เนื้องอกในสมอง เกิดจากอะไร ภัยร้ายใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

June 18 / 2024

 

เนื้องอกในสมองอันตรายแค่ไหน รักษาได้หรือไม่ ?

เนื้องอกในสมอง โรคทางระบบประสาท สมองถือเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายที่ช่วยส่งสัญญาณในการดำเนินชีวิตในด้านต่าง ๆ จึงไม่แปลกที่ทุกครั้งหากมีอะไรเกิดขึ้นกับสมอง เรามักกังวลว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีเนื้องอกในสมองมักส่งความรู้สึกด้านลบเหล่านี้ ออกมาให้ผมสัมผัสได้

ในฐานะของหมอศัลยกรรมประสาท การรักษาโรคเนื้องอกในสมองต้องเริ่มต้นจากการรักษาความกังวลต่อโรคก่อน คลายความสงสัยว่ามันมาจากไหน? รักษาได้ไหม? แล้วจะถึงขั้นเสียชีวิตเหมือนในหนังหรือไม่? ดังนั้น หากตัวท่านเองหรือญาติพบว่ามีเนื้องอกในสมอง อย่าลืมหายใจเข้าออกช้า ๆ ทำใจให้สบาย และมีสติ เพราะมันคือ จุดเริ่มต้นที่สำคัญในการรักษา แล้วเดี๋ยวผมจะเฉลยว่ามันสำคัญอย่างไรครับ

 

สารบัญ

 

 

เนื้องอกในสมองแบ่งได้เป็นกี่ชนิด ?

ผมจะบอกคนไข้เสมอว่า เนื้องอกในสมองมี 2 แบบ

  • แบบดี คือ เนื้องอกที่โตช้า ใช้เวลาหลายปีในการที่เนื้องอกจะขยายขนาด
  • แบบไม่ดี คือ เนื้องอกที่โตเร็ว ซึ่งอาจเพิ่มขนาดเป็นเท่าตัว ภายในเวลาแค่ 3-4 สัปดาห์ ที่เรามักเรียกว่า "มะเร็ง" 

     

ดังนั้น หากท่านไม่มีประวัติเป็นมะเร็งในร่างกาย จากสถิติจะพบว่า ราว 70% ของเนื้องอกในสมองนั้น เป็นเนื้องอกแบบดี หลังจากการทำการวินิจฉัยแล้ว แพทย์จะพยายามระบุชนิดของเนื้องอกให้ชัดเจน ซึ่งในปัจจุบัน สามารถแบ่งย่อยได้ถึง 130 ชนิด  โดยในการระบุเบื้องต้น ผมขอแบ่งออกเป็น 2 แบบคร่าว ๆ คือ 

  • เนื้องอกที่กำเนิดมาจากเซลล์สมอง
  • เนื้องอกที่ไม่ได้มาจากเซลล์สมอง แต่มาจากอวัยวะรอบ ๆ สมอง เช่น เยื่อหุ้มสมอง กระโหลก ปลอกหุ้มเส้นประสาท หรือ เนื้อร้ายที่กระจายมาจากส่วนอื่น

ความต่างของชนิดเนื้องอกทำให้แผนการรักษา และการพยากรณ์โรคแตกต่างกัน ในการยืนยันชนิดของเนื้องอก ต้องอาศัยการตรวจชิ้นเนื้อ ดังนั้น ความเห็นของแพทย์ก่อนที่จะได้ผลชิ้นเนื้อ มาจากความน่าจะเป็นที่ได้จากประวัติและภาพเอกซเรย์ว่าเนื้องอกของคุณน่าจะเป็นแบบไหน

 

เนื้องอกในสมอง อยู่ได้นานแค่ไหน

ปวดหัวแบบไหนเสี่ยงภัยเนื้องอกในสมอง ?

อาการที่พบได้ทั่วไป คือ อาการปวดศีรษะติดต่อกันหลายสัปดาห์ และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น โดยมักเกิดขึ้นตอนเช้า ดังนั้น หากพบว่ามีอาการปวดศีรษะในลักษณะดังกล่าว ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ

 

อาการอย่างไร ถึงเข้าข่ายโรคเนื้องอกสมอง ?

เนื่องจากหลอดเลือดของผู้ที่มีเนื้องอกในสมองถูกกดทับ หรือถูกดึงรั้งจากเนื้องอก ผู้ป่วยจึงมักมีอาการคลื่นไส้ ไม่สบายท้อง ร่วมกับ “อาการปวดศีรษะ” ซึ่งเป็นอาการร่วมโดยทั่วไปของทั้ง "เนื้องอกธรรมดาและเนื้อร้าย” โดยจะมีอาการปวดศีรษะตั้งแต่ปานกลางถึงรุนแรงมาก และมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ โดยลักษณะอาการมักแตกต่างกันไปตามตำแหน่งและขนาดของเนื้องอก และนอกจาก “อาการปวดศีรษะ” ที่เป็นสัญญาณเตือนของกลุ่มโรคทางสมองส่วนใหญ่แล้ว เรายังสามารถสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยได้ เช่น

  • แขนขาอ่อนแรง
  • มีอาการชัก
  • ตาพร่ามัว
  • เห็นภาพซ้อน
  • มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง

 

สัญญาณที่บ่งชี้ที่ต้องรีบพบแพทย์

หากมีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง และมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงอาการอ่อนแรงที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายหรืออาการชัก ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

 

เนื้องอกในสมองมีกี่ระยะ ?

