โรคข้อเข่าเสื่อม รวบสาเหตุ-อาการเมื่อปวดเข่า

January 03 / 2025

โรคข้อเข่าเสื่อม

 

 

 

     โรคข้อเข่าเสื่อมยังเป็นหนึ่งโรคที่พบบ่อยในผู้สูงวัย เมื่อร่างกายก้าวขึ้นเลข 4 ร่างกายก็เริ่มไม่สมดุลอย่างเคย ยิ่งเป็นเรื่องกระดูกซึ่งเกี่ยวกับความมั่นคง ตั้งตรง และแข็งแรงของร่างกายแล้ว เมื่อแตก หักและเสื่อมสภาพยิ่งปวดร้าว ทำเช่นไรจึงจะทุเลาอาการหนักเป็นเบาลงได้ แพทย์ด้านกระดูกจากศูนย์กระดูกและข้อพร้อมพาพบคำตอบ

 

 

 

โรคข้อเข่าเสื่อม

 

 

 

กายวิภาคของข้อเข่า

     เนื่องจากข้อเข่าประกอบด้วยกระดูก 3 ส่วน ได้แก่ กระดูกต้นขา กระดูกส่วนหน้าแข้งและกระดูกสะบ้า เมื่องอหรือยืดเข่าจะปรากฏส่วนที่มนตรงปลายสุดของกระดูกต้นขา ซึ่งจะหมุนอยู่บนกระดูกส่วนหน้าแข้งและติดกับกล้ามเนื้อด้านหน้าของเข่า ช่วยให้เคลื่อนไหวทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างที่เราต้องการ และลดการเอียงหรือบิดของกล้ามเนื้อ

 

โรคข้อเข่าเสื่อม

     โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) คือภาวะความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อซึ่งลึกถึงชั้นโครงสร้างในข้อเข่า  เมื่อผิวข้อของกระดูกอ่อนสึกหรอจะส่งผลให้ข้อฝืด เมื่อขยับจะรู้สึกถึงการเสียดสีของกระดูก หากปล่อยไว้นานจนเริ่มเสื่อมรุนแรงจะเกิดอาการปวด เดินลำบาก ขึ้น - ลงบันไดไม่ได้ เหยียดหรืองอเข่าได้ไม่สุด ก่อนขาลีบ เข่าโก่งจนผิดรูป

 

 

 

โรคข้อเข่าเสื่อมโรคข้อเข่าเสื่อม

 

 

 

สาเหตุของข้อเข่าเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อมเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปวดข้อเข่าในผู้สูงอายุ โดยอาการปวดที่เกิดจากภาวะข้อเข่าเสื่อมนี้เกิดจากสาเหตุ

 

  • แรงที่กดผ่านผิวข้อเข่า ยิ่งถ้าน้ำหนักตัวมาก แรงกดก็มากจะทำให้ปวดเวลาลุก ยืน เดิน นั่งเฉย ๆ จะไม่ปวด
  • ผลสืบเนื่องจากอุบัติเหตุ ซึ่งทำให้โครงสร้างเข่าบาดเจ็บ เช่น หมอนรองเข่าฉีกขาดแล้วไม่ได้รับการรักษา
  • การอักเสบของข้อเข่า เกิดจากการใช้งานหรือมีกิจกรรมที่งอเข่ามาก ๆ เช่น นั่งพับเพียบ ขัดสมาธิ นั่งยอง ๆ ขี่จักรยานอานเตี้ย ขึ้นลงบันไดมากๆ ทำให้ผิวข้อเข่ากดดันมาก เกิดการอักเสบของข้อเข่า ทำให้มีอาการปวดถึงแม้จะไม่ลุกยืน เดิน บางรายอาจมีอาการเข่าบวมร้อนหรือโต
  • ภาวะกล้ามเนื้อเอ็นรอบเข่าตึงตัว บางรายเมื่อเกิดภาวะการณ์อักเสบจะงอเข่าไว้ หรือเดินมาก ทำให้กล้ามเนื้อรอบ ๆ เข่าตึงตัว เกร็ง ทำให้มีอาการปวดได้
  • การติดเชื้อในข้อเข่าและภูมิคุ้มกันที่ผิดปรกติ เช่น ติดเชื้อแบคทีเรียในข้อเข่า โรครูมาตอย โรคเกาต์ เชื้อสามารถเข้าทำลายกระดูกอ่อน

