ยาคุมกำเนิด และการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ

April 04 / 2024

 

 

ยาคุมกำเนิด วัคซีนโควิด

และการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ

 

พญ. ศรีสุภา เลาห์ภากรณ์

สูติ - นรีเวช ผู้เชี่ยวชาญมะเร็งวิทยานรีเวช
และการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

 

 

ประเด็นข้อสงสัยคือ

  1. ยาคุมเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันไหม?
  2. วัคซีนทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันไหม?
  3. ทานยาคุมแล้วฉีดวัคซีนจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดดำอุดตันไหม จะทำอย่างไร?

 

ขอตอบตามหลักฐานทางวิชาการที่มีอยู่ตอนนี้ ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ถ้ามีข้อมูลใหม่เพิ่มเติม

ยาคุมเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันไหม?

อันดับแรกมาทำความรู้จักกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous Thromboembolism: VTE) คือ ภาวะที่มีลิ่มเลือดเกิดในหลอดเลือดดำ อาจเป็นเส้นเลือดระดับตื้น (superficial vein) หรือระดับลึก (deep vein)

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein Thrombosis: DVT) คือ ภาวะที่มีลิ่มเลือดก่อตัวที่หลอดเลือดดำส่วนลึกในร่างกายโดยอาจเกิดขึ้นที่ตำแหน่งเดียวหรือหลายตำแหน่ง มักเกิดที่ขา ถ้าเฉียบพลันมีอาการขาบวม แดงและปวด จัดเป็นภาวะที่อันตรายเนื่องจากลิ่มเลือดที่อุดกั้นอาจหลุดไปตามกระแสเลือดและไปอุดตันบริเวณหลอดเลือดดำในปอด (pulmonary embolism: PE) ได้ ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูง

 

ภาพแสดงการลิ่มเลือดดำส่วนลึกที่ขาและมีการไหลเวียนไปอุดตันที่ปอด

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.chelwest.nhs.uk/your-visit/patient-leaflets/support-services/are-you-at-risk-of-blood-clots-dvt-deep-vein-thrombosis-and-pe-pulmonary-embolism

 

ยาคุมในที่จะกล่าวถึงคือยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมชนิดทานซึ่งประกอบด้วย เอสโตรเจน (estrogen) และโปรเจสติน (progestin) ให้ดูที่กล่องยาหรือแผงยาที่เราทาน แบ่งตามระดับเอสโตรเจน ซึ่งระดับเอสโตรเจนสูง (≥ 50ไมโครกรัม)มีผลต่อความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดอุดตันมากกว่าระดับยาระดับเอสโตรเจนต่ำ (≤ 35ไมโครกรัม)) โดยกลไกที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นและลดลงของปัจจัยการแข็งตัวของเลือด

ส่วนโปรเจสตินแบ่งได้อีกเป็น4รุ่นแต่ละรุ่นที่นำมาใช้ในยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีเอสโตรเจนก็ส่งผลต่อความเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตันต่างกัน

ยาคุมชนิดอื่นๆ ที่ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างเดียว เช่นยาคุมฮอร์โมนเดี่ยวชนิดทาน (mini pill, ที่ใช้ในสตรีหลังคลอดได้แก่ exluton หรือ cerazett) แบบฉีดเข้ากล้าม (DMPA) แบบฝังใต้ท้องแขน (implanon แบบ1หลอดหรือ 2หลอด) แบบห่วงที่มีฮอร์โมน (mirena) จากข้อมูลพบว่ามีความเสี่ยงน้อยหรือไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดดำอุดตัน

ส่วนยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมแบบแผ่นแปะ (patch) หรือห่วงวงกลม (ring) ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน(VTE)ต่างจากยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมทาน (COC) คือมีความเสี่ยงภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ เทียบเคียงยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม

สรุปจากข้อมูลในปัจจุบันพบว่า ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดดำอุดตัน 3-9 รายต่อ 10,000 ราย เทียบกับสตรีที่ไม่ได้ทานยาคุมและไม่ตั้งครรภ์ 1-5 รายต่อ10,000 ราย (ACOG committee opinion No.540 November2012) หรือประมาณ 2-5เท่า ขึ้นกับปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนและชนิดโปรเจสโตเจนในยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมและความเสี่ยงจะสูงในช่วงเดือนแรกของการเริ่มรับประทานยา

ส่วนในสตรีตั้งครรภ์และหลังคลอด12สัปดาห์ มีความเสี่ยงสูง 12เท่า (48-60/10,000) ซึ่งสูงกว่าการทานยาคุมกำเนิดฮอร์โมนรวมมาก

ตารางแสดงความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดดำอุดตันในหลอดเลือดดำโดยแบ่งตามปริมาณเอสโตรเจนและชนิดโปรเจสติน ในยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทานยาคุม (The relative risk of venous thromboembolism in current users of different types of hormonal contraception according to estrogen dose, progestin type and route of administration. Nonusers reference group)1

 ขอบคุณรูปภาพจาก : Lidegaard, Øjvind. (2014). Hormonal contraception, thrombosis and age. Expert opinion on drug safety. 13. 1353-60.