ความแตกต่างของเนื้องอกในสมองคือ จะไม่มีการแบ่งระยะ (Stage) ของเนื้องอกว่าอยู่ในระดับใดต่างจากเนื้องอกชนิดอื่น ๆ แต่จะใช้การวัดระดับของเนื้องอกตามลำดับการเจริญเติบโตโดยหลัก Who Classification ระบุเป็น WHO grade ตั้งแต่ระดับ 1-4 โดยระดับ 1 คือ เนื้องอกที่ไม่อันตรายและเติบโตช้า ส่วนระดับ 4 คือเซลล์มะเร็งที่เติบโตอย่างรวดเร็วหรือมีการลุกลาม

 

การวินิจฉัยโรคเนื้องอกในสมอง

ในเบื้องต้น แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และทำการตรวจหาเนื้องอกด้วยการสแกนสมองด้วยเครื่องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูขนาดของเนื้องอกและรายละเอียดโดยรอบ

 

วิธีรักษาเนื้องอกในสมอง

เนื้องอกในสมองรักษาได้ไหม ?

เนื้องอกในสมองรักษาได้ ทว่าผลการรักษานั้นขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด และตำแหน่ง โดยการรักษาแบ่งออกเป็น 3 วิธีดังนี้

วิธีที่ 1 : การเฝ้าติดตาม

การเฝ้าติดตามเพื่อดูขนาดและพฤติกรรมของเนื้องอกในสมองอย่างใกล้ชิดผู้ป่วยในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ มักพบเนื้องอกในสมองโดยบังเอิญจากการตรวจด้วย CT หรือ MRI และไม่มีอาการผิดปกติ เนื้องอกในสมองประเภทนี้มักอยู่มานานและไม่มีผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย

วิธีที่ 2 : การผ่าตัด

การผ่าตัดเป็นวิธีที่มีความจำเป็นในกรณีที่เนื้องอกมีอาการผิดปกติ หรือ เป็นเนื้อดีที่ผ่านการเฝ้าติดตามแต่มีขนาดใหญ่ขึ้น ปัจจุบัน มีการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก หรือ Minimally Invasive Surgery เหมาะสำหรับเนื้องอกในสมองบางชนิด โดยจะใช้ร่วมกับการใช้เครื่องมือช่วยนำทาง (Navigator) ทำให้การผ่าตัดแม่นยำและปลอดภัย

วิธีที่ 3 : การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด

การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด เป็นการรักษาด้วยวิธีการอื่น ๆ ได้แก่

ทั้งนี้วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด ตำแหน่ง อายุ และความแข็งแรงของผู้ป่วย โดยวิธีการรักษานี้ เรามักจะใช้เป็นวิธีทางเลือก หรือ ควบคู่ไปกับการผ่าตัดมากกว่าที่จะใช้เป็นวิธีหลักในการรักษา

หลังจากที่ทราบถึงวิธีการรักษา หลายท่านอาจยังสงสัยว่า แล้วผลการรักษาเป็นอย่างไร ? มีโอกาสหายขาดหรือไม่ ? จากการศึกษาพบว่า เนื้องอกในสมองหลายชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ และมีโอกาสน้อยที่ผู้ป่วยจะกลับมาเป็นอีก จึงอยากให้ทุกท่านสบายใจและเตรียมพร้อมสำหรับการรักษาในทุกขั้นตอน

 

การเตรียมการก่อนพบแพทย์

ก่อนการนัดหมายพบแพทย์ ผู้ป่วยควรเตรียมข้อมูลให้พร้อม เช่น ข้อมูลส่วนบุคคลรวมถึงโรคประจำตัว อาการที่เกิดขึ้นและความรุนแรง ยาที่ใช้ในปัจจุบัน รวมถึงคำถามที่ต้องการถามแพทย์ โดยแนะนำให้ผู้ป่วยพาญาติหรือคนใกล้ตัวมาพบแพทย์ด้วย

 

เนื้องอกในสมอง สาเหตุ

เพราะสาเหตุใด ทำไมถึงเป็นเนื้องอกในสมอง ?

