วัคซีนผู้ใหญ่ ฉีดไว้ห่างไกลโรค

March 31 / 2022

 

 

วัคซีนผู้ใหญ่ ฉีดไว้ห่างไกลโรค

 

 

 

ทำไมต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ? 

 

สังคมไทยเรามีแนวโน้มว่าจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา และที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยนั่นคือ ปัญหาสุขภาพ​ และรายจ่ายในการดูแลสุขภาพ ดังนั้น​ การหมั่นดูแลสุขภาพของตนเอง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตลอดจนหมั่นมาตรวจสุขภาพร่างกายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค ย่อมดีกว่ารอให้ป่วยแล้วจึงค่อยมาพบแพทย์เพื่อรักษาในวันที่สายเกินไป

 

โดย “วัคซีน” ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ให้สามารถป้องกันการติดเชื้อจากโรคที่สามารถป้องกันได้

 

 

โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า ในช่วงวัยเด็กหากฉีดวัคซีนครบแล้ว เมื่อถึงวัยผู้ใหญ่ก็ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนซ้ำอีก เพราะร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงวัคซีนหลายชนิดที่เคยฉีดนั้น ไม่สามารถป้องกันโรคได้ตลอดชีวิต เพราะภูมิคุ้มกันโรคจากวัคซีนที่ฉีดนั้นจะเสื่อมลงไปตามอายุที่มากขึ้น

 

ดังนั้น​ ถึงแม้จะอยู่ในวัยผู้ใหญ่แล้วก็ตาม ก็ยังจำเป็นต้องได้รับวัคซีน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย  เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้แล้ว ยังช่วยลดโอกาสการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลไม่ให้เสียค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนมากแล้ว ยังช่วยลดอัตราการเสียชีวิตที่เกิดจากการติดเชื้อได้อีกด้วย

 

 

 

วัคซีนที่ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุควรฉีดมีอะไรบ้าง? 

 

  1. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine) แนะนำให้ฉีดทุกปี เนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ทุกปี โดยฉีดปีละ 1 ครั้ง ช่วงก่อนมีการระบาด ในประเทศไทยมักระบาด 2 ช่วงคือช่วงฤดูฝน และช่วงฤดูหนาว ทั้งนี้ห้ามฉีดในผู้ที่แพ้ไข่อย่างรุนแรง เนื่องจากไข่เป็นส่วนหนึ่งในขบวนการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่
  2. วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (Diphtheria-Tetanus-Pertussis vaccineย่อว่า DTP) แนะนำให้ฉีด 1 ครั้ง โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีบาดแผลหรือทำงานเสี่ยงต่อการเกิดบาดทะยักที่ โดยฉีด 3 ครั้ง ครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 1-2 เดือน และครั้งที่ 3 ห่างจากครั้งที่สอง 6-12 เดือน และฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน
  3. วัคซีนอีสุกอีใส (Varicella vaccine) ควรฉีดในผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน โดยฉีด 2 ครั้งห่างกัน 4-8 สัปดาห์ หญิงวัยเจริญพันธุ์ควรหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์เป็นเวลา 1 เดือนหลังฉีดวัคซีน
  4. วัคซีนงูสวัด แนะนำให้ฉีดในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปเนื่องจากเป็นช่วงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคงูสวัดสูงสุด ผู้ป่วยที่มีอายุ 50 - 59 ปีที่มีความประสงค์จะรับวัคซีนนี้ ควรปรึกษาแพทย์เนื่องจากวัคซีนนี้สามารถป้องกันโรคงูสวัดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในช่วง 5 ปีแรก แนะนำฉีดเพียงครั้งเดียว ไม่ต้องมีการฉีดกระตุ้นซ้ำ
  5. วัคซีนป้องกันเอชพีวี (ผู้หญิง) เป็นวัคซีนที่ช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูก แนะนำให้แก่เด็กวัยรุ่นหญิง ผู้หญิงอายุ 9-26 ปี ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนเอชพีวีในหญิงตั้งครรภ์ หลังฉีดวัคซีนแล้วยังต้องมารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ
  6. วัคซีนเอชพีวี (ผู้ชาย) แนะนำให้ฉีดโดยเฉพาะกลุ่มชายรักร่วมเพศเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีบริเวณทวารหนักและการเป็นมะเร็งของทวารหนัก (anal cancer) เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงมากต่อการติดเชื้อเอชพีวีแล้วเป็นรอยโรคและมะเร็งบริเวณอวัยวะเพศ
  7. วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม (Measles-Mumps-Rubella vaccine ย่อว่า MMR) ในผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยป่วยเป็นโรคทั้ง 3 นี้มาก่อน รวมทั้งผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนไม่ครบ 2 ครั้ง ควรได้รับวัคซีนรวมอย่างน้อย 1 ครั้ง หญิงวัยเจริญเจริญพันธุ์ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันมาก่อน ควรได้รับวัคซีนหัดเยอรมันหรือวัคซีนรวมหัด หัดเยอรมัน คางทูมอย่างน้อย 1 ครั้ง และหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์เป็นเวลา 3 เดือนหลังฉีดวัคซีน
  8. วัคซีนนิวโมคอคคัส (Pneumococcal vaccine) เพื่อป้องกันการติดเชื้อเชื้อนิวโมคอคคัสที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคติดเชื้อในกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ(มากกว่า 65ปี) ผู้ที่ไม่มีม้าม หรือผู้โรคเรื้อรัง โดยในผู้ใหญ่ฉีดวัคซีนชนิด 23-valent polysaccharide pneumococcal vaccine โดยฉีดเพียงครั้งเดียว แต่อาจฉีดกระตุ้นอีกครั้งหลังฉีดครั้งแรก 3-5 ปี
  9. วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A vaccine) โรคนี้ติดต่อทางอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ ผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคตับเรื้อรัง ผู้ที่มีอาชีพประกอบอาหาร หรือผู้อาศัยอยู่ในที่ที่มีผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างแออัด โดยฉีด 2 ครั้งห่างกัน 6-12 เดือน เชื่อว่าจะมีภูมิคุ้มกันนานเกิน 10 ปี
  10. วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B vaccine) แนะนำให้ฉีดเนื่องจากคนที่ติดเชื้อส่วนหนึ่งเมื่อหายจากตับอักเสบอาจกลายเป็นพาหะของโรค โดยสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ทางสารคัดหลั่ง เช่น ทางเพศสัมพันธ์ จากแม่สู่ลูกขณะคลอด ทางการให้เลือด หรือการใช้สิ่งของร่วมกัน อีกทั้งผู้ที่มีเชื้ออยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลานานอาจเป็นตับอักเสบเรื้อรัง และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับในอนาคต โดยวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีต้องฉีดทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งที่ 2 ห่างครั้งแรก 1 เดือน ครั้งที่ 3 ห่างครั้งแรก 6 เดือน

