"RAM group vision" เสริมทัพไอทีครั้งใหญ่ Digital Healthcare

February 23 / 2024

 

 

 

‘‘RAM group vision’…เสริมทัพไอทีครั้งใหญ่นำ Digital Healthcare ดูแลรักษาผู้ป่วยแบบจำเพาะ&ผู้มีโรคประจำตัว สะดวก-รวดเร็วแบบ ‘เรียล-ไทม์’

 

เบี้องหลังความสำเร็จของ Smart Hospital คือ IT Infrastructure ที่มีเสถียรภาพ

 

งานด้าน ‘ไอที’ กับเรื่องของ ‘Healthcare’ ในโรงพยาบาลต่างก็เป็นงานที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ยิ่งไปกว่านั้นงานทั้งสองส่วนนี้นับวันจะยิ่งไม่สามารถแยกออกจากกันได้โดยสิ้นเชิง แทบจะทุกโรงพยาบาลทุกระดับทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็ปรับระบบการบริการทางการแพทย์นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการ จัดบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ทันสมัย แม่นยำ เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกและรวดเร็ว

 

“โรงพยาบาลรามคำแหง” เป็นโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในประเทศไทยที่ได้นำเอาเทคโนโลยีด้านไอทีเข้ามาใช้ประโยชน์ในด้านการแพทย์มากกว่า 10 ปี โดยการนำระบบ IT Infrastructure เข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจและให้บริการในโรงพยาบาลรามคำแหงและโรงพยาบาลในเครือ เป็นการทำงานแบบองค์รวมโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลปรับเปลี่ยน ปรับปรุงองค์กรให้มีความพร้อมในโลกดิจิทัลมากขึ้น ภายใต้หัวใจหลักการทำงานขององค์กร “อบอุ่นและเชี่ยวชาญ”, WARM&SKILL ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดแบบมืออาชีพพร้อมนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยตรวจวินิจฉัยเสริมความเข้มแข็ง โดยมีบริษัท เดลล์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้เข้ามาวางระบบต่างๆ ตั้งแต่ระบบ Data Center ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์เชื่อมต่อเครือข่ายไปจนถึงการวางระบบปลายทางให้บุคลากรต่างๆ ในโรงพยาบาลสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ซึ่งความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีนี้จะกลายเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความสามารถในการวินิจฉัยโรคล่วงหน้าและผลการรักษาที่ดีขึ้น ไปจนถึงการบริการดูแลสุขภาพที่สะดวก และการจัดการโรคประจำตัวได้ด้วยตัวเอง

 

และล่าสุด...โรงพยาบาลรามคำแหงได้แถลงข่าวเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนผ่านระบบ Video Conference ให้เห็นและทราบถึงวิสัยทัศน์ ‘RAM group vision’ ในการนำโครงสร้างพื้นฐานไอทีด้านเฮลธ์แคร์ หรือ HIT; Healthcare IT Infrastructure ที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพสูงสุดเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจและให้บริการในโรงพยาบาลรามคำแหงและโรงพยาบาลในเครือ นำโดย นพ.พิชญ สมบูรณสิน กรรมการบริหาร รพ.รามคำแหง พร้อมด้วยคุณชัยยุทธ ตันประทุมวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายไอที รพ.รามคำแหง และคุณนพดล ปัญญาธิปัตย์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย เดลล์ เทคโนโลยีส์ ร่วมกันแถลงในห้องประชุม

 

 

ทั้งนี้ ได้รับความกรุณาจาก นพ.สุธี ลีละเศรษฐกุล กรรมการบริหาร รพ.รามคำแหง ให้เกียรติร่วมฟังและให้ข้อมูลในฐานะผู้ใช้งานจริงด้านไอทีในการตรวจรักษาผู้ป่วย ซึ่งขณะนั้นคุณหมอสุธีนั่งอยู่ที่คลินิกไข้ ไอ เจ็บคอ (RAM​ IC​ OPD​: Drive-in) ที่ตั้งอยู่บริเวณลานจอดรถภายในโรงพยาบาล

 

 

นพ.พิชญ ให้เหตุผลในการนำมาสู่การปรับเปลี่ยนในครั้งนี้ว่า “หลักๆ คำว่า Digital Transformation ถ้าในทางเฮลท์แคร์หรือการแพทย์เองเราถือว่ามันเป็นการเพิ่ม​ หรือขยายศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยของเรา ทั้งในเชิง ‘คุณภาพการดูแลรักษา’ แล้วก็ในเรื่องของ ‘ประสบการณ์’ ขอแบ่งเป็นสามเรื่องหลักๆ ด้วยกัน

