โรคภูมิแพ้ (Allergy) เป็นหวัดบ่อย เป็นโรคภูมิแพ้หรือไม่

December 29 / 2024

โรคภูมิแพ้

 

 

 

     โรคภูมิแพ้ (Allergy) เป็นภาวะตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายหลังได้รับสารแพ้ ซึ่งเกิดขึ้นได้กับอวัยวะหนึ่งหรือหลายอวัยวะร่วมกัน ก่อนแสดงอาการผ่านทางตา หู คอ จมูก ทางเดินหายใจส่วนล่าง ทางเดินอาหารหรือทางผิวหนัง สารแพ้มีอยู่หลายชนิด ซึ่งแต่ละคนอาจแพ้สารคนละชนิดกัน

 

โรคภูมิแพ้ติดต่อหรือไม่

     แม้โรคภูมิแพ้ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่ก็ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ โดยพบว่าหากพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกก็มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณ 60% อย่างไรก็ตาม หากพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคภูมิแพ้ ลูกก็มีโอกาสเป็นประมาณ 30%
 

 

เป็นหวัดบ่อยเป็นโรคภูมิแพ้หรือไม่

     คำว่า "โรคหวัด" เป็นคำรวมที่มักหมายถึงอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จาม คันหรือแสบจมูก เจ็บคอ เป็นต้น โรคภูมิแพ้ทางจมูกก็มีอาการเหล่านี้เหมือนกัน ฉะนั้นกรณีที่เป็นหวัดบ่อยก็อาจมีสาเหตุมาจากโรคภูมิแพ้ได้ โดยแพทย์สามารถวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจและทดสอบภูมิแพ้
 

 

 

โรคภูมิแพ้โรคภูมิแพ้โรคภูมิแพ้

 

 


อาการและภาวะแทรกซ้อนจากโรคภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้ส่วนใหญ่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกรำคาญ อึดอัด ส่วนอันตรายที่อาจเกิดได้ ได้แก่

 

  • การแพ้โดยตรง เช่น แพ้อาหาร แพ้แมลงกัดต่อยบางชนิด เป็นต้น อาการที่เกิดค่อนข้างมากและเป็นในระยะเวลาสั้นๆ เช่น บวม ผื่นคัน หอบ หรือ ช็อค เสียชีวิตได้                                  
  • ผลกระทบข้างเคียงต่ออวัยวะต่าง ๆ เช่น ไซนัสอักเสบ หูน้ำหนวก คออักเสบ เป็นต้น

 

 

     


โรคภูมิแพ้และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องเป็นโรคทางภูมิคุ้มกันเหมือนกัน แต่กลไกการเกิดต่างกัน ฉะนั้นโรคทั้งสองจึงไม่เกี่ยวข้องกันเลย



 

 

 

โรคภูมิแพ้

 

 

การรักษาโรคภูมิแพ้ 

     สิ่งที่สำคัญที่สุดในการรักษาโรคภูมิแพ้คือการหลีกเลี่ยงสารที่แพ้ หากไม่พบสารที่แพ้ ก็จะไม่เกิดปฏิกิริยาทางภูมิแพ้ขึ้น ฉะนั้นการรู้ว่าแพ้อะไรและหลีกเลี่ยงอย่างไรจึงสำคัญมาก วิธีการรักษาอื่น ๆ ได้แก่

 

1.  การรับประทานยา พ่นยาหรือฉีดยา

     เนื่องจากการเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้สักครั้ง ย่อมมีสาเหตุจากสารเคมีหลายชนิดที่เกิดขึ้นในร่างกาย ซึ่งสารเคมีเหล่านี้มีผลต่ออวัยวะต่าง ๆ จนเกิดอาการขึ้น การใช้ยาจึงเป็นตัวแก้ไขของสารเคมีเหล่านี้ ที่สำคัญได้แก่ ยากลุ่ม Antihistamine Steroid แม้ว่ายากลุ่มสเตียรอยด์ทั้งแบบชนิดทานหรือฉีดทำให้อาการทางภูมิแพ้ลดลงรวดเร็ว แต่อันตรายก็สูงมากเช่นกัน ฉะนั้นการใช้ยาชนิดนี้ต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์อย่างถูกต้อง