แม้ก่อนหน้านี้ เราไม่สามารถทราบถึงสาเหตุการเกิดโรคได้อย่างแน่ชัด แต่ในปัจจุบัน เมื่อความรู้ทางด้าน Epigenetic (กลไกที่เกิดขึ้นก่อนระดับพันธุกรรมที่มีผลต่อยีน) มีมากขึ้น จึงพบว่า ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดเนื้องอกในสมองได้ โดยสาเหตุสำคัญ คือวิธีการใช้ชีวิต (Lifestyle) ยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความเครียด ซึ่งความเครียดนั้น สามารถส่งสัญญาณให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนความเครียด มีผลให้เซลล์เกิดความผิดปกติ และลดการกำจัดเซลล์ผิดปกติของร่างกาย และท้ายที่สุด จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของเนื้องอกได้ ดังนั้น การตั้งสติ ลดความเครียด จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเตรียมพร้อมต่อสู้กับโรคเนื้องอกในสมองได้เป็นอย่างดี

 

หลักปฏิบัติง่ายๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเนื้องอกในสมอง

เนื่องจากสาเหตุของเนื้องอกในสมองยังไม่ทราบเป็นที่แน่ชัด แนวทางการป้องกันจึงทำได้เพียงดูแลสุขภาพ รวมถึงหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็ง อาทิ

  • งดสูบบุหรี่

  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

  • พักผ่อนให้เพียงพอ

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 

  • หลีกเลี่ยงความเครียด

เพียงเท่านี้ ก็สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกสมองได้

คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

อาการปวดหัวจากเนื้องอกในสมอง แตกต่างจากอาการปวดหัวทั่วไปอย่างไร ?

อาการปวดหัวเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปของผู้ที่มีเนื้องอกในสมอง แต่อาการมักจะรุนแรงมากกว่าอาการปวดหัวทั่วไป และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รับประทานยาแล้วไม่ทุเลา อีกทั้ยังอาจรู้สึกคลื่นไส้ร่วมด้วย โดยมักมีอาการรุนแรงในช่วงเช้าเนื่องจากเนื้องอกจะบวมขึ้นขณะหลับ

ภาวะแทรกซ้อนของเนื้องอกในสมองมีอะไรบ้าง ?

อาการแทรกซ้อนของเนื้องอกในสมอง อาจส่งผลร้ายแรงหรือความเสียหายที่นำไปสู่ความพิการของร่างกาย โดยอาการแทรกซ้อนที่พบเป็นส่วนใหญ่ได้แก่ การสูญเสียความจำ ปัญหาในการมองเห็น การได้ยิน การพูดหรือการดมกลิ่น ในบางรายอาจมีอาการชัก แขนขาอ่อนแรง อัมพาตครึ่งล่าง หรือมีปัญหาด้านกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ รวมไปถึงโอกาสเกิดโรคปอดอักเสบ

หลังจากการรับรักษา จะกลับมาเป็นได้อีกหรือไม่ ?

โรคเนื้องอกในสมองแบบไม่ดี (เนื้อร้าย) สามารถกลับมาเป็นได้ แต่โดยส่วนใหญ่ เนื้องอกที่กลับมาเป็นซ้ำมักจะอยู่ใกล้เคียงตำแหน่งเดิม มีเพียงบางรายที่อาจพบในบริเวณอื่น ดังนั้น ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วจึงควรพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ

 

เนื้องอกในสมอง รักษาหายไหม

สรุป

 

เนื้องอกในสมองนั้นสามารถรักษาได้ แต่ผลของการรักษาเนื้องอกในสมองนั้นอาจจะมีความต่างกันแล้วแต่ชนิด ตำแหน่ง และขนาด ของเนื้องอก นอกจากนี้ประเด็นสำคัญที่ควรต้องทราบหลังจากได้รับการวินิจฉัยโรคเนื้องอกในสมองนะครับ คือ

  1. เนื้องอกในสมองเป็นเนื้อดีหรือไม่ดี
  2. เกิดจากเซลล์สมองเองหรือไม่
  3. วิธีการรักษาที่เหมาะสมในเวลานี้คืออะไร

และที่สำคัญที่สุด คือ ต้องอย่าลืมดูแลใจให้เข้มแข็งไว้ตลอดนะครับ เมื่อเรามีสติจะทำให้เรารู้จัก เข้าใจ บางสิ่งบางอย่างได้ดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้นครับ

 

ติดต่อนัดพบแพทย์

ติดต่อนัดพบแพทย์

อ้างอิง

 

  1. De Robles P, Fiest KM, Frolkis AD, et al. The worldwide incidence and prevalence of primary brain tumors: a systematic review and meta-analysis. Neuro Oncol 2015;17:776-83.
  2. Perkins A, Liu G. Primary Brain Tumors in Adults: Diagnosis and Treatment. Am Fam Physician 2016;93:211-7.
  3. Hunter RG. Epigenetic effects of stress and corticosteroids in the brain. Front Cell Neurosci 2012;19;6:18
  4. Mack SC, Hubert CG, Miller TE, et al. An epigenetic gateway to brain tumor cell identity. Nat Neurosci 2016;19:10-9.
  5. Sapienza C, Issa JP. Diet, Nutrition, and Cancer Epigenetics. Annu Rev Nutr 2016;36:665-81.
  6. Alegría-Torres JA, Baccarelli A, Bollati V. Epigenetics and lifestyle. Epigenomics 2011;3:267-77.
  7. Esteller M. Epigenetics provides a new generation of oncogenes and tumour-suppressor genes. Br J Cancer 2006;94:179-83.
  8. Nieto SJ, Patriquin MA, Nielsen DA, et al. Don't worry; be informed about the epigenetics of anxiety. Pharmacol Biochem Behav 2016;146-147:60-72.
  9. Quick brain tumor fact ( https://braintumor.org/brain-tumor-information/brain-tumor-facts/)