s โรคมือเท้าปาก ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับโรค มือ เท้า ปาก

โรคมือเท้าปาก ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับโรค มือ เท้า ปาก

January 08 / 2024

 

 

ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับโรค มือ เท้า ปาก

 

 

โรคมือเท้าปาก เป็นที่พบบ่อยในเด็กทารก เด็กเล็กตามสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล ติดต่อกันง่ายโดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี สาเหตุจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอ็นเทอโรไวรัส (Enterovirus) ที่มีอยู่หลายสายพันธุ์ในประเทศไทย สายพันธุ์ที่พบบ่อยแต่อาการไม่รุนแรงคือเชื้อไวรัสค็อกซากี เอ 6 (Coxsackievirus A6) แต่ก็มีรายงานว่าพบสายพันธุ์รุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้คือเชื้อไวรัสเอ็นเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71 หรือ EV 71) โรคนี้สามารถพบได้ตลอดปี แต่พบมากขึ้นช่วงฤดูฝน ซึ่งมีอากาศเย็นและชื้น สถานที่อยู่รวมกัน ทำให้เกิดความแออัด สุขอนามัยสิ่งแวดล้อมและส่วนบุคคลไม่ดี จึงเกิดการระบาดได้ง่าย 

 

 

การวินิจฉัยโรคมือเท้าปาก

 

แพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากอาการแสดงและการตรวจร่างกาย การตรวจเพิ่มเติมไม่จำเป็นต้องทำในผู้ป่วยทุกราย มักตรวจในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ขึ้นกับความเห็นของแพทย์แต่ละท่าน ได้แก่ การนำสารคัดหลั่งจากในลำคอ/จมูก (throat Swab/nasal washing) หรืออุจจาระเพื่อหาเชื้อไวรัสโดยวิธี PCR (Polymerase Chain Reaction) หรือการเพาะเชื้อ (Viral Culture)

 

 

โรคมือเท้าปากติดต่อกันได้อย่างไร 

 

  • ติดต่อโดยการกิน เชื้อผ่านเข้าปากจากมือที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลายและอุจจาระของผู้ป่วย หรือหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายในอากาศ จากการไอ จาม ของผู้ป่วย 
  • มีระยะฟักตัว 3-5 วัน หลังสัมผัสเชื้อจากผู้ป่วย 
  • มีระยะแพร่เชื้อตั้งแต่เริ่มมีอาการใน 7 วันแรกและหลังจากหายแล้วยังสามารถพบเชื้อในอุจจาระได้อีกระยะหนึ่ง (ประมาณ 2-3 สัปดาห์)
  • โรคมือเท้าปากเป็นแล้ว สามารถเป็นซ้ำได้อีกเนื่องจากไวรัสมีหลายสายพันธุ์

 



 

อาการของโรคมือเท้าปาก

 

  • ไข้สูงหรือไข้ต่ำ จากนั้น 1-2 วัน จะพบแผลในปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น ริมฝีปาก ต่อมาจะมีตุ่มแดงหรือตุ่มน้ำใสที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ข้อศอกและรอบก้น กินได้น้อยอ่อนเพลีย ตุ่มน้ำใสอาจจะอยู่นาน 7-10 วัน

 

  • แต่การติดเชื้อที่รุนแรงจากเชื้อไวรัสเอ็นเทอโรไวรัส EV71 จะทำให้ไข้สูง อาเจียน ก้านสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ชักเกร็ง ซึมและเสียชีวิตได้

 



 

 

 การรักษาโรคมือเท้าปาก

 

  • ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปากแล้วที่แผนกเด็กสุขภาพดี อาคาร 3 ชั้น 2 หากสนใจสามารถติดต่อได้ที่กุมารแพทย์ประจำตัวลูกของท่าน
  • รักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาชาเฉพาะที่สำหรับแผลในปาก ยาแก้คัน 
  • แนะนำให้รับประทานอาหารเย็นๆ เช่น นมเย็น ไอศกรีม วุ้น เยลลี่

 

 

 

การป้องกันโรคมือเท้าปากที่สำคัญที่สุดคือการแนะนำสุขอนามัย ส่วนบุคคลแก่บุตรหลานและผู้ดูแลเด็ก

 

  1. กินอาหารที่ร้อน สุกใหม่ ไม่มีแมลงวันตอม
  2. ใช้ช้อนกลางไม่ใช้แก้วน้ำ หลอด หรือกินอาหารจานเดียวกับผู้อื่น
  3. ล้างมือ ฟอกสบู่บ่อยๆ ก่อนและหลังกินอาหาร รวมทั้งหลังขับถ่ายและหลังจากเข้าห้องน้ำ
  4. หยุดการแพร่กระจายของเชื้อ โดยการทำความสะอาดของเล่น ไม่พาเด็กไปในสถานที่แออัดหรือแหล่งกระจายเชื้อ เด็กป่วยควรพักอยู่บ้านอย่างน้อย 1 สัปดาห์
  5. การล้างมือด้วยแอลกอฮอล์หรือเจล ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ ให้ทำความสะอาดของเล่นด้วยสบู่ ผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดตามบ้านเรือน และล้างอีกครั้งด้วยน้ำสะอาดและผึ่งให้แห้ง

 

 

 

 

ควรรีบนำไปพบแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อรับการรักษาไว้ในโรงพยาบาลเพื่อดูแลอาการแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้