โดยพบมากถึง 50% ของสตรีที่มีประจำเดือน ซึ่ง 10% ของสตรีเหล่านี้จะมีอาการมากจนต้องหยุดกิจกรรมที่ดำเนินอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น ขาดงานหรือหยุดเรียนและบางส่วนแม้จะยังทำงานได้แต่คุณภาพของงานก็ลดลง และเสี่ยงต่อการเกิดความผิดพลาดหรืออุบัติเหตุของหญิงนั้นได้ ปัญหาเรื่องอาการปวดระดู หากไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดี จะมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจเนื่องจากผู้ป่วยมีความกังวลต่ออาการที่เกิดขึ้นและประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง 
 


อาการปวดระดูแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ 

 

  1. การปวดระดูชนิดปฐมภูมิ (primary dysmenorrhea) เป็นการปวดระดูที่ไม่มีรอยโรคในอุ้งเชิงกราน สาเหตุของการปวดเกิดจากมีการผลิตสาร prostaglandin มีผลทำให้เกิดการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อย
  2. การปวดระดูชนิดทุติยภูมิ (secondary dysmenorrhea) เป็นการปวดระดูที่มีรอยโรคในอุ้งเชิงกราน ซึ่งความรุนแรงขึ้นอยู่กับชนิดและตำแหน่งของรอยโรคนั้นๆ การปวดชนิดนี้พบได้บ่อยและมักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ระดูมามาก, มีบุตรยาก, เจ็บขณะร่วมเพศ, หรือ มีการอักเสบติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานบ่อยๆ เป็นต้น นอกจากนี้แล้วผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการปวดภายหลังจากการมีประเดือนไปแล้วหลายๆ ปี ส่วนใหญ่อยู่ในช่วยอายุ 25 -30 ปี ยกเว้นผู้ป่วยที่เป็นโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่บางรายที่เริ่มมีอาการปวดตั้งแต่เริ่มมีระดู หรือภายหลังจากมีระดูครั้งแรกเล็กน้อย

 

 

 

ปวดระดูมีสาเหตุจากอะไร ? 


สาเหตุมีได้มากมาย เช่น เนื้องอกมดลูก ช็อคโกแลตซีสต์ หรือเยื่อบุมดลูกผิดที่ การมีพังผืดในช่องท้อง ความพิการแต่กำเนิดของระบบอวัยวะสืบพันธ์ รวมทั้งการอักเสบติดเชื้อเรื้อรังในอุ้งเชิงกราน ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำและตรวจวินิจฉัย เพื่อให้ทราบสาเหตุที่แท้จริงและให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ 
 


ปวดระดูตรวจวินิจฉัยอย่างไร ? 


แพทย์จะทำการซักถามอาการของผู้ป่วยตรวจร่างกายอย่างละเอียด รวมทั้งการตรวจภายในสำหรับผู้ป่วยบางรายนอกจากนี้อาจต้องมีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่น การตรวจอัลตราซาวน์เพื่อค้นหาพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกรานอย่างละเอียด หรือในบางกรณีที่จำเป็น อาจต้องตรวจโดยการส่องกล้อง Laparoscope ตรวจเพื่อหาสาเหตุของการปวดท้องประจำเดือน, ตรวจดูความผิดปกติในอุ้งเชิงกรายนและประโยชน์ของการส่องกล้อง คือ สามารถตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคทางนรีเวชได้

 

 

ปวดระดูรักษาอย่างไร ? 

 

  1. การให้ความรู้แก่สตรีในวัยเจริญพันธ์ เกี่ยวกับอาการของการปวดระดู 

  2. การรักษาทั่วไป
    - การนอนพักผ่อนให้เพียงพอเมื่อมีอาการปวดท้องน้อย
    - ใช้กระเป๋าน้ำอุ่นประคบบริเวณท้องน้อย
    - ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
    - หากมีอาการปวดมากควรปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาให้การตรวจรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย 

  3. การรักษาเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการปวดระดูชนิดปฐมภูมิ ส่วนใหญ่แล้วมักจะสามารถรักษาได้โดยใช้ยาแก้ปวดที่ออกฤทธิ์ลดสารเคมีที่ทำให้มีการบีบรัดตัวของมดลูกหรือการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ส่วนอาการปวดระดูชนิดทุติยภูมิ แพทย์จะให้การรักษาโดยพิจารณาตามลักษณะและความรุนแรงของรอยโรคที่ตรวจพบขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละท่าน

 

 

อาการปวดระดูหรือปวดท้องเวลามีประจำเดือน หากมีอาการปวดมากควรปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาให้การตรวจรักษาที่เหมาะสม

 

 

 

 

แก้ไข

20/06/2566