โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในเด็ก รวบเรื่องโรคในเด็กพร้อมตรวจและรักษา

December 22 / 2024

โรคติดเชื้อปัสสาวะเด็ก

 

 


โรคติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะในเด็ก แบ่งตามตำแหน่งของการติดเชื้อแบ่งออกเป็น 2 โรค คือ 

 

  • โรคกรวยไตอักเสบ ในเด็กจะมีไข้สูง ปวดบั้นเอว ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะแสบขัด คลื่นไส้อาเจียน แต่อาการในเด็กเล็กไม่จำเพาะ อาจมีไข้สูง ร้องกวน ดูดนมน้อยลง เด็กเล็กควรได้รับการตรวจปัสสาวะทุกครั้ง เมื่อมีไข้โดยตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติ 
  • โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มีอาการปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะบ่อย ครั้งละน้อยๆ กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ปัสสาวะขุ่น บางครั้งอาจมีเลือดปน มักเป็นหยดเลือดตอนปัสสาวะสุด ในรายที่รุนแรง อาจพบลิ่มเลือดเล็กๆ ในปัสสาวะ ในเด็กบางคนมีปัสสาวะรดที่นอนเกิดขึ้นใหม่ หลังจากที่เคยควบคุมการขับถ่ายได้แล้ว 

 

 

โรคติดเชื้อปัสสาวะเด็กโรคติดเชื้อปัสสาวะเด็ก

 

 

การวินิจฉัยโรคติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะในเด็ก

การวินิจฉัยทำได้ด้วยการตรวจปัสสาวะและเพาะเชื้อปัสสาวะ ซึ่งจะพบเม็ดเลือดขาวหรือเชื้อแบคทีเรียในปัสสาวะ

 

  • การนำปัสสาวะไปเพาะเชื้อจะบอกชนิดของแบคทีเรียที่ก่อโรค และตรวจการตอบสนองของเชื้อต่อยาปฏิชีวนะ เนื่องจากการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะอาจเป็นอาการนำที่บ่งบอกถึงความผิดปกติแต่กำเนิดของไตและทางเดินปัสสาวะ
  • ในรายที่เป็นกรวยไตอักเสบทุกรายหรือในเด็กเล็กที่เป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือติดเชื้อซ้ำ ควรได้รับการตรวจพิเศษเพิ่มเติม ได้แก่ การตรวจอัลตร้าซาวด์ การใส่สายสวนเพื่อตรวจหาภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับ การสแกนไต (DMSA scan) เพื่อตรวจหาแผลเป็นที่ไต เป็นต้น

 

 

โรคติดเชื้อปัสสาวะเด็กโรคติดเชื้อปัสสาวะเด็ก

 

 


การรักษาโรคติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะในเด็ก

     โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะในเด็กสามารถรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ ในเด็กที่มีไข้สูง หรือมีอาการขาดน้ำหรือไม่สามาทานยาได้ควรรับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ ระยะเวลาที่ให้ยา 10-14 วันในโรคกรวยไตอักเสบ แต่ถ้าเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ใช้เวลาในการรักษาสั้นกว่า คือประมาณ 5-7 วัน

 

วิธีปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ 

  • การทำความสะอาดหลังการขับถ่าย ในเด็กผู้หญิงควรเช็ดทำความสะอาดจากหน้าไปหลัง เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในอุจจาระเป็นตัวก่อโรคที่สำคัญของโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
  • ดื่มน้ำมาก ๆ และปัสสาวะให้เป็นเวลา ในเด็กควรปัสสาวะทุก 3-4 ชั่วโมง และก่อนนอนไม่กลั้นปัสสาวะ ปัสสาวะที่ค้างนานๆ ในกระเพาะปัสสาวะเป็นอาหารที่ดีของเชื้อแบคทีเรีย
  • หลีกเลี่ยงท้องผูก ฝึกการถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาทุกวัน
  • หลีกเลี่ยงการระคายเคืองที่เกิดขึ้นบริเวณท่อปัสสาวะ เช่น การใส่กางเกงที่รัดมากๆ การใส่สบู่เหลวลงไปในอ่างอาบน้ำ เป็นต้น 

 


การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ อาจเป็นอาการที่บ่งบอกถึงความผิดปกติแต่กำเนิดของไต และทางเดินปัสสาวะ ดังนั้นเด็กควรได้รับการตรวจพิเศษเพิ่มเติม