s บทความสุขภาพโรงพยาบาลรามคำแหง - ทำอย่างไรเมื่อลูกชักจากไข้

บทความสุขภาพโรงพยาบาลรามคำแหง - ทำอย่างไรเมื่อลูกชักจากไข้

February 22 / 2024

 

 

ทำอย่างไรเมื่อลูกชักจากไข้

 

 

 

ทำอย่างไรเมื่อลูกชักจากไข้ ?


ท่านที่เคยมีประสบการณ์เมื่อลูกชักคงจะเข้าใจถึงความรู้สึกอันแสนทารุณนี้เป็นอย่างดีเมื่อเห็นลูกมีอาการชักกระตุก ปากเบี้ยว ส่วนใหญ่แล้วจะรีบเอาสิ่งของงัดปาก หรือ ใช้นิ้วมือสอดเข้าไปในปาก เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกกัดลิ้นแม้ตัวเองจะถูกกัดบ้างก็ยอม เพราะความตกใจอย่างฉับพลัน หัวใจเหมือนจะหยุดเต้นทำอะไรไม่ถูก เพราะบางคนจะมีอาการเขียวทั้งตัวราวกับว่าจะหยุดหายใจ
 


 

หมอมีคำแนะนำให้ปฎิบัติเมื่อลูกมีไข้แล้วชักดังนี้ 

 

  • อย่าตกใจจนเกินไป ควรตั้งสติให้มั่น
  • จับลูกนอนตะแคง หันศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันการสำลักและเพื่อไม่ให้ลิ้นตกไปอุดทางเดินหายใจ หากลูกกำลังเคี้ยวอะไรอยู่ในปากให้ใช้นิ้วมือล้วงออกมาให้หมด
  • คลายเสื้อผ้าให้หลวม เพื่อให้ลูกหายใจได้สะดวก
  • ห้ามงัดปากขณะกำลังชัก
  • ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเช็ดตัวจนไข้ลดลง



 

 

ทำไมเมื่อลูกมีไข้แล้วจึงเกิดอาการชัก ? 


สมองของเด็กเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน แม้เมื่อเด็กเกิดมาแล้ว เซลล์ประสาทสมอง และเยื่อหุ้มเส้นประสาทก็ยังต้องเจริญเติบโตต่อไปอีกเรื่อยๆ จนอายุประมาณ 6 ปี สมองจึงจะเจริญเติบโตเต็มที่ เซลล์ประสาทสมองของเด็กเล็กในห้วการพัฒนาดังกล่าวจึงไวต่อการถูกกระตุ้น การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิร่างกายอย่างรวดเร็วอาจ ทำให้เกิดการชักได้ในเด็กบางคนนอกจากนั้นการชักจากไข้ในเด็กนี้ มีปัจจัยทางด้านพันธุกรรมมาเกี่ยวข้องด้วย พ่อแม่ที่มีประวัติไข้แล้วชักในวัยเด็กลูกก็จะมีโอกาสชักเมื่อมีไข้เช่นกัน

อุบัติการณ์ของการเกิดไข้แล้วชักในเด็กนี้มีไม่น้อยคือ พบได้ในอัตรา 2-5 ต่อเด็ก 100 คนและมักจะพบในอายุระหว่าง 3 เดือน ถึง5 ปี ส่วนใหญ่แล้วจะมีอายุระหว่าง 1-2 ปี สาเหตุของไข้ที่ทำให้เกิดการชักส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสของระบบทางเดินหายใจส่วนบนรวมทั้งโรคหูชั้นกลางอักเสบ
 

 

ทำอย่างไรลูกจึงจะไม่ชักซ้ำอีก ? 