 

2.  การกระตุ้นภูมิแพ้ต่อสารภูมิแพ้

     วิธีนี้เป็นการนำสารแพ้ (ผู้ป่วยต้องถูกทดสอบก่อนว่าแพ้อะไร) มากระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต่อสารนั้นในระดับที่เหมาะสม แต่วิธีนี้ผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมืออย่างมาก เพราะการรักษาต้องใช้เวลานานและต่อเนื่องจึงได้ผลดี ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่ทำให้หายขาดจากโรคภูมิแพ้ได้ เพียงแต่ช่วยทุเลาอาการให้ดีขึ้นในระยะยาว และช่วยป้องกันโรคที่อาจเป็นผลข้างเคียงจากภูมิแพ้ได้

 

 

โรคภูมิแพ้

 

 

ไรฝุ่นในบ้าน (House Dust Mite) 

     ไรฝุ่นบ้านเป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็กมาก ประมาณ 0.2-0.5 มม. มี 8 ขา ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้เล็กน้อย เจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้เร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม อาหารของไรฝุ่นบ้าน ได้แก่ สะเก็ดผิวหนัง รังแค เป็นต้น ตัวเมียหนึ่งตัวสามารถวางไข่ได้ถึง 300 ฟองและใช้เวลาเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยนานประมาณ 14-20 วัน

 

ช่วงชีวิตของไรฝุ่นบ้าน 

     ช่วงชีวิตของไรฝุ่นบ้านแตกต่างกัน ตัวผู้มีช่วงชีวิตประมาณ 60-80 วัน ขณะที่ตัวเมียมีชีวิตอยู่นานประมาณ 100-150 วัน ชนิดของไรฝุ่นบ้านมีอยู่มากมายหลายชนิดซึ่งในแต่ละประเทศจะพบมากน้อยต่างชนิดกัน สำหรับในประเทศไทยจะพบชนิด D. pteronyssinus และ D. farinae ได้บ่อย โดยเฉพาะชนิด D. pteronyssinus จะพบได้มากที่สุด

 

ปัญหาการแพ้จากไรฝุ่นบ้านเกิดได้ 2 ทาง 

  • อุจจาระของไรฝุ่นบ้าน
  • ตัวไรของไรฝุ่นบ้าน

 

 

 

โรคภูมิแพ้

 

 

 

การควบคุมไรฝุ่นในบ้าน 

     เนื่องจากแหล่งที่อยู่ของไรฝุ่นบ้านที่สำคัญที่สุดคือ ห้องนอน ฉะนั้นการดูแลห้องนอนอย่างถูกต้องจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องไรฝุ่นบ้านอย่างมาก

 

อ่านเพิ่มเติม: "กุมารแพทย์ รพ.รามคำแหง" แจงภัยฝุ่นพิษ - โรงพยาบาลรามคำแหง

 

วิธีการดูแลทำได้ดังนี้

  • ควรหลีกเลี่ยงหมอน ที่นอนและอุปกรณ์ที่ทำจากนุ่น
  • คลุมที่นอน หมอน ด้วยผ้าพลาสติก
  • ควรต้มผ้าปูที่นอน หมอน ทุกอาทิตย์
  • ไม่ปูพรมในห้องนอน
  • ลดอุปกรณ์ตกแต่งในห้องนอน ซึ่งอาจเป็นแหล่งสะสมฝุ่นละออง

 


โรคภูมิแพ้ ไม่ใช้โรคติดต่อ แต่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ การรักษาคือหลีกเลี่ยงสารที่แพ้ เพราะจะไม่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือปฏิกิริยาขึ้น