กินยาคุมกำเนิดนานๆ ควรดูแลสุขภาพอย่างไร ?

January 31 / 2024

 

 

กินยาคุมกำเนิดนานๆ ควรดูแลสุขภาพอย่างไร ?

 

 

 

พญ.ศรีสุภา  เลาห์ภากรณ์

สูติ-นรีเวช

 

ยาเม็ดคุมกำเนิด (Oral contraceptive pill) คือ ยาที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเพศหญิง คือฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจน ปัจจุบันมีการใช้ยาคุมอย่างแพร่หลายทั้งคุมกำเนิด รักษาสิว และรักษาโรคเกี่ยวกับประจำเดือน เช่นประจำเดือนออกมาก มาไม่เป็นรอบ กะปริบกระปรอย ปวดประจำเดือน โรคทางนรีเวช เช่นถุงน้ำรังไข่ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื่องจากส่วนประกอบของยาคุมส่งผลต่อระบบหลอดเลือด และอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเช่น เต้านม ปากมดลูก ไขมันในเลือด การแข็งตัวของเลือด ดังนั้นสตรีที่รับประทานยาคุมกำเนิดควรมีความรู้และความเข้าใจหมั่นตรวจเช็คสุขภาพตนเองในช่วงที่ทานยาคุมกำเนิด ดังต่อไปนี้

 

 

การตรวจเต้านม

 

จากข้อมูลสถิติโรคมะเร็งของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2556-2558 (Cancer in Thailand Vol. IX, 2013-2015) ปัจจุบันมีอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มสูงขึ้นในสตรีไทย พบมากในสตรีอายุ 30-70 ปี

 

ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมได้แก่ เพศหญิง อายุที่เพิ่มขึ้น ประวัติพันธุกรรมในครอบครัว การได้รับรังสีบริเวณหน้าอก การดื่มแอลกอฮอล์ ความอ้วน การมีประจำเดือนเร็วก่อน 12 ปี หมดประจำเดือนช้า ไม่เคยตั้งครรภ์ มีบุตรคนแรกหลังอายุ 30 ปี และพบว่าการทานยาคุมมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยต่อการเกิดมะเร็งเต้านมเช่นกัน สตรีควรทราบปัจจัยเสี่ยงและสามารถที่จะควบคุมปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นให้ได้ เช่น การควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกาย ไม่ให้อ้วน การไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ แนะนำให้ให้สตรีควรทำความคุ้นเคยกับเต้านมตนเองเพื่อให้ทราบว่าเต้านมปกติเป็นอย่างไร และเมื่อพบการเปลี่ยนแปลง เช่น พบก้อน หรือมีของเหลวออกจากหัวนมให้รีบไปพบแพทย์ ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม หรือรับประทานยาคุม หรือฮอร์โมนทดแทน ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม

(อ้างอิงจากศูนย์ถันยรักษ์ โรงพยาบาลศิริราช)

  • ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป
    แนะนำให้ตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน ในช่วงอายุนี้ไม่จำเป็นต้องทำแมมโมแกรม
  • ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
    แนะนำให้ตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน และควรตรวจแมมโมแกรมทุก 2 ปี
  • ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
    แนะนำให้ตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน และควรตรวจแมมโมแกรมทุก 1 ปี
  • ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
    แนะนำให้รวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน และควรตรวจแมมโมแกรมทุก 1-2 ปี
  • สำหรับกลุ่มที่มีประวัติในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม หรือมีประวัติได้รับการฉายรังสีที่หน้าอก ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจจะต้องตรวจแมมโมแกรมเร็วกว่าปกติ

กลุ่มเสี่ยง (high risk)

  • มีประวัติญาติสายตรง ได้แก่ มารดา พี่สาว/น้องสาว และบุตร เป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งที่รังไข่
  • ผู้ที่มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม (invasive cancer or ductal carcinoma in situ)
  • ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยการฉายแสงบริเวณหน้าอก ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคเป็น Hodgkin’s disease หรือ non-Hodgkin lymphoma เป็นต้น
  • ผู้ที่มีประวัติ breast biopsy แล้วมีผลเป็น atypical ductal hyperplasia, lobular neoplasia
  • ผู้ที่ได้รับประทานฮอร์โมนเสริมทดแทนวัยหมดประจำเดือนเป็นประจำเกินกว่า 5 ปี
  • ผู้หญิงกลุ่มนี้ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเหมือนกับกลุ่มผู้หญิงทั่วไป แต่ควรจะต้องเริ่มตรวจเร็วขึ้น เช่น ในกรณีที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมที่อายุน้อยกว่า 50 ปี หรือ วัยก่อนหมดประจำเดือน ควรทำการตรวจคัดกรองเมื่ออายุที่ญาติเป็นมะเร็งเต้านมลบออก 10 ปี และควรตรวจทุก 1 ปี

 

 

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

 

 

 

มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับสอง ของมะเร็งทั้งหมดที่พบในสตรีไทย

ปัจจัยเสี่ยง (Risk factor)
ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งปากมดลูกชนิดใด ความเสี่ยงในการเกิดโรค สัมพันธ์กับโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV ซึ่งสัมพันธ์กับพฤติกรรมทางเพศ และโรคติดต่อทางทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งได้แก่

  • การเริ่มมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุยังน้อย – พบว่าความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในกลุ่มที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์ตอนอายุน้อยกว่า 18 ปี เมื่อเทียบกับกลุ่มที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์ตอนอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 21 ปี
  • การมีคู่นอนหลายคน – เมื่อเปรียบเทียบกับคู่นอนคนเดียว พบว่าความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมด เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในคนที่มีคู่นอน 2 คน และเพิ่มเป็น 3 เท่าในคนที่มีคู่นอนมากกว่าหรือเท่ากับ 6 คน คู่นอนที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ คู่นอนที่มีคู่นอนหลายคน หรือคู่นอนที่มีประวัติติดเชื้อ HPV
  • มีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ – เช่น Chlamydia trachomatis, genital herpes
  • ประวัติการเคยเป็นมะเร็งหรือมีเซลล์เยื่อบุผิดปกติ ที่ช่องคลอดหรือที่อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก (vulva or vaginal squamous intraepithelial neoplasia or cancer) ซึ่งเชื้อ HPV เป็นสาเหตุหลักของความผิดปกติชนิดนี้
  • ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Immunosuppression) – เช่น การติดเชื้อ HIV
  • อายุที่เริ่มมีบุตรคนแรก (น้อยกว่า 20 ปี) และการมีบุตรหลายคน
  • สตรีที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำ (Low socioeconomic status)
  • การรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานานตั้งแต่ 5 ปี  ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูกจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาในการรับประทานยาคุมกำเนิดความเสี่ยงจะลดลงหลังหยุดทานยาคุม
  • การสูบบุหรี่ – สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปากมดลูกชนิด squamous cell แต่ไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกชนิด adenocarcinoma เมื่อเทียบกับคนที่ไม่สูบบุหรี่
  • ในสตรีที่มีคู่นอนที่ขลิบอวัยวะเพศ (Circumcision) พบว่ามีโอกาสเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้น้อยกว่า

 

โรคมะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้หลายวิธี เพื่อให้เข้าใจง่าย ขอแบ่งการป้องกันออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่

  • ระดับปฐมภูมิ คือ การป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย การป้องกันระดับนี้มีหลายวิธี เช่น การหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ การมีคู่นอนเพียงคนเดียว การป้องกันโดยการใช้ถุงยางอนามัย นอกจากนั้นปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เป็นการฉีดเพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อไวรัส HPV ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกแนะนำให้ฉีดในเด็กผู้หญิงอายุตั้งแต่ 9 -12 ปี ฉีด 2 เข็ม โดยเข็ม 2 ห่างจากเข็มแรก 6 เดือน อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ต้องทำการฉีดทั้งหมด 3 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรกเป็นเวลา 1 - 2 เดือน และเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มแรก 6 เดือน โดยวัคซีนชนิดนี้สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ 70 - 75 % สามารถฉีดได้จนถึงอายุ 45 ปี
  • ระดับทุติยภูมิ เป็นการตรวจคัดกรองเพื่อหาเซลล์ผิดปกติของปากมดลูกและนำไปสู่การรักษาก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็ง ซึ่งวิธีการตรวจคัดกรองนี้มีหลายวิธี ได้แก่ วิธีตรวจหาเซลล์ผิดปกติบริเวณปากมดลูก หรือที่เรียกว่า “แปบสเมียร์” ซึ่งมีความแม่นยำนอกจากนั้น มีวิธีการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV โดยอาศัยหลักการที่ว่าถ้าไม่มีเชื้อไวรัสก็จะไม่กลายเป็นมะเร็ง

 

 

 

คำแนะนำในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสำหรับสตรีไทย

(อ้างอิง: สถาบันมะเร็งแห่งชาติกรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข)