 

เรื่องแรกก็เป็นคำที่เรียกว่าเป็น Efficiency แล้วก็ Physician หรือว่าที่ปัจจุบันเราจะเรียกว่าเป็น Physician Medicine คือเป็นการรักษาที่เพิ่มความแม่นยำ ความถูกต้อง แล้วก็เป็นความจำเพาะเจาะจงของบุคคลมากขึ้น เราลองนึกถึงอุตสาหกรรมในยุค 50-60 ปีที่ผ่านมาเราอยู่ในยุคที่เรียกว่าเป็นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เราผลิตของออกมา 1,000 ชิ้นเหมือนกันหมดคนก็ซื้อ แต่ในยุคนี้เป็นยุคที่เรียกว่าเป็น ‘Personalize’ คือลูกค้าแต่ละคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน คนที่เป็นผู้จัดหาก็จะสรรหาบริการผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละคนได้ ซึ่งในทางการแพทย์ก็เหมือนกัน แต่ปัจจุบันเมื่อเรามี Digital Transformation ข้อมูลในตัวคนไข้มีมหาศาลเลยไม่ว่าจะมาจากการเก็บข้อมูลในเรื่องการตรวจรักษา เราเอาข้อมูลเหล่านั้นมาออกแบบการรักษาที่ดีที่สุดและจำเพาะกับตัวคนไข้ท่านนั้นที่สุด อันนี้ก็เป็นเรื่องของ Physician อย่างหนึ่งที่ทำให้มันเกิดขึ้นจริงได้ในยุคนี้นะครับ

 

ยุคที่สองเราจะเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลง Transformation Carry Varying เมื่อคนไข้ไม่สบาย แต่ก่อนหมออาจจะตัดสินใจแทนคนไข้ได้หมด แต่ในปัจจุบันเรามองคนไข้เป็นปัจเจกบุคคล เขามีอำนาจในการตัดสินใจในชีวิตและสุขภาพของเขา ดังนั้นเมื่อมี Digital Technology เข้ามาเราสามารถอธิบายความเป็นไปของโรคหรือการตรวจ แผนการรักษาให้คนไข้และญาติเข้าใจได้อย่างง่ายดาย ก็จะทำให้เขารับรู้และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการรักษาในครั้งนั้นได้ดีขึ้น

 

คุณหมอสามารถมายืนข้างๆ คนไข้ได้ เรามาร่วมกันรักษาเพื่อผ่านพ้นโรคนี้ไปได้ด้วยกันนะหมอจะช่วยเอง มันก็จะทำให้ข้อที่สามเกิดขึ้นคือในเรื่องของ ‘Experience’ หรือประสบการณ์ การเข้ารับบริการด้านสุขภาพของคนไข้เปลี่ยนไป สมัยก่อนเราก็จะมาด้วยความกลัว ความกังวล ความไม่รู้ ปัจจุบันข้อมูลเหล่านี้เข้ามาสู่ตัวคนไข้ไม่ว่าจะผ่านบุคลากรที่มีเครื่องมือเข้ามาช่วย ก็จะเป็นตัวช่วยทำให้ประสบการณ์ของคนไข้ดีขึ้นมากๆ ในการมารับบริการทางการแพทย์ครับ อันนั้นก็หมายถึงว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าเราไม่ทำ Digital Transformation หรือที่เรียกว่าเป็น Healthcare Digitization”

 

นพ.สุธี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของการใช้งานจริงว่า “สมัยก่อนคนไข้แทบจะไม่เคยเห็นการตรวจแบบนี้เลย แต่ในปัจจุบันเราสามารถเอาแท็บเล็ตไปข้างเตียงคนไข้ได้เลย ให้คนไข้และญาติได้เห็นว่าผลการตรวจเค้าเป็นยังไง มีรอยตีบตรงไหนบ้างในหลอดเลือด หรือมีเลือดออกตรงไหนบ้างในสมองเขานะครับ ซึ่งก็สร้างความมั่นใจให้คนไข้มากขึ้น ผลการตรวจเป็นแบบนี้ การวางแผนการรักษาก็เป็นไปตามผลการตรวจที่ได้มา แพทย์ทุกคนในทีมสามารถที่จะเห็นการตรวจได้เหมือนกันหมดเลยในเวลาเดียวกันด้วยครับ ก็จะสามารถปรึกษาหารือกันได้ว่าการรักษาแบบไหนที่จะเป็นผลดีที่สุด เหมาะสมที่สุดสำหรับคนไข้รายนี้”

 

