s บทความสุขภาพโรงพยาบาลรามคำแหง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

บทความสุขภาพโรงพยาบาลรามคำแหง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

February 22 / 2024

หัวใจเต้นผิดจังหวะ

 

 

การทำงานของหัวใจ

 

หัวใจของคุณเป็นอวัยวะขนาดเท่ากำปั้นที่ทำหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนอื่นของร่างกาย หัวใจถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ฝั่งซ้ายทำหน้าที่รับส่งเลือดแดงที่มีออกซิเจน ส่วนฝั่งขวาทำหน้าที่รับส่งเลือดดำที่ออกซิเจนถูกนำไปใช้แล้ว หัวใจแต่ละฝั่งถูกแบ่งเป็นหัวใจห้องบนที่รับเลือด และ หัวใจห้องล่างที่ส่งเลือด

  • หัวใจห้องขวาบนจะรับเลือดที่ไม่ค่อยมีออกซิเจน แล้วส่งให้ห้องขวาล่างเพื่อส่งต่อไปที่ปอด
  • หลังจากเลือดได้รับการออกซิเจนแล้ว เลือดจะถูกส่งต่อไปที่หัวใจห้องซ้ายบน
  • หลังจากนั้น หัวใจห้องซ้ายล่างจะปั๊มเลือดที่มีออกซิเจนส่งไปส่วนอื่นของร่างกาย

 

 

 

ลิ้นหัวใจ

 

หัวใจคุณมีลิ้นอยู่สี่อัน ลิ้นหัวใจพวกนี้ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เลือดไหลในทิศทางที่ผิด ลิ้นหัวใจของคุณจะเปิดเพื่อให้เลือดไหลไปในทิศทางเดียว การที่จะทำหน้าที่นี้ได้ลิ้นหัวใจต้องมีรูปร่างที่ถูกต้อง สามารถเปิดได้เต็มที่ และ ปิดได้มิดชิด ไม่รั่ว

 

 

 

ระบบไฟฟ้าหัวใจ

 

หัวใจของคุณมีระบบไฟฟ้าของตัวเองที่ไม่ได้ถูกสั่งงานโดยสมอง ระบบไฟฟ้าของหัวใจทำหน้าที่กำกับจังหวะการเต้นของหัวใจ

  • แรงกระตุ้นไฟฟ้าจะเริ่มในหัวใจห้องบน และ เดินทางผ่านทางเฉพาะที่อยู่ระหว่างหัวใจห้องล่างทั้งสองห้อง แล้วไปกระตุ้นให้หัวใจห้องล่างบีบตัว
  • ระบบนี้ทำให้หัวใจของคุณเต้นเป็นจังหวะ และ ทำให้เลือดไหลได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการสะดุด

 

 

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

 

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นความผิดปกติของการเต้นของหัวใจ ที่อาจเต้นเร็วหรือช้าเกินไปไม่สัมพันธ์กับสภาวะของร่างกายขณะนั้น หรือเต้นผิดจังหวะ ซึ่งภาวะนี้เกิดจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้าของหัวใจ คุณอาจมีอาการหัวใจเต้นพลิ้ว หรือ รู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็วและรัว อาการพวกนี้อาจทำให้คุณรู้สึกรำคาญ แต่ในบางกรณี อาจทำให้คุณมีอันตรายถึงชีวิต

 

อาการของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

 

บ้างครั้งอาการของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจสังเกตได้ยาก คุณอาจมีอาการเหล่านี้โดยไม่รู้ตัวเลย ดังนั้นการที่คุณหมอพบว่าคุณเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะทั้งที่ไม่มีอาการจึงไม่ใช่เรื่องแปลก

อาการของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมีดังต่อไปนี้

  • หัวใจเต้นพลิ้ว
  • หัวใจเต้นเร็วหรือช้าเกินไป
  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจไม่ทัน
  • มึนศีรษะ
  • เป็นลม

 

สาเหตุของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

 

สาเหตุของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะถูกแบ่งได้เป็นสองประเภทหลักคือ สาเหตุที่เกิดจากหัวใจโดยตรง และสาเหตุที่เกิดจากปัจจัยอื่นๆ 

สาเหตุที่เกิดจากหัวใจโดยตรง หมายถึง การมีอาการของโรคหัวใจที่เกิดจากภาวะหัวใจอื่นๆ อย่างเช่น การเคยเป็นหัวใจวายมาก่อนอาจทำให้มีแผลเป็นในหัวใจ ที่ทำให้ระบบไฟฟ้าของหัวใจมีปัญหา จนทำให้มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้นเอง

 

ส่วนสาเหตุที่เกิดจากปัจจัยอื่นๆ หมายถึง การมีอาการโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดจากวิธีให้ชีวิต หรือ โรคอื่นที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะสูง อย่างเช่น ความดันโลหิตสูง ต่อมไทรอยด์ ทำงานมากหรือน้อยเกินไป โรคเบาหวาน โรคนอนกรน สูบบุหรี่ หรือ ดื่มแอลกอฮอล์

 

 

 

การวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

 

หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไม่ได้เป็นตลอดเวลา ในขณะที่มาพบแพทย์อาจไม่มีการเต้นผิดจังหวะ การให้ประวัติ อธิบายอาการเวลาเป็น การให้ข้อมูลยา และพฤติกรรมต่างๆ จะช่วยให้แพทย์มีข้อมูลสำหรับวินิจฉัยและวางแผนการรักษาได้ดียิ่งขึ้น และหากตอนพบแพทย์ไม่มีอาการ ตรวจคลื่นหัวใจปกติ แพทย์อาจแนะนำให้ติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจติดตัวกลับบ้าน เพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติที่เกิดขึ้นทั้งขณะที่เกิดอาการ หรือไม่เกิดอาการ หลังจากนั้นแพทย์จะนำข้อมูลที่บันทึกได้ ไปประกอบคำวินิจฉัยและให้การรักษาได้ต่อไป

 

 

 

วิธีการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

 

การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะแบ่งเป็นสามส่วนคร่าวๆ 

  • ไลฟ์สไตล์ เช่น งดบุหรี่ คาเฟอีน หยุดยาที่กระตุ้น
  • การให้ยา ในรายที่อาการไม่รุนแรงควบคุมได้
  • การฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ เช่น ในคนไข้ heart block ที่ติด pacemaker หรือติดเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติแบบฝังในร่างกาย ในคนไข้หัวใจห้องล่างเต้นผิดปกติรุนแรงซึ่งอาจอันตรายถึงแก่ชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาทันที

 

  • การใช้สายสวนเพื่อจี้กล้ามเนื้อหัวใจที่นำไฟฟ้าผิดปกติ ถ้าคุณหมอพบจุดกำเนิดไฟฟ้าผิดปกติในหัวใจ ที่สามารถรักษาด้วยการจี้ทำลายจุดผิดปกติได้ คุณหมออาจแนะนำให้คุณทำ การใช้สายสวนเพื่อจี้กล้ามเนื้อหัวใจที่นำไฟฟ้า หรือ การใช้สายสวนหัวใจร่วมกับเครื่องมือนำวิถีพิเศษ เพื่อเข้าถึงจุดกำเนิดไฟฟ้าผิดที่ปกติและจี้ทำลาย โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับส่วนอื่นของหัวใจ เพื่อคืนการส่งสัญญาณไฟฟ้าที่เป็นปกติให้หัวใจกลับมาเต้นปกติได้อีกครั้ง และช่วยเพิ่มโอกาสการหายเป็นปกติ โดยไม่ต้องกินยาควบคุมตลอดชีวิต

 

หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดจากระบบไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ซึ่งการเข้าถึงจุดกำเนิดไฟฟ้าที่ผิดปกติ เป็นการรักษาโดยไม่เกิดอันตราย ช่วยเพิ่มโอกาสการหายเป็นปกติ และไม่ต้องกินยาควบคุมตลอดชีวิต