 

 

การตรวจสุขภาพสำหรับสตรีอายุ ≥35 ปี ที่มีความเสี่ยงต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ

 

  • การชั่งน้ำหนัก ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดภาวะอ้วน BMI>30 kg/m2
  • การตรวจวัดความดันโลหิต : มีการศึกษาพบว่าสตรีที่ทานยาคุมมีความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดอุดตันที่หัวใจและสมอง ดังนั้นการใช้ยาคุมในสตรีที่มีความดันโลหิตสูต้องพิจารณาประโยชน์และความเสี่ยงที่เกิดขึ้น
  • การตรวจไขมันในเลือด : สำหรับสตรีที่ควบคุมไขมันในเลือดดี สามารถใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมขนาดเอสโตรเจน < 35 ไมโครกรัมได้ แต่ในสตรีที่ควบคุมไขมันไม่ดี LDL >160 mg/dL หรือมีความเสี่ยงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ควรพิจารณาการใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว
  • การตรวจเบาหวาน : การใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อเบาหวานชนิด type 2 อย่างไรก็ตามการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมพิจารณาในสตรีที่อายุ <35 ปีคุมเบาหวานได้ดี ไม่สูบบุหรี่ ไม่มีความดันโลหิตสูง เบาหวานเข้าไต (nephropathy) หรือขึ้นจอประสาทตา (retinophaty)
  • การตรวจระบบหลอดเลือดและหัวใจ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 

การทานยาคุมกำเนิด นอกจากการใช้เพื่อคุมกำเนิดแล้วยังมีประโยชน์ในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับประจำเดือน สิว ถุงน้ำในรังไข่แล้ว ยาคุมยังมีประโยชน์ป้องกันมะเร็งรังไข่ มะเร็งโพรงมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เช่นกัน ดังนั้นการเลือกใช้ยาคุมกำเนิดควรพิจรณาข้อบ่งชี้ให้ชัดเจน โดยคำนึงถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่ต้องระวังตลอดการใช้ยาคุมกำเนิด หากมีข้อสงสัยหรือมีอาการผิดปกติจากการใช้ยาคุมกำเนิดควรรีบมาพบแพทย์ทันที

 

การเลือกใช้ยาคุมกำเนิดควรพิจรณาข้อบ่งชี้ให้ชัดเจน โดยคำนึงถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่ต้องระวังตลอดการใช้ยาคุมกำเนิด หากมีข้อสงสัยหรือมีอาการผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์ทันที

 

นัดพบแพทย์คลิก

พญ.ศรีสุภา  เลาห์ภากรณ์

สูติ-นรีเวช

 

 

แก้ไขล่าสุด 27/07/63

 

 

 

Premium Health package ผู้หญิง

ถึงเวลาดูแลสุขภาพอย่างใส่ใจ เราพร้อมดูแลคุณอย่างอบอุ่น

ราคา 3,990 บาท

โปรแกรมตรวจสุขภาพผู้หญิง คัดกรองมะเร็ง l รพ.รามคำแหง

เริ่มตรวจคัดกรองค้นหาภาวะเสี่ยงของโรคมะเร็งเพื่อป้องกันโรคในอนาคตหรือก่อนมะเร็งร้ายจะลุกลาม

ราคา 10,490 บาท

โปรแกรมตรวจสุขภาพบุรุษ ผู้บริหาร l โรงพยาบาลรามคำแหง

เพราะทำงานหนัก การตรวจสุขภาพที่เจาะลึกจึงสำคัญ

ราคา 11,490 บาท

โปรแกรมตรวจสุขภาพ ความดันโลหิตสูง (ผู้ชาย) - รพ.รามคำแหง

"ตรวจสุขภาพความดันโลหิตสูงเป็นประจำ" ตรวจก่อน รู้ก่อน ก็สามารถรักษาอาการผิดปกติได้ทันที

ราคา 5,390 บาท

โปรแกรมตรวจสุขภาพเบาหวานสำหรับผู้ชาย l รพ.รามคำแหง

"โรคเบาหวาน" ไม่ได้ไกลตัวอย่างที่คิด เป็นแล้วรักษาไม่หายขาด รู้ทันป้องกันได้

ราคา 4,890 บาท

โปรแกรมตรวจสุขภาพผู้ชาย คัดกรองมะเร็ง l โรงพยาบาลรามคำแหง

การตรวจคัดกรองจะช่วยป้องกันโรคในอนาคต หรือได้รับการรักษาทันท่วงที

ราคา 6,790 บาท