สังเกตอย่างไร? ว่าลูกมีภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย

October 28 / 2024

ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย

 

 

 

 

วิธีสังเกตเมื่อลูกมีภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย

     ภาวะเป็นสาวก่อนวัยหมายถึง ภาวะที่เด็กหญิงเริ่มมีเต้านมก่อนอายุ 8 ปี หรือมีประจำเดือนก่อนอายุ 9 ปี โดยปกติแล้ว เมื่อเด็กหญิงเริ่มเป็นสาว จะมีฮอร์โมนเพศเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย คือ เริ่มมีเต้านม มีความสูงเพิ่มเร็วขึ้น โดยสังเกตจากอัตราการเพิ่มความสูงจะมากกว่า 5-6 ซม. ต่อปี จนเมื่อเข้าสู่การเป็นสาวเต็มที่ ก็จะมีประจำเดือน และจะหยุดสูงหลังจากมีประจำเดือนสม่ำเสมอไปแล้วประมาณ 3 ปี สำหรับภาวะเป็นหนุ่มก่อนวัย ดูได้จากการมีหนวด เสียงแตกเร็วกว่าเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน

 

อ่านเพิ่มเติม: ยังไม่สายเกินไป ที่จะมารักษาภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย

 

 

ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย

 

 

สาเหตุของการเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย

     การที่เด็กเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยมีหลายสาเหตุ มักจะเกิดกับเด็กผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ และ 90-95 % ของเด็กหญิงที่เป็นสาวก่อนวัยเป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ ส่วนน้อยเกิดจากความผิดปกติในสมอง, มีการสร้างฮอร์โมนเพศจากตำแหน่งอื่นในร่างกาย หรือได้รับการกระตุ้นฮอร์โมนเพศจากภายนอก โดยที่เด็กผู้ชายส่วนใหญ่เข้าวัยรุ่นเร็วมักจะมาจากสาเหตุอื่นๆ เช่น มีเนื้องอกเกิดขึ้น นอกจากฮอร์โมนทำงานเร็ว

 

ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย

 

 

แพทย์จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย?

     ในเด็กที่รูปร่างผอม เมื่อมีการพัฒนาของเต้านมขึ้น เด็กจะรู้สึกเจ็บบริเวณเต้านม แต่เด็กที่รูปร่างอวบ อาจจะไม่รู้สึกเจ็บบริเวณเต้านม นอกจากพบว่ามีเต้านม ผู้ปกครองอาจจะสังเกตเห็นว่าเด็กสูงเร็วขึ้น

ผู้ปกครองควรพาเด็กพบแพทย์ เมื่อพบว่าเด็กหญิงมีเต้านมขึ้น หรือเริ่มสูงเร็ว ก่อนอายุ 8 ปี ซึ่งแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อประกอบการวินิจฉัย ดังนี้ 

  • ประวัติ
    แพทย์จะทำการซักประวัติต่างๆ เพื่อประกอบการวินิจฉัย เช่น อายุที่เริ่มสังเกตว่าเริ่มมีเต้านม ประวัติความสูงที่ผ่านมา ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงปัจจุบัน การเจ็บป่วยในอดีต ความสูงของบิดามารดา ประวัติการเข้าสู่วัยสาวของมารดา และพี่น้อง เนื่องจากพันธุกรรมมีผลต่อการเข้าวัยสาวและมีผลต่อความสูงเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่ รวมทั้งประวัติความผิดปกติอื่นๆ เช่น อาการปวดศีรษะ การมองเห็น อาการชัก 
  • การตรวจร่างกาย
    แพทย์จะทำการตรวจประเมิน ระยะการพัฒนาของเต้านม ซึ่งมีทั้งหมด 5 ระยะ รวมทั้งการตรวจร่างกายระบบอื่นๆ โดยละเอียด เพื่อหาสาเหตุที่อาจทำให้เป็นสาวก่อนวัย
  • การตรวจเพิ่มเติม
    เมื่อเด็กหญิงมีประวัติและจากการตรวจร่างกายทำให้สงสัยว่าอาจมีภาวะเป็นสาวก่อนวัย แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการวินิจฉัย ดังนี้
    1. ถ่ายภาพรังสีอายุกระดูก (bone age)
      ทำโดยการถ่ายภาพรังสีมือข้างที่ไม่ถนัด แล้วนำไปเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน โดยเด็กที่เป็นสาวก่อนวัยจะมีอายุกระดูกล้ำหน้ากว่าอายุจริง อายุกระดูกจะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในการบอกระยะการของการเจริญเติบโต เช่น การเริ่มเป็นสาว ช่วงที่มีการเพิ่มความสูงต่อปีสูงสุด (peak height velocity) การเริ่มมีประจำเดือน นอกจากนี้ อายุกระดูกยังช่วยในการคาดคะเนความสูงสุดท้ายเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่
    2. การตรวจด้วยคลื่นความถี่สูงบริเวณเชิงกราน (pelvic ultrasonography)
      เพื่อตรวจดูรูปร่างและวัดขนาดมดลูก รังไข่ และเพื่อหาสาเหตุอื่นๆ ที่อาจทำให้เป็นสาวก่อนวัยได้ เช่น ถุงน้ำในรังไข่
    3. การตรวจวัดระดับฮอร์โมนเพศในเลือด
      แพทย์จะทำการทดสอบด้วยฮอร์โมน GnRH analog เพื่อตรวจวัดระดับฮอร์โมนเพศที่ผลิตจากต่อมใต้สมองและฮอร์โมน estradiol จากรังไข่ ซึ่งการตรวจดังกล่าวถือเป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยภาวะเป็นสาวก่อนวัย