 

ส่วนยา visanne ที่มีส่วนประกอบเป็นฮอร์โมนโปรเจสโตเจนตัวเดียวคือdinogest 2mg ที่ใช้รักษาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลชัดเจนต่อความเสี่ยงต่อลิ่มเลือดดำอุดตัน

แต่อย่ากังวลเรื่องยาคุมฮอร์โมนรวมกับการเกิดลิ่มเลือดดำอุดตัน (venous thromboembolism) เพราะยังมีประโยชน์ในหลายด้าน นอกเหนือการคุมกำเนิด เช่นนำมาใช้รักษาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis) อาการปวดท้องประจำเดือน (dysmenorrhea) ประจำเดือนออกมาก (hypermenorrhea) ออกผิดปกติหรือจากภาวะถุงน้ำในรังไข่ (PCOS) รักษาภาวะฮอร์โมนเพศชายเกินเช่น สิว ขนดก หน้ามัน รวมทั้งช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งรังไข่ และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

ดังนั้นการทานยาคุมเพื่อคุมกำเนิดและเพื่อการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม ติดตามอาการสม่ำเสมอจะปลอดภัยจากผลข้างเคียงได้ แพทย์หรือเภสัชจะให้คำแนะนำประเมินความเสี่ยงอื่นๆ รวมทั้งโรคประจำตัว ข้อห้ามในการทานก่อนเริ่มยาคุม

สตรีที่ทานยาคุมควรหมั่นดูแลและตรวจสุขภาพสังเกตอาการ ผลข้างเคียงและลดความเสี่ยงอื่นๆ ที่จะเพิ่มการเกิดภาวะลิ่มเลือดดำอุดตันเช่น ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน งดบุหรี่ เป็นต้น

 

ภาพแสดงสาเหตุและความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก

(Causes and Risk Factors of Deep Vein Thrombosis)2

ขอบคุณรูปภาพจาก : By Dawn Stacey, PhD, LMHC  Medically reviewed by Scott Sundick, MD on March 03, 202

 

วัคซีนทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันไหม?

มีรายงานการเกิดภาวะหลอดเลือดดำอุดตันที่สมอง cerebral venous sinus thrombosis (CVST) ซึ่งเกิดพร้อมกับเกล็ดเลือดต่ำ (thrombocytopenia) หรือภาวะ vaccine-induced prothrombotic immune thrombocytopenia (VIPIT) หลังจากได้รับวัคซีน AstraZeneca จากข้อมูลถึงเดือนมีนาคม2021 พบรายงานการเกิดลิ่มเลือดอุดตันจากการฉีดวัคซีน AstraZeneca ในสหราชอาณาจักร 79 รายและมักพบบ่อยในผู้หญิงอายุน้อยกว่า 55 ปี เกิดขึ้นในช่วง 4-20 วันหลังฉีดวัคซีน (younger women) โดยพบภาวะลิ่มเลือดอุดดำตันในคนที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca 1 ต่อ 250,000 ในขณะที่พบรายงานการเกิดลิ่มเลือดอุดตันจากการทานยาคุม 1 รายต่อสตรี 1,000 รายในแต่ละปี โดยที่ขบวนการเกิดลิ่มเลือดอุดตันต่างกัน จะเห็นว่าการเกิดลิ่มเลือดอุดตันจากวัคซีนพบน้อยกว่าการทานยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม

จากข้อมูลดังกล่าวทาง MHRA (Medicines & Healthcare products Regulatory Agency) พบว่ายังมีความปลอดภัยและมีประโยชน์มากในการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด ส่วนผลข้างเคียงที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันกับเกล็ดเลือดต่ำซึ่งพบน้อยยังคงต้องติดตามการศึกษาต่อไป

คำแนะนำสำหรับสังเกตอาการหลังได้วัคซีน 4 วันถ้ามีอาการดังต่อไปนี้ให้รีบมาพบแพทย์ทันที

  • ปวดศีรษะมาก ทานยาแก้ปวดไม่ดีขึ้น รู้สึกอาการแย่ลงถ้าอยู่ในท่านอนหรือโค้งงอตัว
  • ปวดศีรษะที่มีอาการตามัว สับสน พูดติดขัดไม่ชัด อ่อนแรง ง่วงซึม หรือชัก
  • ผื่นขึ้นเป็นจ้ำเลือด หรือตำแหน่งที่ฉีดวัคซีนมีเลือดออก
  • หายใจเหนื่อย เจ็บหน้าอก ขาบวม หรือปวดแน่นท้องท้องไม่หาย

 

 

ทานยาคุมแล้วฉีดวัคซีนจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันไหมแล้วจะต้องหยุดทานไหม?

ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกันชัดเจน และกลไกการเกิดลิ่มเลือดอุดตันจากยาคุมฮอร์โมนรวมกับการฉีดวัคซีนต่างกัน ในสตรีตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดดำอุดตันมากกว่าการทานยาคุมมีคำแนะนำในการฉีดวัคซีนเช่นกัน คำแนะนำตามเอกสารอ้างอิง6-9

 

จากข้อมูลปัจจุบันผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนทุกชนิดสามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ โดยไม่จำเป็นต้องหยุดยาเนื่องจาก ยังไม่พบเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันแต่อย่างใด และสตรีตั้งครรภ์หลัง 12 สัปดาห์ หรือช่วงหลังคลอดให้นมบุตรสามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้เช่นกันโดยพิจารณาตามความเสี่ยง และโรคประจำตัว

 

ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนทุกชนิดสามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ โดยไม่จำเป็นต้องหยุดยาเนื่องจาก ยังไม่พบเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันแต่อย่างใด

 

นัดพบแพทย์คลิก

พญ. ศรีสุภา เลาห์ภากรณ์

สูติ - นรีเวช ผู้เชี่ยวชาญมะเร็งวิทยานรีเวช
และการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

 

เอกสารอ้างอิง

1. Lidegaard, Øjvind. (2014). Hormonal contraception, thrombosis and age. Expert opinion on drug safety. 13. 1353-60.

2.อ้างอิงBy Dawn Stacey, PhD, LMHC  Medically reviewed by Scott Sundick, MD on March 03, 202

3. Medicines and healthcare products regulatory agency. Coronavirus vaccine – weekly summary of yellow card reporting[Internet].  [place unknown]: GOV.UK. 2021 May 27.

Available from: https://www.gov.uk/government/publications/coronavirus-covid-19-vaccine-adverse-reactions/coronavirus-vaccine-summary-of-yellow-card-reporting

4. Medicines and healthcare products regulatory agency. MHRA issues new advice, concluding a possible link between COVID-19 Vaccine AstraZeneca and extremely rare, unlikely to occur blood clots[Internet].  [place unknown]: GOV.UK. 2021 Apr 7.

https://www.gov.uk/government/news/mhra-issues-new-advice-concluding-a-possible-link-between-covid-19-vaccine-astrazeneca-and-extremely-rare-unlikely-to-occur-blood-clots

5. Taylor Adam. Blood clot risks: comparing the AstraZeneca vaccine and the contraceptive pill [Internet]. Australia: The conversation; 2021 Apr 10 [updated 2021Apr 12].

Available from: https://theconversation.com/blood-clot-risks-comparing-the-astrazeneca-vaccine-and-the-contraceptive-pill-158652

6. ประกาศราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยที่07/2564 เรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิท-19 และการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน

7.ประกาศราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยที่06/2564 เรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิท-19ในสตรีตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

8. กรมควบคุมโรค และคณะผู้เชี่ยวชาญเหตุการณ์ไม่พึงปรสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน ฉบับที่ 31 พฤษภาคม 2564 เรื่องภาวการณ์เกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอดกับวัคซีนโควิด19

9. กรมอนามัย และคณะกรรมการอนามัยแม่และเด็กแห่งชาติ เรื่องหญิงท้อง-หญิงให้นมลูกฉีดวัคซีนโควิดได้ พิจารณาตามความเสี่ยง มีโรคประจำตัว 29พฤษภาคม 2564

 

9/6/64

 

 

 

 

 

 

Premium Health package ผู้หญิง

ถึงเวลาดูแลสุขภาพอย่างใส่ใจ เราพร้อมดูแลคุณอย่างอบอุ่น

ราคา 3,990 บาท

โปรแกรมตรวจสุขภาพ Platinum plus Check up สุภาพสตรี

เพราะร่างกายผู้หญิงซับซ้อนมากกว่าที่คิด ตรวจสุขภาพดูแลป้องกันก่อนที่จะสายเกินไป เพื่อให้คุณใช้ชีวิตได้แบบที่ต้องการ

ราคา 59,990 บาท

โปรแกรมตรวจสุขภาพ Platinum Check up สำหรับกลุ่มสุภาพบุรุษ

เตรียมสุขภาพให้พร้อมสำหรับอนาคต ป้องกันความเสี่ยงจากโรคร้ายแรง

ราคา 30,990 บาท

บัตรกำนัลเงินสด Ramkhamhaeng Gift Card

"แทนความห่วงใย" & "ของขวัญเยี่ยมไข้" มอบสุขภาพดีเป็นของขวัญสุดพิเศษ ด้วยบัตรกำนัลเงินสด Ramkhamhaeng Gift Card

ราคา 1,000 บาท

แพ็กเกจฝึกแก้ไขเรื่องการพูด ในเด็กทีพบความผิดปกติทางภาษา

บำบัดรักษาแก้ไขและฟื้นฟูสมรรถภาพ ในเด็กทีมีความผิดปกติทางภาษาและการพูด

ราคา 800 บาท

คุณจะมีความสุขแค่ไหน ? ถ้าหลังจากนี้ไม่ต้องใส่แพมเพิสแล้ว

คุณจะมีความสุขแค่ไหน?.. ถ้าไม่ต้องใส่แพมเพิส

ราคา 10,000 บาท