s โรคน้ำคั่งในโพรงสมอง หรือภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ คืออะไร

โรคน้ำคั่งในโพรงสมอง หรือภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ คืออะไร

January 08 / 2024

 

โรคน้ำคั่งในโพรงสมอง หรือภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ

 

 

 

 

อะไรคือโพรงสมอง? อะไรคือน้ำไขสันหลัง?

 

สมองของคนเราไม่ใช่เป็นแค่ก้อนเนื้อก้อนไขมันตันๆ สักก้อน หากแต่มันจะมีโพรงอยู่ตรงกลาง เราเรียกมันว่า "โพรงสมอง" ส่วน น้ำไขสันหลัง หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Cerebrospinal fluid ก็คือน้ำที่สร้างขึ้นในโพรงสมอง แล้วไหลเวียนหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังของเรา อยู่ทั้งในโพรงสมอง และห่อหุ้มทั้งสมองและไขสันหลังของเราไว้ หน้าที่หลักของมันก็คือนำอาหารไปเลี้ยงสมอง และรับเอาของเสียจากสมองไปทิ้ง นอกจากนั้นยังทำตัวเป็นฉนวนลดแรงกระแทกต่อสมองที่อาจจะเกิดขึ้นเวลาที่หัวหรือหลังของเราถูกกระทบกระแทกอีกอย่างหนึ่งด้วย ร่างกายสร้างน้ำไขสันหลังขึ้นมาโดยสกัดออกมาจากเลือดแดง โดยหลอดเลือดแดงชนิดพิเศษภายในโพรงสมอง และไหลเวียนไปตามโพรงต่างๆ ในสมอง แล้วไหลออกมาอยู่ใต้เยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง จากนั้นก็จะดูดซึมกลับเข้าหลอดเลือดดำใหญ่ที่ผิวสมอง น้ำไขสันหลังถูกสร้างขึ้นวันละประมาณ 500 ซีซี แต่ความจุของโพรงสมองของคนปกติทั่วไปมีแค่ประมาณ 70-80 ซีซี บวกกับช่องใต้เยื่อหุ้มสมองลำไขสันหลังอีก รวมๆ กันก็มีที่ให้น้ำไขสันหลังอยู่ได้ไม่เกิน 150-200 ซีซี เป็นอย่างมาก 

 

 


การสร้างและการดูดซึมกลับของน้ำไขสันหลังต้องอยู่ในสมดุล เพราะฉะนั้น หากมีอะไรเป็นสาเหตุให้มีการสร้างน้ำไขสันหลังมากขึ้นกว่าปกติมากๆ จนดูดซึมกลับไม่ทัน หรือการดูดซึมกลับมีประสิทธิภาพลดน้อยลง หรือแม้แต่การไหลเวียนของน้ำไขสันหลังจากในโพรงสมองไปยังใต้เยื่อหุ้มสมองและผิวสมอง ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดน้ำไขสันหลังคั่งในโพรงสมองได้ทั้งสิ้น 

 


โรคหรือภาวะผิดปกติที่พบบ่อยที่ทำให้เกิดน้ำคั่งในโพรงสมอง

 

