s การเลือกยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดไหนที่เหมาะกับเรา?

การเลือกยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดไหนที่เหมาะกับเรา?

January 31 / 2024

 

 

การเลือกยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดไหนที่เหมาะกับเรา?

 

 

พญ.ศรีสุภา  เลาห์ภากรณ์

สูติ-นรีเวช

 

ยาคุมกำเนิดมีสองชนิด คือฮอร์โมนรวม (เอสโตรเจนและโปรเจสติน) และฮอร์โมนเดี่ยว (โปรเจสติน) ยาคุมกำเนิดแบบเม็ดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ แบบฮอร์โมนรวม ส่วนแบบฮอร์โมนเดี่ยวพิจารณาใช้กรณีมีข้อห้ามใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรหลังคลอด หรือกรณีใช้เป็นยาคุมฉุกเฉินยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม อาจมีจำนวนเม็ดในแผงยาได้แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่มีแผงละ 21 หรือ 28 เม็ด ซึ่งแตกต่างกันดังนี้

  • ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมแผงละ 21 เม็ด ทุกเม็ดจะมีตัวยาทั้งหมด (ไม่มีเม็ดแป้ง) รับประทานยาในเวลาเดียวกันทุกวัน วันละ 1 เม็ด จนหมดแผง หลังหยุดยาประมาณ 1-3 วันจะเริ่มมีประจำเดือน ให้เริ่มทานแผงใหม่วันที่ 5 ของประจำเดือน
  • ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมแผงละ 28 เม็ด โดยทั่วไปมีตัวยาฮอร์โมนจำนวน 21 เม็ดและไม่มีตัวยาหรือเรียกว่า “เม็ดแป้ง” อีก 7 เม็ด (มีเป็นส่วนน้อยที่ต่างจากที่กล่าวมา เช่น ชนิดแผง 24/4 เม็ด คือมีตัวยา 24 เม็ดและเม็ดแป้ง 4 เม็ด) ซึ่งเม็ดแป้งจะมีสีและ/หรือขนาดเม็ดที่แตกต่างจากเม็ดที่มีตัวยาอย่างชัดเจน รับประทานยาในเวลาเดียวกันทุกวัน วันละ 1 เม็ด จนหมดแผงแล้วขึ้นแผงใหม่ต่อเนื่องกันไป ช่วงที่รับประทานเม็ดแป้งไปประมาณ 1-3 เม็ดจะเริ่มมีประจำเดือนมา

 

 

 

ตัวยาสำคัญในยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม

 

ฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจนที่มีในยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมอาจเป็น ethinyl estradiol, mestranol หรือ estradiol (อาจอยู่ในรูป estradiol valerate) แต่ส่วนใหญ่มักเป็น ethinyl estradiol ซึ่งในอดีตมีปริมาณยาค่อนข้างสูง เช่น ethinyl estradiol 50 ไมโครกรัม ทำให้มีอาการไม่พึงประสงค์มาก ปัจจุบันมีปริมาณ ethinyl estradiol ไม่เกิน 35 ไมโครกรัม บางตำรับอาจมีเพียง 15-20 ไมโครกรัมเท่านั้น การใช้เอสโตรเจนขนาดต่ำจะลดอาการไม่พึงประสงค์ได้มาก โดยเฉพาะอาการคลื่นไส้ ท้องอืดและเจ็บคัดเต้านม อย่างไรก็ตาม อาจมีเลือดออกผิดปกติที่คล้ายประจำเดือนมาแบบกะปริบกะปรอยได้ ฮอร์โมนแต่ละชนิดในกลุ่มเอสโตรเจนให้ผลป้องกันการตั้งครรภ์ได้พอๆ กัน เมื่อใช้ในปริมาณที่มีในผลิตภัณฑ์

 

 

ส่วนฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสตินที่มีในยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมนั้นอาจเป็น levonorgestrel, norethisterone, gestodene, desogestrel, drospirenone, nomegestrol, dienogest หรือ cyproterone acetate ฮอร์โมนเหล่านี้ให้ผลป้องกันการตั้งครรภ์ได้ดีพอๆ กัน

 

นอกจากการคุมกำเนิดแล้วยาคุมยังสามารถใช้รักษาประจำเดือนผิดปกติมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนออกมาก  ปวดประจำเดือน ภาวะถุงน้ำในรังไข่ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ภาวะฮอร์โมนเพศชายเกิน เช่น ขนดก สิว หน้ามัน และยังช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งรังไข่ มะเร็งโพรงมดลูกและมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เช่นกัน

 

 

หลักการเลือกยาคุมกำเนิด

  1. สตรีมีปัญหาสิว หน้ามัน ขนดก แนะนำยาคุมที่มีส่วนประกอบ cyproterone acetate, drospirenone, chlormadinone เช่น Diane-35, Preme, Tina, Sucee, Yasmin, Yaz, Belala ถ้าเป็นสิวรุนแรงแนะนำ Diane-35, Preme, Tina, Sucee 
  2. สตรีที่มีปัญหาประจำเดือนออกมากหรือมีผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน (คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ คัดเต้านม ตัวบวม) แนะนำยาคุมที่มีส่วนประกอบเอสโตรเจนขนาดต่ำ เช่น Mercilon, Meliane, Yaz
  3. สตรีที่กลัวน้ำหนักขึ้นและต้องการรักษาสิวไม่รุนแรง แนะนำยาคุมที่มีส่วนประกอบ Drospirenone เช่น Yasmin, Yaz, Synfonia
  4. สตรีที่มีอาการแปรปรวนทางร่างกายและอารมณ์ก่อนมีประจำเดือน(premenstrual Dysphonic Disorder, PMDD) เช่น ซึมเศร้า แนะนำยาคุมสูตร 24/4 เช่น YAZ, Synfonia
  5. กรณีหลังคลอด≥ 6 สัปดาห์ และให้นมบุตรพิจารณาให้ยาคุมชนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างเดียว

 

สิ่งสำคัญที่ควรทำความเข้าใจในการเลือกใช้ยาคุมกำเนิด คือความมีวินัยในการทานสม่ำเสมอเพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ สิ่งสำคัญคือยาคุมกำเนิดไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ เช่น เอดส์ ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบี และการติดเชื้อไวรัสเอสพีวี(HPV) รวมทั้งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดอุดตัน โดยเฉพาะกลุ่มสตรีอายุมากกว่า 35 ปี และสูบบุหรี่ มีภาวะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง รวมทั้งความเสี่ยงเล็กน้อยต่อมะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก ดังนั้นการเลือกยาคุมกำเนิดควรพิจารณาทั้งข้อดีและข้อควรระวังในสตรีที่มีความเสี่ยงต่อการใช้ยา ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อพิจารณาในการตัดสินใจก่อนทานยาคุมกำเนิด

 

 

การเลือกยาคุมกำเนิดควรพิจารณาทั้งข้อดีและข้อควรระวังในสตรีที่มีความเสี่ยงต่อการใช้ยา ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร

นัดพบแพทย์คลิก

พญ.ศรีสุภา  เลาห์ภากรณ์

สูติ-นรีเวช

 

แก้ไขล่าสุด 27/07/63