โรคนอนกรน อาจมีสาเหตุจากทางเดินหายใจอุดตันขณะนอนหลับ

February 06 / 2024

 

 

โรคนอนกรน

 

 

นอนกรน อาจมีสาเหตุจากทางเดินหายใจอุดตัน ในขณะนอนหลับ ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า OBSTRUCTIVE SLEEP APNEA SYNDROME (OSAS) คนที่เป็นโรคนี้จะนอนกรนเสียงดังมีอาการคล้ายสำลักหรือสะดุ้งตื่นกลางดึก ต้องลุกไปถ่ายปัสสาวะตอนกลางดึก รู้สึกสมองตื้อ คิดอะไรไม่ออกเพราะง่วงนอนขี้ลืม ไม่ค่อยมีสมาธิ ในการทำงานตื่นขึ้นมาด้วยอาการอ่อนล้า ไม่สดชื่นหรือปวดศีรษะ และต้องการนอนต่ออีกทั้งที่ไม่ได้นอนดึก บางคนอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น จุกแน่นคอเหมือนมีอะไรติดคอ หูอื้อ หงุดหงิดง่าย ขี้โมโห คนข้างเคียงไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน หรือที่ทำงานบ่นว่าคุณอารมณ์เสียบ่อยๆ รวมทั้งมีความรู้สึกทางเพศลดลง

  • นอนกรนเสียงดัง มีผลทำให้แฟนหรือเพื่อนร่วมห้อง ลำบากใจ
  • ง่วงนอนขณะขับรถ มีผลทำให้เกิดอุบัติเหตุ
  • ขี้ลืม ไม่ค่อยมีสมาธิในการทำงาน มีผลทำให้ประสิทธิภาพการทำงานไม่เต็มที่
  • เป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคของหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็น สาเหตุการ
  • ตายอันดับหนึ่งของคนไทย
  • หลับในห้องเรียน ความจำไม่ดี คิดไม่ออก มีผลทำให้เรียนหนังสือไม่เก่ง​

 


นอนกรนรักษาได้ 


คุณเป็นคนนึงที่นอนกรนเสียงดังหรือเปล่า? ตัวคุณเองอาจไม่รู้ลองถามแฟนคุณหรือเพื่อนร่วมห้องของคุณดูซิว่าเป็นยังไง คุณเคยรู้สึกง่วงเหงาหาวนอนในช่วงเวลาทำงานกลางวัน หลับในห้องประชุม ปวดมืนหัวโดยไม่ได้เกิดจากความเครียด คิดอะไรไม่ออกความจำและสมาธิแย่ลง รู้สึกไม่สดชื่นเมื่อตื่นนอนในตอนเช้ารึเปล่า? อาการทั้งหมดนี้อาจมีสาเหตุจากโรคนอนกรนแต่โรคนี้สามารถรักษาทำได้โดยวิธีไม่ผ่าตัด (CPAP) หรือ วิธีผ่าตัดโดยเทคนิคทันสมัย เช่นเดียวกับสถาบันที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลก (Stanford University Medical Center) หลังการรักษาผู้ป่วยส่วนใหญ่จะรู้สึกดีขึ้นมาก นอนหลับได้อย่างมีความสุข ไม่มีการสะดุ้งตื่นขณะหลับ ตื่นนอนด้วยความรู้สึกสดชื่นแจ่มใส พร้อมที่จะทำงานความทรงจำและสติปัญญาดีขึ้น และอาการนอนกรนเสียงดังอันน่ารำคาญของคุณหายไป แฟนหรือเพื่อร่วมห้องของคุณจะมีความสุขมากขึ้น

 

 

การรักษาอาการนอนหลับที่ผิดปกติ ในภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ 

 

  • งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดยานอนหลับหรือยากล่อมประสาท หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชา กาแฟ การควบคุมน้ำหนักโดยการจำกัดปริมาณและชนิดอาหาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง กล้ามเนื้อตื่นตัว และเป็นมาตรการในการลดน้ำหนัก นอนในท่าตะแคง หลีกเลี่ยงการนอนในท่านนอนหงาย และควรนอนศีรษะสูงเล็กน้อย รีบปรึกษาแพทย์ เมื่อมีอาการหยุดหายใจขณะหลับ แพทย์พิจารณาแนวทางการรักษาจากความรุนแรง และสาเหตุของโรค ในกรณีผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากผู้ป่วยควรใส่เครื่อง Nasal CPAP (Nasal Continuous Positive Airway Pressure) เครื่องนี้จะปล่อยแรงดันบวก และจะทำให้ช่องทางเดินหายใจที่แคบกว้างขึ้น จึงทำให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกและหลับสบายขึ้น ในปัจจุบันการรักษา ด้วยวิธีนี้ ถือว่าเป็นการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด

  • กรณีผู้ป่วยมีความผิดปกติชัดเจน บริเวณช่องทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ต่อมทอนซิลโตมากหรือเพดานอ่อนยาวผิดปกติ หรือกรณีผู้ป่วยที่มีปัญหาในการใช้เครื่อง Nasal CPAP แพทย์อาจทำการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติดังกล่าวได้

การผ่าตัดรักษานอนกรนด้วยเลเซอร์ (LASER ASSISTED UVULOPALATOPLASTY) เป็นวิธีหนึ่งในการผ่าตัดรักษานอนกรน โดยใช้เลเซอร์ไม่ต้องวางยาสลบไม่ต้องอยู่โรงพยาบาลหลังผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้กินอาหารอ่อน และไม่ทำให้เสียงพูดเปลี่ยนไปคุณยังคงสามารถพูดได้เหมือนเดิม

