จิตแพทย์แนะ!! ความเครียด VS โควิด-19

January 30 / 2024

 

 

 

จิตแพทย์แนะ!! ความเครียด VS โควิด-19

 

 

นพ.สุชาติ ตรีทิพย์ธิคุณ

จิตแพทย์

 

 

นับตั้งแต่ปลายปี 2019 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โควิด-19 เป็นโรคคระบาดที่ได้คร่าชีวิตผู้คนในโลกไปแล้วกว่า 3.71 ล้านคน จากผู้ติดเชื้อรวม 173 ล้านคน สำหรับประเทศไทย มีเสียชีวิตรวม 1,213 คน จากผู้ติดเชื้อรวม 1.75 แสนคน (7 มิถุนายน 2021) 

 

ย้อนหลังไปเมื่อต้นปี 2020 ในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระยะแรกๆ ซึ่งเริ่มส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนไทยจำนวนมาก ผู้คนเริ่มคาดหวังถึงเรื่องวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กันโดยถ้วนหน้าและต้องการได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด

 

ในที่สุดวัคซีนต้านโรคโควิด-19 เข็มแรกของโลกผลิตโดยบริษัท Pfizer ได้รับการฉีดให้กับ มาร์กาเรต คีแนน หญิงชาวอังกฤษวัย 90 ปี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2020

 

หลังจากนั้นได้มีประชาชนในประเทศต่างๆ ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น ต่อมาเริ่มปรากฎรายงานข่าวเกี่ยวกับผู้ที่แพ้วัคซีนโควิด-19 ชนิดรุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความสงสัย ไม่แน่ใจ ขาดความเชื่อถือ และปฎิเสธที่จะฉีดวัคซีนโควิด-19 ดังเช่นที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง, ไต้หวัน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเทศไทย จนรัฐบาลในหลายประเทศต้องออกมาตราการต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนยอมมารับการฉีดวัคซีนโควิด-19

 

 

ฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ฉีด ดีกว่ากัน?

 

เนื่องจากขณะนี้เกิดความวิตกในหมู่คนไทยในวงกว้าง โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ                                         

กลุ่มที่ 1 : อยากฉีดวัคซีนโควิด-19

เกิดกระแสเรียกร้องกดดันไปยังรัฐบาลให้รีบเร่งหาวัคซีนโควิด-19 หลากหลายยี่ห้อในปริมาณที่มากพอ และในเวลาอันรวดเร็วต่อเนื่องกันมาในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

 

กลุ่มที่ 2 : ไม่อยากฉีดวัคซีนโควิด-19

ทั้งนี้เกิดจากความวิตกกังวลอย่างสูงว่าจะเกิดอาการแพ้วัคซีนโควิด-19 จนถึงขั้นเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิต อันเป็นผลมาจากการทำเสนอข่าวกรณีนี้อย่างต่อเนื่อง โดยที่หลายรายไม่มีการชี้แจงถึงสาเหตุที่แท้จริงอย่างชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

กลุ่มที่ 3 : เลือกฉีดวัคซีนโควิด-19

อยากฉีดแต่ต้องการเลือกประเภทและยี่ห้อของวัคซีนโควิด-19

 

 

เนื่องจากมีข้อแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านผ่านสื่อยูทูปจำนวนมากในหัวข้อ “จะฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ฉีดดีกว่ากัน” จึงขอทำมาเสนอเป็นช่องทางให้ผู้อ่านบทความนี้ไปศึกษาเพิ่มเติม เพื่อประกอบการตัดสินของท่านต่อไป

  1. ฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ฉีดดี - DR.V Channel
  2. ใครบ้างไม่ควรฉีดวัคซีนโควิด-19 และการเตรียมตัวไปฉีดวัคซีนโควิด-19 - DR.V Channel
  3. คนที่เลือกจะไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่สามารถฉีดได้ควรปฏิบัติตัวอย่างไร – Doctor Tony
  4. วัคซีนโควิด-19 ตัวไหนดีที่สุด – Doctor Tony
  5. แนวทางเตรียมตัวก่อนและหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 – นพ.วินัย โบเวจา
  6. วัคซีนโควิด-19 (สิ่งที่คุณต้องรู้) – นพ.วินัย โบเวจา
  7. ก่อนรับและหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 24 ชั่วโมง ผมแนะนำแบบนี้เลย – Dr.Nat Nutrition
  8. ทำไมต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 – Podcast The Standard

 

 

ผู้ป่วยจิตเวชฉีดวัคซีนโควิด-19ได้หรือไม่?