น้ำไขสันหลังในโพรงสมองมีหลากหลาย อาทิเช่น เนื้องอกของหลอดเลือดส่วนที่ทำหน้าที่สร้างน้ำไขสันหลัง ทำให้น้ำไขสันหลังผลิตออกมามากกว่าปกติ หรือเนื้องอกในโพรงสมองหรือเนื้อสมองที่ไปเบียดทำให้น้ำไขสันหลังไหลเวียนได้ไม่ดี หรือโพรงสมองตีบตัน ทั้งจากการตีบตันแต่กำเนิด หรือมีซีสต์ มีพยาธิ มีก้อนเลือด ก้อนเนื้อไปอุดตันตามโพรงสมองและเส้นทางไหลเวียนของน้ำไขสันหลัง เป็นต้น ถ้าเกิดในเด็กที่กระหม่อมยังไม่ปิดหรือตะเข็บกะโหลกยังไม่สมานสนิท กะโหลกก็ยังจะพอขยายได้แต่นานเข้าก็จะทำให้เนื้อสมองบางลงๆ หัวก็จะโตขึ้นๆ กลายเป็นเด็กหัวบาตร หรือหัวแตงโมอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ แต่ถ้าเกิดในเด็กโต วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ กระหม่อมปิดแล้ว ตะเข็บกะโหลกก็สมานสนิทแล้วกะโหลกขยายไม่ได้อีกแล้ว ก็จะมีอาการปวดหัว ชัก หมดสติ และเสียชีวิตได้ เพราะความดันในกะโหลกศีรษะหรือความดันของน้ำไขสันหลังที่เพิ่มสูงขึ้นจากการคั่งของน้ำไขสันหลังนั่นเอง ซึ่งต้องการการรักษาช่วยเหลือให้ทันท่วงที 

 

 

 

ภาวะน้ำไขสันหลังคั่งในโพรงสมองที่เกิดในผู้สูงอายุ เกิดจากอะไร? และจะแก้ไขได้อย่างไร?

 

ภาวะน้ำไขสันหลังคั่งในโพรงสมองในผู้สูงอายุ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการคั่งของน้ำไขสันหลังแบบค่อยเป็นค่อยไป จะเรียกว่าแบบเรื้อรังก็ได้ เกิดขึ้นตามสัจธรรมของพุทธศาสนา หรือความเสื่อมแห่งสังขาร คือเกิดจากการไหลเวียนของน้ำไขสันหลังที่เลวลง ไม่ถึงกับอุดตัน แต่ไหลได้ไม่คล่องเหมือนเดิม ประกอบกับตัวกรองน้ำไขสันหลังกลับเข้าเลือดดำที่หลอดเลือดดำตรงผิวสมองก็ทำงานได้ไม่ดีเหมือนเดิม อาจจะเพราะใช้งานมานาน มีตะกรันตะกอนมาอุดตัน หรืออะไรก็ตามแต่ ซึ่งแม้การสร้างน้ำไขสันหลังจะไม่เปลี่ยนไปสักเท่าไหร่ แต่ก็สามารถทำให้น้ำไขสันหลังคั่งค้างสะสมอยู่ในโพรงสมองได้ วันละเล็กวันละน้อย จะว่าไปอาจจะคั่งค้างเพียงแค่วันละไม่ถึงซีซีด้วยซ้ำไป แต่นานเข้าๆ เป็นปี เป็นหลายๆ ปี มันก็คั่งจนทำให้โพรงสมองขยายโตขึ้นที่ละน้อยจนเบียดเนื้อสมองได้ในที่สุด เป็นเพราะภาวะน้ำไขสันหลังคั่งในโพรงสมองชนิดที่เกิดในผู้สูงอายุนี้เกิดอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป จึงทำให้ร่างกายทนการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยเป็นค่อยไปนี้ได้นานกว่าการคั่งของน้ำไขสันหลังในกรณีอื่นๆ

 

 

 

อาการของโรคน้ำคั่งในโพรงสมอง

 

เมื่อถึงจุดหนึ่งอาการผิดปกติก็ย่อมปรากฏให้เห็น เปล่าเลย อาการของภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองที่สำคัญไม่ใช่ปวดหัว แต่เป็นการทำงานของสมองที่เปลี่ยนไป มีลักษณะเด่นของอาการ 3 อย่าง

  • ความจำเสื่อม หรือแย่ลง
  • การเดินที่ผิดปกติ เดินลำบาก หรือเดินไม่ได้ดี ล้มบ่อย มีอาการเกร็ง อาการสั่นของแขนขา คล้ายคลึงกับคนเป็นโรคพาร์กินสัน
  • กลั้นปัสสาวะไม่อยู่คล้ายคนที่ต่อมลูกหมากโต แต่นี่เป็นอาการสำคัญที่ทำให้แยกออกจากโรคพาร์กินสันได้

ก็เพราะการที่มันมีอาการคล้ายโรคอื่นๆ หลายอย่างแบบนี้นี่เอง ที่ทำให้บางครั้งภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองถูกละเลย ถูกมองข้ามไป

 

.

