การติดเชื้อ HPV กับการเกิดมะเร็งปากมดลูก

November 28 / 2022

 

 

การติดเชื้อ HPV กับการเกิดมะเร็งปากมดลูก

 

 

จริงหรือไม่ที่เราสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก 


มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับสองของมะเร็งในสตรีทั่วโลก แต่ในประเทศไทยมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของสตรีไทยและพบมากในช่วงอายุ 35 ถึง 60 ปี โดยพบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่มากกว่า 6,000 รายต่อปี หรือประมาณ 20 รายต่อสตรี 100,000 คนต่อปี และมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 2,600 รายต่อปี มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้โดยที่แพทย์สามารถตรวจคัดกรองหาความผิดปกติได้ตั้งแต่ “ระยะก่อนเป็นมะเร็ง” ซึ่งผู้ป่วยยังไม่แสดงอาการ

 

 

 

HPV เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก 


ปัจจุบันมีข้อมูลจำนวนมากพอจนสรุปได้ว่า เชื้อฮิวแมนแพปพิลโลมาไวรัส หรือ เอชพีวี (Human Papillomavirus หรือ HPV) เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูกโดยพบเชื้อนี้จากผลการตรวจชิ้นเนื้อของมะเร็งปากมดลูกเกือบทุกรายที่เป็นมะเร็ง (ร้อยละ 99.7) ไวรัสชนิดนี้ติดได้ทางเพศสัมพันธ์ และเป็นไวรัสชนิดเดียวกันกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ที่อวัยวะสืบพันธุ์ เชื้อ HPV ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในอวัยวะสืบพันธุ์มีมากกว่า 200 สายพันธุ์พบว่าสายพันธุ์ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงจำนวน 13 สายพันธุ์ จะก่อให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกและอาจจะกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกในที่สุด ส่วนสายพันธุ์ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำอาจทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ที่อวัยวะสืบพันธุ์เท่านั้น

 

 

มะเร็งปากมดลูกตรวจหาอย่างไร ? 

 

การตรวจคัดกรองหาเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูกหรือที่เรียกว่า “แพปเสมียร์” ได้รับการยอมรับกันทั่วโลกว่าสามารถลดอัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ อย่างไรก็ดีการตรวจคัดกรองด้วยวิธีแพปเสมียร์ดั้งเดิม หรือ วิธีลิควิคเบส (Liquid-based Cytology) เช่นวิธีตินเพร็พ,วิธีลิควิคเพร็พ ยังมีปัญหาในเรื่องความไวในการวินิจฉัยโรค ทำให้มีผลลบปลอมค่อนข้างสูง (หมายถึงมีเซลล์ผิดปกติอยู่ที่ปากมดลูก แต่ตรวจไม่พบโดยวิธีดังกล่าว) ทำให้การตรวจครั้งนั้นผิดพลาด ส่งผลทำให้คนไข้ที่เป็นมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกไม่ได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ

 

 

 

เทคนิคใหม่ในการตรวจหา HPV DNA 

 

การตรวจหาตัวเชื้อเอชพีวีโดยตรง หรือที่เรียกว่า HPV DNA เป็นเทคนิคการตรวจทางด้านชีวโมเลกุลที่ให้ความไวในการตรวจที่สูง (ร้อยละ 90) นั่นคือสามารถตรวจพบเชื้อได้ตั้งแต่ในระยะแรกๆ ที่มีการติดเชื้อ เมื่อเทียบกับการตรวจ “แพปเสมียร์” เทคนิคนี้จะตรวจหาเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกและพบว่าการตรวจหาเชื้อเอชพีวีร่ามกับการตรวจแพปเสมียร์จะมีความไวสูงในการวินิจฉัยความผิดปกติของปากมดลูกหรือกล่าวคือแทบไม่มีผลลดลงจากการตรวจเลย มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่ป้องกันได้ การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูกจนกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก ต้องใช้ระยะเวลาเป็นปีๆ ร่วมกับการดูแลรักษาจึงเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกแม้ผู้รับการตรวจจะมีเชื้อ HPV อยู่ภายในช่องคลอดหรือปากมดลูก แต่ถ้าสามารถดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนเพียงพอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่-ดื่มสุรา มีสุขภาพจิตที่ดีก็จะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันเพียงพอที่จะจัดการกำจัดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่ออกจากร่างกายได้ด้วยตนเอง

 

 

ใครบ้างที่ควรจะตรวจหาเชื้อ HPV ร่วมกับการตรวจ “แพปเสมียร์” 


สมาคมโรคมะเร็งและองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาได้แนะนำให้ตรวจหาเชื้อ HPV ร่วมกับแพปเสมียร์ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสตรีที่มีอายุ 30 ปี ขึ้นไป โดยถ้าผลการตรวจเป็นปกติก็สามารถเว้นระยะการตรวจได้ทุกๆ 3 ปี หากผลการตรวจทั้ง 2 วิธี ไม่สอดคล้องกันเช่น ผลการตรวจ HPV ให้ผลบวก แต่ไม่พบเซลล์ผิดปกติจากการตรวจแพปเสมียร์ แพทย์จะนัดให้ผู้ป่วยมาทำการตรวจยืนยันทั้ง 2 วิธีทุกๆ 6 ถึง 12 เดือน 

 

 

สามารถตรวจหา HPV DNA ได้ที่ไหน ? 

 


ท่านสามารถมารับบริการตรวจหาเชื้อ HPV ด้วยวิธี PCR (Polymerase Chain Reaction) โดยปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางสูติ-นรีเวช ที่คลินิกสูตินรีเวช โรงพยาบาลรามคำแหง

 

 

การเก็บตัวอย่าง และส่งตรวจหาเชื้อ HPV ทำอย่างไร ?

 


แพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างจากบริเวณปากมดลูกพร้อมในขั้นตอนเดียวกับการตรวจแพปเสมียร์และการตรวจภายในส่งตัวอย่างไปตรวจพิเศษที่ห้องปฏิบัติการทราบผลภายใน 7 วัน

 

 

 

 

 

 

มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้โดยที่แพทย์สามารถตรวจคัดกรองหาความผิดปกติได้ตั้งแต่ “ระยะก่อนเป็นมะเร็ง” ซึ่งผู้ป่วยยังไม่แสดงอาการ

 

 

 

 

แก้ไข 25/08/64