 

ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัยภาวะหนุ่มสาวก่อนวัยภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย

 

 

การรักษาเมื่อเด็กมีภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย

     ในกรณีตรวจพบสาเหตุ เช่นความผิดปกติในสมอง เนื้องอกที่รังไข่ ต้องรักษาตามสาเหตุ ส่วนกลุ่มที่ไม่พบความผิดปกติที่ทำให้เป็นสาวก่อนวัย การรักษาที่เป็นมาตรฐานคือ การให้ยา GnRH analog โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ต่อเนื่องทุก 4 สัปดาห์ หรือทุก 12 สัปดาห์ ขึ้นกับขนาดยาที่ใช้

 

ข้อบ่งชี้ในการใช้ยา

     ข้อบ่งชี้ในการใช้ยา GnRH analog คือ ควรใช้ในรายที่เป็นสาวก่อนวัย และเมื่อคำนวณความสูงสุดท้ายเมื่อเป็นผู้ใหญ่น้อยกว่าความสูงตามพันธุกรรม รวมทั้งในรายที่มีปัญหาการปรับตัวทางด้านจิตใจ ด้านสังคม เมื่อเป็นสาวก่อนวัย

  • ยา GnRH analog ได้จากการสังเคราะห์ และมีความคล้ายกับฮอร์โมนที่ควบคุมการหลั่งฮอร์โมนเพศจากสมองที่มีตามธรรมชาติ มีความปลอดภัยสูง เมื่อใช้ยา GnRH  analog จะทำให้มีการยับยั้งฮอร์โมนเพศ จึงทำให้มีการชะลอการเพิ่มของอายุกระดูก และมีการยับยั้งการพัฒนาทางเพศก่อนวัยอันควร  ทำให้เด็กได้มีเวลาในการเติบโตตามปกติได้มากขึ้นเมื่อหยุดใช้ยา การหลั่งฮอร์โมนเพศก็จะกลับมาเป็นปกติ และมีการเติบโตได้ตามศักยภาพของพันธุกรรม 

 

ผลข้างเคียงของยา

     ผลข้างเคียงของยาที่พบได้ เช่น ผื่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้  ร้อนวูบวาบตามตัว ซึ่งพบได้น้อยมาก และไม่มีผลข้างเคียงในระยะยาวต่อร่างกาย

 

 

การติดตามระหว่างการรักษาภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย ด้วยยา GnRH analog 

     หลังจากเริ่มฉีดยา GnRH analog แพทย์จะตรวจติดตามขนาดและลักษณะของเต้านมซึ่งเต้านมจะมีขนาดยุบลง ตลอดจนอัตราการเพิ่มความสูง ซึ่งระหว่างการรักษา เด็กจะมีอัตราการเพิ่มความสูงเหมือนเด็กที่ยังไม่เข้าวัยสาว นอกจากนี้ระหว่างการรักษาจะมีการตรวจวัดระดับฮอร์โมนเพศในเลือด และอายุกระดูกทุก 6–12 เดือน

 

การที่เด็กมีภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย การเจริญเติบโตที่เร็วกว่าปกติอาจส่งผลกระทบต่อเด็กหลายด้าน เช่น การดูแลตัวเอง เมื่อมีประจำเดือนเร็วกว่าวัยอันสมควร ผลกระทบในด้านจิตใจ และการปรับตัวในสังคม

 

 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม คลิก >> ยังไม่สายเกินไป ที่จะมารักษาภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย

 

 

แก้ไข

15/03/2566