 

 

การวินิจฉัยโรคน้ำคั่งในโพรงสมอง

 

การวินิจฉัยโรคน้ำคั่งในโพรงสมองทำได้ไม่ยาก ตั้งแต่การตรวจที่ไม่เจ็บตัว เช่น การใช้เครื่องตรวจสมองด้วยสัญญาณแม่เหล็ก (MRI brain scan) ตรวจดูขนาดของโพรงสมอง ตรวจวัดการไหลเวียนของน้ำไขสันหลัง วัดความเร็วการไหลของน้ำไขสันหลังในโพรงสมอง ไปจนถึงการตรวจที่ต้องเจ็บตัวสักหน่อย แต่ให้การยืนยันการวินิจฉัยที่แน่นอน เช่น การเจาะไขสันหลังเพื่อวัดความดันน้ำไขสันหลังโดยตรง เอาน้ำไขสันหลังออกมาตรวจ และลองระบายน้ำไขสันหลังทิ้งสัก 40-80 ซีซี หากความดันน้ำไขสันหลังสูงกว่าปกติและเมื่อระบายน้ำไขสันหลังออกเสียบ้าง อาการต่างๆ ก็ดีขึ้น เช่น เดินดีขึ้น ไม่เซไม่ล้มง่าย สั่นน้อยลง เกร็งน้อยลง อย่างนี้ก็เชื่อขนมกินได้เลยว่าเกิดภาวะน้ำไขสันหลังคั่งในโพรงสมองแล้วแน่นอน 

 

 

การรักษาโรคน้ำไขสันหลังคั่งในโพรงสมอง

 

สำหรับการรักษาสมัยนี้ไม่ยากเลย เพียงแค่เปลี่ยนทางเดินของน้ำไขสันหลังจากที่มันจะต้องไปดูดซึมกลับที่ผิวสมองเพียงที่เดียว ให้ไปดูดซึมกลับโดยเยื่อบุช่องท้องอีกแรงหนึ่งเท่านี้ก็เรียบร้อย หลังการรักษาที่ถูกต้อง คนไข้จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตที่เป็นปกติได้อีกนาน หลายรายที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคพาร์กินสัน สามารถลดยาที่กินลงได้มาก และมีอีกจำนวนหนึ่งที่อาจจะหยุดยาไปได้เลย ต้องเข้าใจไว้ด้วยว่าภาวะนี้คือภาวะที่เกิดขึ้นตามสัจธรรมแห่งสังขารที่เป็นอนิจจัง เพียงแต่ทำอย่างไรจะช่วยให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุขกับลูกหลานเป็นกำลังใจ เป็นที่เคารพให้ลูกหลาน ดูแลท่านให้สมกับที่ท่านได้เลี้ยงดูเรามา มีบุญคุณกับเราอย่างชนิดที่ไม่สามารถทดแทนได้หมด ไม่ว่าจะเกิดอีกกี่ชาติก็ตามที่สำคัญ สักวันหนึ่งเมื่อเราสูงวัย เราก็มิอาจหนีสัจธรรมนี้ไปได้เช่นกัน
 

ภาวะโรคน้ำไขสันหลังคั่งในโพรงสมอง หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง คนไข้จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตที่เป็นปกติได้อีกนาน

 

 

นัดพบแพทย์คลิก

นพ.วทัญญู ปรัชญานนท์

ประสาทศัลยศาสตร์

 

 

แก้ไข

31/03/2565