 

 


อัตราเสี่ยงต่อโรคเทียบกับคนปกติ 


โรคความดันโลหิตสูง ------------------ > มีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนปกติ 1.5 – 2.5 เท่าโรคหัวใจขาดเลือด    ------------------ > มีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนปกติ 2 - 4 เท่า
โรคของหลอดเลือดในสมอง ---------- > มีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนปกติ 2 เท่า​

 

 

ภาวะหยุดหายใจจากทางเดินหายใจอุดตันในขณะนอนหลับ OBSTRUCTIVE SLEEP APNEA SYNDROME (OSAS) 


ตามปกติเวลาคนเรานอนหลับทางเดินหายใจส่วนลำคอจะแคบลงเนื่องจากเพดานอ่อน ลิ้นไก่ และลิ้นตกไปด้านหลังตามน้ำหนักของเนื้อเยื่อ ร่วมกับการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อของลิ้น และเพดานอ่อนขณะนอนหลับแต่อย่างไรก็ตามในคนปกติทางเดินหายใจส่วนนี้กว้างขวางเพียงพอที่จะเป็นทางนำอากาศจากจมูกผ่านไปยังหลอดลมได้ผู้ป่วยโรคนี้มีช่องคอแคบจากเนื้อเยื่อเพดานอ่อน ลิ้นไก่หรือลิ้น มีขนาดใหญ่และหย่อนยานหรือมีคางสั้นมาก เวลาหายใจขณะหลับจะมีการสั่นสะเทือนของเพดานอ่อน ลิ้นไก่ หรือโคนลิ้น ทำให้เกิดเป็นเสียงกรนผู้ป่วยมักมีเสียงกรนไม่สม่ำเสมอมีลักษณะของการกลั้นหายใจ หรือสำลักน้ำลายตามด้วยการสะดุ้งหรือหายใจอย่างแรงเหมือนขาดอากาศ อาจเกิดขึ้นหลายสิบ หรือหลายร้อยครั้งต่อคืน

 

 

ในขณะที่มีการหยุดหายใจออกซิเจนในเลือดแดงจะต่ำลงทำให้เกิดความผิดปกติ ในการทำงานของอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะหัวใจ หลอดเลือด ปอด และสมอง เป็นผลให้สมองต้องถูกปลุกให้ตื่นขึ้น เพื่อเปิดทางเดินหายใจ และทำให้ ออกซิเจนสามารถผ่านเข้าไปในปอดได้อีก หลังจากนั้นไม่นานสมองจะเริ่มหลับอีกการหายใจก็จะเริ่มขัดข้องอีกแล้วปลุกสมองให้ตื่นขึ้นอีกวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำอีกเช่นนี้ไปตลอดคืน ทุกคืนเป็นผลให้สมรรถภาพการนอนหลับเสียไป รวมทั้งทำให้เกิดผลเสียต่ออวัยวะต่างๆ แบบเรื้อรัง

 

 

ปัญหาง่วงนอนมากผิดปกติ 
 

การนอนหลับมีความสำคัญต่อชีวิตและสุขภาพส่วนมากคนเราต้องการนอนหลับประมาณ 7-8 ชั่วโมง เราอาจสังเกตได้ด้วยตัวเองว่านอนหลับได้เพียงพอหรือไม่โดยอาศัยความรู้สึกของตัวเองเมื่อตื่นนอนเช้า ถ้าตื่นนอนเช้าด้วย ความรู้สึกสดชื่นแจ่มใส พร้อมที่จะทำงานต่างๆ อย่างเต็มที่ แสดงว่าได้รับการพักผ่อนนอนหลับมาอย่างเพียงพอแต่ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีความรู้สึกปวดหัวทุกวันหลังตื่นนอน หรือยังง่วงนอนอยู่ถึงแม้ว่าได้นอนมาแล้วหลายชั่วโมงแสดงว่านอนไม่พอหรือการหลับนั้นขาดคุณภาพ

ในผู้ป่วยที่มีปัญหาง่วงนอนมากผิดปกติจากการนอนหลับที่ขาดคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีนอนกรนร่วมด้วย อาจมีสาเหตุจากภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก และมีความสัมพันธ์กับโรคอื่นๆ อีกหลายโรค เช่น โรคความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดในสมอง อันเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้  

 

 

การตรวจการนอนหลับ (Polysomnography) 
 

เป็นการตรวจด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยสามารถบอกได้ว่าคุณภาพในการนอนของคืนนั้นๆ เป็นอย่างไร หลับได้ดีหรือสนิทเพียงไร มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในขณะนอนหลับ โดยที่ผู้ป่วยเองไม่สามารถทราบได้ โดยเฉพาะภาวะหยุดหายใจขณะหลับ การตรวจ การนอนหลับ นี้ประกอบด้วย  

  • การตรวจวัดคลื่นสมอง เพื่อวัดระดับความลึกของการนอนหลับ
  • การตรวจวัดการทำงานของกล้ามเนื้อขณะหลับ
  • การตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะหลับ
  • การตรวจวัดลมหายใจที่ผ่านเข้าออกทางจมูกและปาก
  • การตรวจวัดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทรวงอก และกล้ามเนื้อหน้าท้อง ที่ใช้ในการหายใจ ทั้งหมดนี้ใช้เวลาในการตรวจวัดช่วงกลางคืน อย่างน้อยประมาณ 6-8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาปกติของการหลับ ของคนทั่วไป 

 

 

อ่านรายละเอียดแพ็กเกจเพิ่มเติมได้ที่ > https://bit.ly/3HmfkSd

 

 

แก้ไข

05/02/2567