ออกกำลังกาย ช่วยลดเบาหวานได้จริงหรือ?

December 16 / 2024

 

 

ออกกำลังกาย ช่วยลดเบาหวานได้จริงหรือ?
 

 

 

เบาหวาน ออกกำลังกายเบาหวาน ออกกำลังกาย

ผศ.ดร. สิทธา พงษ์พิบูลย์

ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอด

 

 

 

     หลายคนได้ยินจนชินว่าผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจึงเป็นสิ่งสำคัญเพราะช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เช่น เบาหวานขึ้นตา ไตเสื่อมสภาพ เท้าชา หรือประสาทส่วนปลายเสื่อม ซึ่งการควบคุมระดับน้ำตาลนั้นทำได้ด้วยการทานยา ควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย วันนี้พี่หมอรามเลยจะมาชวน “ผู้เป็นเบาหวาน” มาออกกำลังกายกัน

 

 

 

เบาหวาน ออกกำลังกายเบาหวาน ออกกำลังกายเบาหวาน ออกกำลังกาย

 

 

การออกกำลังกายช่วยลดความรุนแรงของโรคเบาหวาน

     เนื่องจากการออกกำลังกายที่เหมาะสมและสม่ำเสมอจะช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้จริง ทั้งยังป้องกันผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงเกิดโรคนี้ไม่ให้เข้าวงการเบาหวานอีกด้วย ขณะที่เราออกกำลังกายนั้น ร่างกายต้องใช้พลังงานเพื่อเคลื่อนไหวร่างกายมากกว่าปกติและแหล่งพลังงานที่สำคัญที่สุดในร่างกายก็คือ “น้ำตาล” ถ้าเราออกกำลังกายให้เพียงพอ ร่างกายจะใช้น้ำตาลในเลือดเพื่อเปลี่ยนไปเป็นพลังงาน จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้ ทั้งยังทำให้เนื้อเยื่อของร่างกายไวต่ออินซูลินมากขึ้น

 

 


พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือในปริมาณอินซูลินเท่าเดิมร่างกายสามารถใช้น้ำตาลได้มากขึ้นกว่าเดิม จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีในระยะยาว และสามารถลดปริมาณยาที่ต้องทานหรือลดปริมาณอินซูลินที่ต้องฉีดได้นั่นเอง


 

 

 

 

เบาหวาน ออกกำลังกาย

 

 

เหตุผลที่ผู้ป่วยเบาหวานควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ

  • ลดระดับน้ำตาลในเลือด และระดับน้ำตาลสะสม
  • ลดระดับความดันโลหิต และไขมันในเลือด
  • ลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง
  • ลดความเครียด
  • ลดปริมาณไขมันในช่องท้องและใต้ผิวหนัง
  • ช่วยควบคุมน้ำหนักและลดน้ำหนักในคนอ้วน
  • เพิ่มความแข็งแรงของระบบหัวใจหลอดเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจ
  • เพิ่มแรงบีบของหัวใจ สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ

 

ที่สำคัญต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารด้วย เพื่อให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และควรออกกำลังกายจนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน และไม่ควรหักโหมออกกำลังกายในระยะสั้นๆ เพราะอาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้

 

รู้โรคก่อน! สกัดกั้นทุกความเสี่ยงด้วยการทดสอบสมรรถภาพ 

นอกจากนี้ ผู้เป็นโรคเบาหวานควรได้รับการคัดกรองความเสี่ยง ก่อนที่จะออกกำลังกายเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะปลอดภัยและได้รับประโยชน์สูงสุดจากการออกกำลังกายโดยผู้ชำนาญด้านการต้องทำการทดสอบสมรรถภาพทางกายสำหรับผู้เป็นโรคเบาหวานตามนี้

 

  • ประเมินความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยจะดูว่ามีโรคหลอดเลือดหัวใจหรือไม่ และถ้ามีเป็นมากแค่ไหน
  • นำผลการทดสอบมาใช้ประกอบการจัดโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสม

 


เพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะปลอดภัยและได้รับประโยชน์สูงสุดจากการออกกำลังกาย ควรเข้าพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อทดสอบสมรรถภาพทางกาย


 

 

สนใจเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอดต้องทำอย่างไร?

     แผนกฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอด พร้อมวางแผนการฟื้นฟูกาย-จิตให้สมดุลและให้คำปรึกษาแก่นักกีฬาเพื่อใช้กำหนดแนวทางฝึกซ้อมก่อนลงแข่งได้อย่างมีประสิทธิภาพเปิดให้บริการที่ อาคาร 3 ชั้น 10 โรงพยาบาลรามคำแหง ตั้งแต่เวลา 07.00-20.00 น. ทุกวัน โทร. 027439999 ต่อ 3040 หรือ คลิกที่นี่

 

19/02/64