ประโยชน์ในการทำอัลตร้าซาวด์แต่ละช่วงอายุครรภ์

February 23 / 2024

ประโยชน์ในการทำอัลตร้าซาวด์แต่ละช่วงอายุครรภ์

 

 

 

พญ. ธิตินันท์ ตัณสถิตย์

สูติ-นรีเวช สาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์

 

 

อายุครรภ์ 5 สัปดาห์

 

เริ่มเห็นถุงการตั้งครรภ์ ขนาดเล็กๆ เป็นวงสีดำ เห็นหน้าไม่ชัดนัก อยู่ในโพรงมดลูก

 

 

 

อายุครรภ์  6 สัปดาห์

 

ทารกในครรภ์อยู่ในถุงการตั้งครรภ์ เริ่มเห็นการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ได้

ควรวินิจฉัยแยกภาวะตั้งครรภ์นอกโพรงมดลูก

 

 

อายุครรภ์  7-10 สัปดาห์

 

เห็นทารกในครรภ์ใหญ่มากขึ้นสามารถวัดขนาดของทารกได้อาจเห็นถุงไข่แดงอยู่ใกล้ๆ กับทารก

 

 

อายุครรภ์  11-14 สัปดาห์

 

ทารกในครรภ์ระยะนี้จะเห็นชัดเจนมากขึ้น สามารถดูอวัยวะแยกเป็นส่วนหัวลำตัวแขนขา ในการตรวจคัดกรองความผิดปกติของทารกในครรภ์ แพทย์เฉพาะทางจะดูความหนาของเนื้อเยื่อในส่วนหลังคอของทารก ดูกระดูกจมูก กระดูกสันหลัง กระเพาะอาหาร กระเพาะปัสสาวะ และผนังหน้าท้องได้ว่าปิดหรือไม่ นอกจากนี้ยังสามารถดูความผิดปกติของเส้นเลือดบางเส้นของทารก และเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงมดลูกมาทำนายความเสี่ยงในการเกิดครรภ์เป็นพิษได้

 

 

 

อายุครรภ์  16-22 สัปดาห์

 

เมื่อทารกโตมากขึ้น อวัยวะเริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้น เป็นช่วงที่เหมาะสมในการอัลตร้าซาวด์เพื่อดูความผิดปกติของทารกในครรภ์ ระยะนี้จะสามารถดูความผิดปกติของอวัยวะได้เกือบทั้งหมด (หากไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของความหนาของผนังหน้าท้อง หรือท่าของทารก) การระบุเพศของทารกและการดูความผิดปกติของหัวใจทารกสามารถดูได้ในอายุครรภ์ช่วงนี้ นอกจากนี้ควรอัลตร้าซาวด์ดูตำแหน่งรกด้วยว่ามีภาวะรกเกาะต่ำหรือไม่

 

 

อายุครรภ์มากกว่า 22 สัปดาห์ขึ้นไป

 

ทารกจะเริ่มสะสมไขมันมากขึ้นเรื่อยๆและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว หากคุณพ่อและคุณแม่ต้องการชมภาพอัลตร้าซาวด์ 4 มิติอายุครรภ์ที่เหมาะสมคือประมาณ 26 ถึง 32 สัปดาห์เราจะได้ภาพที่ออกมามีความน่ารักยังมีปริมาณน้ำคร่ำที่เหมาะแก่การทำอัลตร้าซาวด์  เพื่อเก็บไว้ชมในอนาคต ทั้งยังมีประโยชน์ในการตรวจติดตามการเจริญเติบโต และความผิดปกติของอวัยวะที่อาจเกิดขึ้นได้ในภายหลัง เช่น ภาวะกระบังลมมีช่องโหว่ หรือ มีถุงน้ำในปอด ไตบวม ภาวะลำไส้อุดตัน เป็นต้น

 

 

 

ข้อแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการทำอัลตร้าซาวด์ 4 มิติ

 

  1. ดื่มน้ำเปล่ามากๆ อย่างน้อยวันละ 2 ลิตร เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ก่อนการทำอัลตร้าซาวด์
  2. พักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 6-8 ชั่วโมง
  3. มีเวลาให้คุณหมอทำอัลตร้าซาวด์อย่างน้อยประมาณ 30-45 นาที (เพราะบางครั้งต้องรอให้ทารกเปลี่ยนท่า)

การทำอัลตร้าซาวด์ มีประโยชน์ในการตรวจติดตามการเจริญเติบโต และความผิดปกติของอวัยวะที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ได้

 

นัดพบแพทย์คลิก

พญ. ธิตินันท์ ตัณสถิตย์

สูติ-นรีเวช สาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์

 

แก้ไขล่าสุด 22/07/63