คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย ก่อนผ่าตัดและหลังผ่าตัด

March 31 / 2022

 

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย ก่อนผ่าตัดและหลังผ่าตัด

 

 

 

การปฏิบัติตัวก่อนผ่าตัด

 

  1. งดรับประทานอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนผ่าตัด เพื่อป้องกันปัญหาการสำลักเศษอาหารเข้าหลอดลมและปอด ระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึก
  2. ควรอาบน้ำ สระผม ล้างหน้าให้สะอาด งดการใช้ครีมและครื่องสำอางทุกชนิด ตัดเล็บให้สั้น ล้างสีเคลือบเล็บมือและเท้าออก เพื่อช่วยให้แพทย์และพยาบาล สังเกตอาการผิดปกติ ที่อาจเกิดขึ้นจากการขาดออกซิเจน ในระหว่างการผ่าตัดและหลังผ่าตัด 
  3. ถอดของมีค่าต่างๆ เครื่องประดับทุกชนิด เช่น แหวน กิ๊บ สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ต่างหู แว่นตา นาฬิกา คอนแทคเลนส์ และฟันปลอม (ชนิดถอดออกได้) เพื่อป้องกันการหลุดของฟันปลอมเข้าไปอุดหลอดลมขณะผ่าตัด 
  4. ถ่ายปัสสาวะ อุจจาระให้เรียบร้อยก่อนเข้าห้องผ่าตัด
  5. งดโกนขนบริเวณที่จะผ่าตัดด้วยตัวเอง
  6. แนะนำงดสูบุหรี่ก่อนมาผ่าตัดอย่างน้อย 30 วัน

 

 

 

 

 

การปฏิบัติตัวเมื่อกลับจากห้องผ่าตัด

 

  1. หลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับการดูแลในห้องพักฟื้นประมาณ 2 ชั่วโมง โดยมีพยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเมื่อฟื้นจากฤทธิ์ยาสลบหรือยาระงับความรู้สึก จึงย้ายกลับมาห้องพัก
  2. หลังผ่าตัด พยาบาลจะให้การดูแลในเรื่องความเจ็บปวด โดยจะถามระดับความเจ็บปวดจากผู้ป่วย เพื่อประเมินการให้ยาระงับปวดตามแผนการรักษาของแพทย์
  3. หลังผ่าตัดผู้ป่วยบางรายอาจมีเครื่องบริหารยาเพื่อลดความเจ็บปวด (PCA) มาด้วย โดยเครื่องนี้ผู้ป่วยสามารถกดให้ยาแก้ปวดได้ด้วยตัวเองเมื่อมีอาการปวด อยู่ภายใต้การควบคุมและดูแลตามแผนการรักษาของแพทย์ ซึ่งจะช่วยลดความเจ็บปวดของผู้ป่วยหลังผ่าตัดได้ 
  4. บริเวณที่ทำผ่าตัดอาจมีสายยางจากแผลหรือข้างแผลเพื่อระบายเลือดและของเหลวออกจากแผล ห้ามผู้ป่วยดึงสิ่งเหล่านี้ออกเอง และถ้าปวดแผลควรแจ้งพยาบาลเพื่อขอยาระงับปวด
  5. หายใจเข้าออกลึกๆ อย่างถูกวิธีจะทำให้ปอดขยายตัวได้เต็มที่ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยต้องการยาระงับปวดน้อยลงและสามารถทำได้ทันทีเมื่อรู้สึกตัว 
    1. หายใจเข้าออกลึกๆ โดยทำจำนวน 5 ครั้งในทุกๆ 1 ชั่วโมง
      วิธีการ
      • นอนศรีษะสูงหรือลุกนั่ง งอเข่าเล็กน้อยยกเว้นในกรณี Block หลัง
      • ใช้มือทั้ง 2 ข้าง วางหรือประสานกันบริเวณแผลหรือใช้หมอนวางบริเวณแผลทำให้ลดความเจ็บปวดที่จะเกิดขึ้น
      • หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ ทางจมูก ค้างไว้ประมาณ 3 วินาที (นับ 1-2-3 ในใจ)
      • ห่อริมฝีปากเหมือนจะผิวปาก แล้วผ่อนลมหายใจออกช้าๆ ยาวๆ
    2.  ไอแบบมีประสิทธิภาพ เพื่อเอาเสมหะออกจากลำคอ
      วิธีการ
      • หายใจเข้าออกลึกๆ ประมาณ 4 ครั้ง (ตามวิธีดังกล่าวข้างต้น)
      • ครั้งที่ 4 หายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้ประมาณ 3 วินาที (นับ 1-2-3 ในใจ)
      • ใช้มือทั้ง 2 ข้างกดแผลก่อนไอ
      • แล้วไอออกมาจากส่วนลึกของลำคอ 1-2 ครั้ง เพื่อขับเสมหะที่คั่งค้างออกมา
  6. การเคลื่อนไหวร่างกายและการลุกนั่ง หลังผ่าตัดควรมีการ เปลี่ยนท่านอน พลิกตะแคงตัวทุก 2 ชั่วโมงและลุกนั่งพร้อมทั้งเริ่มบริหารร่างกายทันทีเมื่ออาการดีขึ้น
  7. หากแพทย์อนุญาตให้รับประทานอาหารได้ควรรับประทานน้อยๆ ก่อน แล้วสังเกตว่ามีอาการแน่น อึดอัดท้องหรือไม่ วันต่อมาจึงเริ่มรับประทานอาหารตามปกติ โดยเฉพาะเมื่อกลับไปพักฟื้นที่บ้านต้องบำรุงร่างกายให้มากขึ้น เพราะอาหารทำให้สุขภาพแข็งแรง โดยเฉพาะอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ไข่ นม ผัก ผลไม้ จะทำให้แผลหายเร็วขึ้น
  8. รับประทานยาให้ครบตามแผนการรักษาของแพทย์
  9. รักษาสุขนิสัยในการขับถ่ายอุจจาระให้สม่ำเสมอ ป้องกันอาการท้องผูก 
  10. ควรพักผ่อนให้เพียงพอโดยเฉพาะ 1-2 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด

 

 

 

คำแนะนำเรื่องการดูแลแผลหลังผ่าตัด

 

  1. ไม่ต้องเปิดทำแผลจนถึงวันที่แพทย์นัดเปิดแผล
  2. กรณีพลาสเตอร์ปิดแผลหลุด แนะนำให้ไปทำแผลก่อนวันนัดได้ที่โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน 
  3. กรณีที่แผลปิดพลาสเตอร์แบบไม่กันน้ำ ให้ระมัดระวังดูแลไม่ให้แผลสกปรก และไม่ควรให้แผลถูกน้ำ 
  4. กรณีที่ปิดแผลชนิดป้องกันน้ำ เวลาอาบน้ำไม่ควรใช้น้ำราดบริเวณแผลโดยตรง และไม่ควรถูหรือฟอกบริเวณแผล เพราะอาจจะทำให้พลาสเตอร์กันน้ำหลุดได้ง่าย โดยหลังอาบน้ำให้ใช้ผ้าขนหนูซับบริเวณพลาสเตอร์ที่ปิดแผลไว้ให้แห้ง ไม่ถูแรงๆ เพื่อป้องกันพลาสเตอร์หลุด 
  5. ไม่ควรออกกำลงกายที่มีเหงื่อออกมาก เพราะจะทำให้คันบริเวณที่ติดพลาสเตอร์ หรืออาจทำให้พลาสเตอร์หลุดได้ 
  6. รับประทานยาฆ่าเชื้อให้ครบ ตามแผนการรักษาของแพทย์
  7. แนะนำให้มาตรวจตามนัดของแพทย์ หรือหากมีอาการ ผิดปกติ ดังต่อไปนี้ เช่น มีสิ่งคัดหลั่ง น้ำหรือหนองซึมออกมาจากแผล หรือมีไข้ ปวด บวม แดง ร้อน และกดเจ็บบริเวณแผลผ่าตัด ให้รีบกลับมาพบแพทย์ทันที
  8. อื่นๆ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

 

การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องก่อนผ่าตัดและหลังผ่าตัด จะช่วยให้ลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจร้ายแรงถึงชีวิต และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น