นพ.พิชญ กล่าวต่อว่า แม้คนไข้ไม่อยู่ในโรงพยาบาลเราก็ตามไปดูแลเขาได้ อาจจะไม่ใช่การปรึกษาโดยตรงจากคุณหมอ แต่เป็นการที่ว่าเมื่อคนไข้มาโรงพยาบาลแล้วเขาจะได้รับข้อมูลการดูรักษา คำแนะนำ และเรื่องราวต่างๆ ติดตัวเขากลับไปด้วย อันนี้คือการที่เราใช้เทคโนโลยีในการดูแล​ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์มากในช่วงที่เกิดวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นช่วงโรคระบาด ซึ่งคนไข้บางคนจำเป็นต้องเข้ามารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ หากเกิดวิกฤตในเรื่องการเดินทางอย่างน้อยเราก็ยังเชื่อมต่อกันได้อยู่ โรงพยาบาลก็ยังดูแลคนไข้ในส่วนนั้นได้ คนไข้หนึ่งคนอาจจะไม่ได้มีคุณหมอดูแลแค่ท่านเดียว อย่างเช่นที่อาจารย์สุธีมาดูคนไข้ข้างเตียง อาจารย์ก็พูดเลยว่าเรื่องนี้ต้องให้คุณหมอหัวใจช่วยดู ซึ่งคุณหมอท่านนั้นก็อาจจะไม่ได้อยู่ที่โรงพยาบาลก็ได้ แต่คุณหมอก็สามารถอ่านผลตรงนั้นได้หรือที่บ้านได้ รวมถึงเมื่ออ่านเสร็จก็สามารถสื่อสารกับคุณหมอเจ้าของไข้ได้ในเรื่องของการวางแผนการรักษา คนไข้ก็ไม่ต้องมานั่งรอ จุดนี้คือสิ่งที่เราวางรากฐานแล้วก็พร้อมรับมือกับเรื่องต่างๆ ที่จะเข้ามาในอนาคตได้

 

“...โรงพยาบาลรามคำแหงเป็นโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคที่ซับซ้อน ทำให้มีผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้สูงอายุเป็นผู้ป่วยประจำของเรามากมาย สิ่งที่จะเป็นทิศทางในแผนระยะยาวของเรา นอกจากการพัฒนาคุณภาพและเทคโนโลยีด้านการรักษาต่างๆ ให้ทันสมัยอยู่ตลอดแล้ว ยังจะมีการเชื่อมต่อข้อมูลคนไข้บางส่วนเพื่อให้สามารถเข้ารับบริการโรงพยาบาลในเครือได้อย่างสะดวกขึ้น เราจะเปลี่ยนภาพของโรงพยาบาลที่เป็นที่รักษาผู้ป่วยเพียงอย่างเดียว ให้เป็นที่ที่จะส่งเสริมให้สุขภาพของผู้มารับบริการดีขึ้น จะเปลี่ยนจากคำว่า ‘Sick Care’ เป็น ‘Healthcare’”

 

 

ทางด้านกรรมการผู้จัดการเดลล์ เทคโนโลยีส์ กล่าวเสริมว่า “เดลล์ อยู่ในตำแหน่งที่ช่วยเหลือลูกค้า เช่น โรงพยาบาลรามคำแหง ในการทรานส์ฟอร์มโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีสำหรับเฮลธ์แคร์ทั้งหมดได้ ตั้งแต่จุดที่ให้การดูแลผู้ป่วยไปจนถึงดาต้าเซ็นเตอร์ กระทั่งระบบคลาวด์ ช่วยผู้ให้บริการด้านสุขภาพลดความซับซ้อนในการบริหาร และปฏิบัติการเพื่อปฏิวัติการดูแลผู้ป่วยได้แบบองค์รวม”

 

ด้วยผลของความพยายามในการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล โรงพยาบาลรามคำแหงสามารถทำงานและให้บริการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพด้วยการปฏิบัติการแบบ Always-On พร้อมความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็วบนโซลูชั่นของเดลล์ เทคโนโลยีส์ทั้งหมดให้ทันสมัยเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยที่ดีมากยิ่งขึ้นแก่ผู้ป่วยทั้งในแบบ เรียล-ไทม์ และ การดูแลรักษาทางไกล แบบ 24/7 ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ใดก็ตาม และไม่ว่าจะเป็นกลุ่มมิลเลนเนียล เจเนอเรชั่นเอกซ์ เจเนอเรชั่นวาย หรือเบบี้บูมเมอร์ คุณก็จะได้รับประสบการณ์การดูแลสุขภาพที่สะดวก เป็นมาตรฐานเดียวกัน และการจัดการโรคประจำตัว และผลการรักษาที่ดีขึ้นแน่นอน