เมื่อใดที่ลูกไม่สบายหรือมีไข้ ควรกินยาลดไข้และเช็ดตัวจนไข้ลดลง ยาลดไข้พาราเซตตามอลควรมีประจำบ้านไว้ตลอดเวลา เมื่อใดที่ลูกมีไข้จะสามารถให้ยาลดไข้นี้ได้ทันที การกินยาในขนาดและระยะเวลาที่เหมาะสมร่วมกับการเช็ดตัวที่ถูกต้องจะช่วยให้ไข้ลดลงได้ กล่าวคือยาลดไข้ควรให้ทุก 4 ชม.ที่สำคัญคือในช่วงเวลากลางคืนที่ยังมีไข้อยู่ จะต้องไม่ลืมที่จะให้ยาลดไข้และเช็ดตัวในช่วงเวลากลางคืนนั้นด้วยเพราะเด็กมีโอกาสที่จะชักในช่วงเวลากลางคืนได้บ่อยมาก เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่หรือพี่เลี้ยงมักจะเพลียและหลับไปด้วย ดังนั้นอาจจะต้องมีการเฝ้าไข้คือการสลับเวรกันระหว่างคุณพ่อคุณแม่และพี่เลี้ยงเพื่อดูแลลูกในช่วงเวลากลางคืนอย่างต่อเนื่อง

โดยทั่วไปแล้วเด็กที่ชักจากไข้นั้น หนึ่งในสามคนมีโอกาสชักซ้ำจากไข้ได้อีกโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่เคยชักจากไข้ภายในขวบปีแรกจะมีโอกาสเกิดการชักซ้ำได้บ่อยกว่าเด็กที่ชักเมื่อโต ฉะนั้นเด็กในขวบปีแรกที่เกิดการชักหลายครั้งในอดีตและมีอัตราเสี่ยงหรือแนวโน้มที่จะเกิดการชักอีก อาจให้ยาป้องเพื่อไม่ให้เกิดการชักได้เมื่อมีไข้ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ต้องใช้อย่างระมัดระวังจึงควรทำความเข้าใจถึงวิธีการใช้ให้ถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์บางรายอาจจำเป็นต้องกินยากันชักอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาวะของผู้ป่วยในแต่ละรายซึ่งแตกต่างกันแล้วลูกจะมีปัญหาทางสมองไหนคะ ?  เป็นคำถามที่พบบ่อยจากคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกเคยมีประสบการณ์ชัก ส่วนใหญ่จะมีความกังวลว่าหลังจากชักแล้วลูกจะกลายเป็นเด็กปัญญาอ่อนหรือไม่ จะเรียนหนังสือได้ปกติหรือไม่ โดยทั่วไปแล้วถ้าชักจากไข้ จะไม่เกิดปัญหาทางสมองแต่อย่างใด หลังจากหายแล้วก็จะเป็นเหมือนลูกที่ปกติ เช่นเดิม  


 

 

การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง Electroencephalography (EEG)


เป็นการตรวจดูกระแสไฟฟ้าที่ส่งจากเซลล์ผิวสมองคนไข้ที่เป็นโรคลมชักจะมีความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าบนผิวสมองส่งผ่านออกมา การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองจำเป็นที่จะต้องทำในคนไข้ลมชักทุกราย และอาจต้องทำในคนไข้ที่ชักจากไข้บางรายโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไข้ที่ชักโดยที่มีไข้ต่ำ, ชักเฉพาะบางส่วนของร่างกาย, ชักนานกว่า 15 นาที, ชักมากกว่า 1 ครั้งต่อไข้รอบนี้, ชักหลังจากมีไข้เกิน 24 ชั่วโมง เป็นต้น คนไข้เหล่านี้อาจมีความผิดปกติของสมองทำให้เกิดการชักโดยที่ไข้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิด ดังนั้นการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) จึงมีประโยชน์ในคนไข้ที่มีการชักดังกล่าว

การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง

 

 

 

เมื่อลูกมีไข้แล้วชัก ควรตั้งสติ จับลูกนอนตะแคงเพื่อไม่ให้ลิ้นตกไปอุดทางเดินหายใจ ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเช็ดตัวจนไข้ลดลง และนำเด็กส่งโรงพยาบาล

 

 

แก้ไขล่าสุด

15/11/64