วัยทอง วัยหมดประจำเดือน

December 23 / 2024

 

 

วัยทอง

 

 

 

     การได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถบอกได้ว่าท่านเข้าสู่วัยทองแล้วหรือยัง และท่านควรจะได้รับการดูแลรักษาอย่างไรจึงจะเหมาะสมและให้ประโยชน์สูงสุดกับตัวท่านเอง

 

ภาวะวัยทอง

     วัยทอง วัยหมดประจำเดือน หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อเรียกต่างๆ เช่น วัยทอง หรือวัยหมดระดู คือ วัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจ ที่เกิดจากการขาดฮอร์โมนเพศ ซึ่งฮอร์โมนเพศหญิงส่วนใหญ่สร้างมาจาก รังไข่ เมื่อผู้หญิงอายุมากขึ้น การทำงานของรังไข่จะลดลงทำให้ระดับของฮอร์โมนเพศหญิงค่อยๆ ลดลงตามลำดับและนำมาซึ่งความผิดปกติต่างๆ ในหลายระบบของร่างกาย

 

เมื่อเข้าสู่วัยทองแล้วจะมีอาการอย่างไร

     อาการของวัยทองจะมีทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้อาจจะมีระยะเวลานานตั้งแต่ไม่กี่วันจนถึงหลายๆปีขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล อาจจะเริ่มมีอาการตั้งแต่ก่อนหมดประจำเดือนหลายปีหรือหลังจากหมดประจำเดือนไปแล้วจึงค่อยเริ่มมีอาการ และอาการเหล่านี้อาจจะเป็นๆ หายๆ หรือเกิดตลอดก็ได้

 

วัยทอง

 

 

อาการของวัยทอง

อาการทางด้านร่างกายซึ่งพบได้ในผู้ที่เข้าสู่ภาวะวัยทอง

  • เริ่มมีรอบประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ ทั้งในด้านของปริมาณและระยะเวลาที่มี
  • อาการร้อนวูบวาบตามตัวหรือรู้สึกหนาวร้อนตามร่างกายคล้ายจะเป็นไข้
  • เหงื่อออกมากขึ้น โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
  • มีปัญหาในเรื่องการนอนหลับ
  • เวียนศีรษะ หรือ ปวดศีรษะ
  • ปวดตามกล้ามเนื้อ หรือ ปวดตามข้อต่างๆ
  • ผิวหนังแห้งกร้าน เหี่ยวย่น ขาดความชุ่มชื้น
  • มีอาการใจสั่น หรือ รู้สึกใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรงในการทำกิจกรรมต่างๆ
  • ช่องคลอดแห้งทำให้เกิดอาการเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์
  • มีการติดเชื้อในช่องคลอด หรือ กระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อยๆ
  • อาการปัสสาวะเล็ดราด หรือ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่

 

อาการทางด้านจิตใจซึ่งพบได้ในผู้ที่เข้าสู่ภาวะวัยทอง

  • อาการวิตกกังวล
  • อาการซึมเศร้า
  • อาการหงุดหงิดกระวนกระวาย
  • ความต้องการทางเพศลดลง
  • ขาดสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ
  • ขี้หลงขี่ลืมง่าย

 

 

การรักษาภาวะวัยทอง

เมื่อท่านเข้าสู่ภาวะวัยทอง ท่านควรได้รับคำปรึกษาแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

 

  • การป้องกันรักษาภาวะกระดูกพรุน โดยการตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก
  • การตรวจหาสารเคมีในเลือดที่เป็นตัวบ่งบอกถึงอัตราการสร้างและการสลายของเนื้อกระดูกในร่างกายว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด
  • ให้คำแนะนำในการรับประทานอาหารที่มีส่วนช่วยส่งเสริมสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหารบางประเภท เช่น อาหารที่มีไขมันสูง อาหารรสหวานจัด เป็นต้น
  • การออกกำลังกายที่เหมาะสม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต การลดความเครียดต่างๆ
  • การเลือกใช้ชนิดและรูปแบบของฮอร์โมนที่เหมาะสม ในรายที่มีความจำเป็นในการใช้ฮอร์โมน แพทย์จะเป็นผู้ที่ช่วยให้คำแนะนำการใช้และดูแลผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น  รวมถึงการเลือกใช้ชนิดและรูปแบบของฮอร์โมนที่เหมาะสม เนื่องจากฮอร์โมนไม่ได้มีเฉพาะในรูปยารับประทานอย่างเดียวแต่ยังมีในรูปแบบต่างๆ เช่น ครีมทาผิวหนัง แผ่นติดผิวหนัง ชนิดสอดช่องคลอด เป็นต้น
  • การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง หรือผู้ที่ต้องการตรวจอย่างละเอียดก็สามารถปรึกษากับแพทย์ผู้ให้การดูแลรักษาด้านวัยทองได้

 

การตรวจมวลกระดูกก็จำเป็นสำหรัลเตรียมเข้าสู่วัยทอง

     การตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์แก่ผู้ที่เข้าสู่ภาวะวัยทองก่อนที่จะเกิดปัญหากระดูกหักได้ และอาจก่อให้เกิดความพิการและความสิ้นเปลืองเรื่องค่าใช้จ่ายตามมา ดังนั้นการตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ และให้การป้องกันรักษาภาวะกระดูกพรุนเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์แก่ผู้ที่เข้าสู่ภาวะวัยทองก่อนที่จะเกิดปัญหากระดูกหักได้

 

 

วัยทองเกิดจากระดับฮอร์โมนเพศหญิงลดลงเมื่ออายุมากขึ้นสามารถบอกได้ว่าท่านเข้าวัยทอง ควรได้รับการดูแลรักษาอย่างไรจึงจะเหมาะสมและให้ประโยชน์สูงสุด