โรคหืด หรือโรคหอบหืดในเด็ก คล้ายผู้ใหญ่

October 25 / 2024

โรคหอบหืดในเด็ก

 

 

 

     โรคหืด (Asthma) หรือ โรคหอบหืดในเด็กมีลักษณะสำคัญคล้ายกับโรคหืดในผู้ใหญ่ กล่าวคือ มีการอักเสบของเยื่อบุหลอดลมอย่างต่อเนื่องซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งความไวของหลอดลมต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ จึงทำให้เกิดภาวะหลอดลมตีบตัน อย่างไรก็ตาม โรคหอบหืดในเด็กรักษาให้กลับคืนสู่ภาวะปกติหรือใกล้เคียงปกติด้วยยาขยายหลอดลม 

 

จะทราบได้อย่างไรว่าเด็กเป็นโรคหืด

     เนื่องจากเด็กไม่สามารถสื่อความหมายหรือบอกถึงอาการหอบ หายใจแน่น หรือเหนื่อยได้เหมือนผู้ใหญ่ ดังนั้น พ่อแม่ หรือผู้ปกครองต้องสังเกตอาการต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น

  • ไอบ่อย หายใจเร็ว หน้าอกบุ๋ม บางครั้งได้ยินเสียงวี๊ด
  • อาการไอเป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งอาจมีไข้หรือ น้ำมูกร่วมด้วย
  • ระยะเวลาในการเป็นหวัดและไอจะนานกว่าเด็กปกติ
  • ไอมากตอนกลางคืนและเช้ามืด
  • หลังออกกำลังกายจะไอมากหรือเหนื่อยหอบ
  • อาการไอจะดีขึ้นเมื่อได้ยาขยายหลอดลม

 

โรคหอบหืดในเด็ก

 

การวินิจฉัยจากกุมารแพทย์

     อาการเหล่านี้จะบ่งบอกถึงภาวะตีบแคบของหลอดลมและหลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ซึ่งกุมารแพทย์จะซักประวัติ อาการร่วม ความถี่ ความรุนแรง ผลกระทบต่อการเรียนหรือการทำงาน การตรวจร่างกาย การทดสอบสมรรถภาพทางปอด (เด็กโต) ประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว การได้รับควันบุหรี่ รวมถึงสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการหอบหืดเพื่อให้การวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของโรคหืด


 

โรคหืดในเด็กเกิดขึ้นได้อย่างไร

  • ปัจจัยภายใน คือพันธุกรรม หากมีญาติสายตรง ได้แก่ พ่อ แม่ พี่น้องที่เป็นโรคหืดหรือภูมิแพ้ โอกาสที่จะเป็นโรคหืดสูงกว่าคนทั่วไป
  • ปัจจัยภายนอก ได้แก่ สารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ เศษโปรตีนจากสัตว์เลี้ยง ละอองเกสร และสารระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ควันรถ ก๊าซพิษต่าง ๆ


โรคหืดในเด็กรักษาได้อย่างไร 

  • หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งกระตุ้นต่างๆ ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการรักษาโรคหืด
  • การใช้ยา ซึ่งมียาหลายชนิดทั้งในรูปแบบของยาพ่น ยากิน ยาฉีดวัคซีนภูมิแพ้   ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาตามความรุนแรงของโรค
  • พบแพทย์และติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง

 

โรคหืดทำให้เด็กมีสุขภาพและจิตใจที่ไม่สมวัย ดังนั้นควรได้รับการรักษาดูแล และได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็ก