 

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็น จิตแพทย์ มีข้อแนะนำดังต่อไปนี้

  1. ผู้ป่วยจิตเวชที่กำลังมีอาการรุนแรง ควรได้รับการรักษาจนกระทั่งอาการสงบ และผู้ป่วยสามารถควบคุมความคิดอารมณ์ และพฤติกรรมตนเองได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยในกลุ่มต่อไปนี้
    • โรคจิตเภทชนิดหวาดระแวง
    • โรคอารมณ์สองขั้ว ทั้งขั้วซึมเศร้า และขั้วสนุกสนาน, คึกคัก, ก้าวร้าว
    • โรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง (มีความคิดฆ่าตัวตายตลอดเวลา)
    • โรคแพนิค ที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ดีนัก
    • โรคสมาธิสั้น
    • เครียด, วิตกกังวลสูง
    • อื่นๆ (ให้ปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อน)
  2. ยาจิตเวช กลุ่ม ต้านเศร้า ได้แก่
    • Amitriptyline
    • ยากลุ่ม SSRI ได้แก่ fluoxetine, sertraline เป็นต้น
    • อื่นๆ (ปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อน) ยากลุ่มนี้ควรหยุดรับประทาน 1 วัน ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 และอีก 1 วันหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 (รวม 2 วันติดต่อกัน)
  3. โรคและยาที่ผู้ป่วยไม่แน่ใจ, ไม่ทราบ ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
  4. ควรพักผ่อนร่างกายให้เพียงพอในคืนก่อนที่จะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยควรนอนหลับ 7-8 ชั่วโมง
  5. สำหรับผู้ป่วยที่นอนตื่นสาย เช่น ระหว่าง 9-12 น. ควรนัดหมายกับเจ้าหน้าที่ในช่วงบ่าย
  6. กรณีนอกเหนือจากนี้ให้ปรึกษาแพทย์ผู้รักษาประจำ หรือโทรปรึกษาเจ้าหน้าที่ของหน่วยงายที่จะไปรับการฉีดวัคซีนโควิด-19

 

 

เรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องรู้ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19

 

ผู้ที่รับการฉีดวัคซีนโควิด-19บางรายอาจมีกลุ่มอาการอย่างหนึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งก่อนและหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งจะมีอาการดังต่อไปนี้

  • เหงื่อออก
  • หัวใจเต้นช้าลง
  • หน้ามืด หน้าซีด
  • วิงเวียนอย่างมากจนถึงขั้นหมดสติ

กลุ่มอาการนี้ทางการแพทย์เรียกว่า Vaso-Vagal Syncope (common fainting = เป็นลม) สาเหตุเกิดจากความเครียดอย่างรุนแรง เช่น ขณะนั่งรอรับการฉีดวัคซีนเหลือบไปเห็นเข็มฉีดยา ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนเองหวาดกลัวมาก่อน ได้ยินคนข้างๆ พูดคุยเกี่ยวกับอาการแพ้ยาขั้นรุนแรง แล้วทำให้เกิดอาการหวาดกลัวสุดขีด ทำให้สมองถูกกระตุ้นอย่างแรง ส่งผลให้ระบบประสาทอัตโนมัติประเภท parasympathetic ทำงานมากกว่าระบบ sympathetic จึงทำให้หัวใจเต้นช้าลง หลอดเลือดขยายตัวทั่วร่างกาย เลือดไปเลี้ยงสมองลดลงเฉียบพลัน รวมทั้ง แขน – ขาด้วย ทำให้อ่อนแรง และหมดสติ ซึ่งโดยทั่วไปอาการจะเกิดเพียงไม่กี่วินาที หรืออย่างมากไม่เกิน 2 นาที หลังจากนั้นผู้ป่วยก็จะฟื้นคืนสติได้เอง การปฐมพยาบาลหลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของบุคลากรสาธารณสุขในที่แห่งนั่น

 

 

ข้อคิดเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19

 

  • การตัดสินใจที่จะฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่เป็นสิทธิส่วนบุคคล
  • ทุกคนต้องรับผิดชอบการติดสินใจของตนเอง โดยการยอมรับถึงผลที่จะตามมา
  • การควบคุมโรคระบาดด้วยการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะได้ผลต่อเมื่อสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดขึ้นกับประชากรตั้งแต่ 70% ขึ้นไป จึงถือว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะร่วมมือกันทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น เพื่อประโยชน์ของทุกๆ คน
  • สำหรับผู้ที่ตัดสินใจจะไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ขอให้คำนึงถึงโอกาสที่ท่านอาจจะติดเชื้อจากลูกหลานของท่านที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน พวกเขาอาจจะนำเชื้อโควิด-19 มาถึงท่านได้ทุกวัน ถึงแม้พวกเขาจะฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วก็ตาม เพราะวัคซีนโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดก็ยังไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคโควิด-19 ได้ 100% ดังที่ปรากฏเป็นข่าวมาบ้างแล้วว่า มีผู้สูงอายุ ติดเชื้อโควิด-19และเสียชีวิตที่บ้าน ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ได้ออกจากบ้านมาหลายเดือนติดต่อกัน แต่มีสมาชิกครอบครัวที่ต้องออกจากบ้านไปทำงานทุกวันแล้วติดเชื้อมาจากภายนอก โดยที่ไม่แสดงอาการในช่วงแรกๆ (เป็นพาหะของโรค) หรือเริ่มมีอาการบ้างแล้ว แต่อาจคิดว่าตนเองเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา ทั้งที่ความจริงพวกเขาติดเชื้อโควิด-19และอยู่ในระยะแพร่เชื้อได้อย่างง่ายดายแล้ว
  • หากท่านไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19 สักวันหนึ่งในอนาคตท่านอาจมีเหตุจำเป็นต้องออกนอกบ้าน บังเอิญโชคร้ายติดเชื้อโควิด-19ทั้งที่ป้องกันตัวเองเต็มที่แล้วก็ตาม เมื่อถึงวันนั้นโรงพยาบาลต่างๆ ไม่มีเตียงว่าง ท่านจำเป็นต้องไปอยู่โรงพยาบาลสนาม กรณีนี้ท่านต้องถามตนเองว่าอยากไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามหรือไม่
  • ไม่มีวัคซีนโควิด-19 ตัวไหนสามารถป้องกันโรคเข้าสู่ร่างกายของท่านได้ (นอกจากการสวมหน้ากากอนามัย, ล้างมือบ่อยๆ, รักษาระยะห่างทางสังคม, ไม่ไปอยู่ในพื้นที่ชุมชนที่แคบ และไม่มีการระบายอากาศดีพอ) สิ่งที่วัคซีนโควิด-19ทำได้คือ สร้างภูมิคุ้มกันในตัวท่านให้สูงขึ้นเพียงพอที่จะต่อสู้กับเชื้อไวรัสโควิด-19ได้
  • ไวรัสโควิด-19 (เช่นเดียวกับไวรัสไข้หวัดใหญ่) จะมีการกลายพันธุ์ได้ตลอดเวลา ดังนั้น มีความเป็นไปได้อย่างมากว่ามนุษยชาติอาจต้องได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ป้องกันทุกๆ ปี เช่นเดียวกับ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (เว้นแต่ว่าท่านเต็มใจยอมรับความเสี่ยงเอง)

 

 

ทำอย่างไรไม่ให้เครียด?

 

  1. เสพข่าวด้วยสติและปัญญาแยกแยะข่าวจริงออกจากข่าวปลอม ด้วยการติดตามฟังข่าวจากหน่วยงานทางวิชาการที่น่าเชื่อถือ เช่น โรงเรียนแพทย์ต่างๆ โดยต้องนำมาเปรียบเทียบกันอย่างเพียงพอ
  2. เปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย จากการฉีดวัคซีนโควิด-19และไม่ฉีดวัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นความเสี่ยงระหว่างการแพ้ยา อาการข้างเคียงที่รุนแรง กับความเจ็บป่วย เสียชีวิต รวมทั้งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิตปกติ
  3. หากท่านเป็นคนขวัญอ่อน วิตกกังวลสูง เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ขอแนะนำให้ท่านหยุดเสพข่าวชั่วคราวจนกว่าจะพร้อมยอมรับความจริงในทุกกรณี

 

แม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว แต่ยังต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ เพื่อเป็นการป้องกันโรคโควิด-19 ในระยะยาว

 

นัดพบแพทย์คลิก

นพ.สุชาติ ตรีทิพย์ธิคุณ

จิตแพทย์

 

 

22/6/64