 

 

 

คำแนะนำการฉีดวัคซีนในผู้หญิงที่วางแผนตั้งครรภ์

 

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ทุกรายควรได้รับวัคซีนตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ แต่มีบางรายที่ไม่เคยรับวัคซีนมาก่อนที่จะตั้งครรภ์ ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะติดโรค ซึ่งวัคซีนที่แนะนำให้ฉีดมีดังนี้

 

  1. วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เป็นวัคซีนที่จำเป็นสำหรับหญิงตั้งครรภ์ทุกคน ถึงแม้ว่าหญิงตั้งครรภ์ผู้นั้นจะเคยได้รับวัคซีนมาก่อนก็ตาม   โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการฉีดเพื่อให้ภูมิคุ้มกันไปสู่ลูกได้มากที่สุดคือ ขณะอายุครรภ์ 27 - 36 สัปดาห์ เป็นวัคซีน 3 ชนิด ที่ฉีดพร้อมกันใน 1 เข็ม สาเหตุที่ต้องฉีด  เพราะขณะนี้โรคคอตีบได้กลับมาระบาดอีก ในรายที่รุนแรงอาจทำให้แม่และลูกในท้องเสียชีวิตได้  ส่วนโรคไอกรน พบว่าลูกที่ป่วยเป็นโรคไอกรนจะติดเชื้อมาจากแม่ ถ้าฉีดให้แม่ก็จะป้องกันให้ลูกที่คลอดออกมาได้ประมาณ 6 เดือน และวัคซีนป้องกันบาดทะยัก จะช่วยป้องกันการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์และคลอดบุตรด้วย
  2. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่ทำอันตรายสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เพราะหากเป็นแล้วจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หรือหัวใจวายได้ จึงแนะนำให้วัคซีนนี้ฉีด 1 เข็ม ป้องกันได้ 1 ปี

 

“ วัคซีนหลายชนิดที่เคยฉีด” ไม่สามารถป้องกันโรคได้ตลอดชีวิต​ เพราะจะเสื่อมลงไปตามอายุที่มากขึ้น