 

โรคข้อเข่าเสื่อม

 

 

 

ความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อม

     จากสถิติเมื่อปี 63 พบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่า 6 ล้านคน เกิดจากการใช้งานหนักตั้งแต่สมัยยังหนุ่มสาว และมีแนวโน้มมากขึ้นเมื่อเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย นอกจากนี้ยังพบว่าโรคยังมีส่วนเกี่ยวโยงถึงความผิดปรกติอื่น เช่น พันธุกรรมแต่กำเนิด โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

 

การวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม

  • ตรวจอาการและความสามารถในการงอเข่าของผู้ป่วย เช่น มีอาการปวดเข่าเป็น ๆ หาย ๆ ปวดมากเวลาเดินลงน้ำหนัก เสียงดังกร๊อบแกร๊บในข้อเข่า งอได้มากสุดเท่าไรหรือยืดขาได้มากแค่ไหน 
  • ตรวจลักษณะของข้อเข่า ทั้งตอนที่ขาโก่งออกหรือโก่งเข้าก็ได้ บางครั้งอาจต้องเดินหรือขึ้นลงบันไดเพื่อหาดูความผิดปรกติ 
  • การถ่ายภาพเอกซเรย์ เป็นหนึ่งวิธีวินิจฉัยโรคข้อเสื่อมได้ดี กรณีต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า แพทย์จะพิจารณาภาพถ่ายเหล่านี้โดยละเอียด เพื่อเลือกชนิดและขนาดของข้อเทียมที่เหมาะสม  
  • การทำกายภาพบำบัดหรือการผ่าตัดด้วยวิธีอื่น แพทย์จะใส่ใจเลือกการรักษาที่ลดโอกาสเสี่ยงของผู้ป่วย  ทั้งระหว่างและหลังผ่าตัดอาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้

 

การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม

1. การใช้ยา

     กรณีผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวมาก แพทย์จะแนะนำให้ลดน้ำหนักตัวเพื่อลดอาการปวดจากภาวะกดทับผ่านผิวข้อเข่า พร้อมใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงข้อเข่าร่วมเครื่องมือช่วยเดิน จากนั้นจึงใช้ยาเพื่อลดการอักเสบ ยาเพิ่มน้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่าเพื่อลดการเสียดสี ในรายที่อักเสบมาก ให้ประคบเย็นและพักเข่าระหว่างเดิน

 

2. การผ่าตัดข้อเข่าเทียม

     ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเข่าเสื่อมระยะเป็นเยอะ ร่วมกับมีผลต่อชีวิตประจำวัน ทำกิจวัตรประจำวันไม่ได้เหมือนเดิม การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจึงเป็นการรักษาทางเลือกที่มีประสิทธิภาพสูง โดยแพทย์จะวินิจฉัยสภาพและวัดขนาดข้อเข่าเทียมแทนผิวกระดูกที่ก่อโรคให้กลับคืนสมดุลและเคลื่อนไหวได้เป็นธรรมชาติ

 

3. การทำกายภาพบำบัด

     ผู้ป่วยใช้เครื่องมือกายภาพบำบัดควบคู่กับประคบอุ่น เพื่อลดอาการตึงของกล้ามเนื้อและเอ็นรอบเข่า นอกจากนี้ผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่ายังสามารถทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกายได้ไวและสมบูรณ์ได้เช่นกัน  


 

วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นข้อเข่าเสื่อม

  • ลดการเดิน ก้าวขึ้นลงบันไดมาก หรือนั่งในอิริยาบถอื่น เช่น นั่งยอง นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ เพราะจะเพิ่มแรงเครียดในข้อเข่าให้ปวดอักเสบ
  • หลีกเลี่ยงการหายาแก้ปวดมาทานเอง หากใช้ยามากไปจะเพิ่มโอกาสให้เกิดไตวายและแผลในกระเพาะ
  • ประคองข้อเข่าด้วยท่ากายบริหารเพื่อชะลอการเสื่อม

 

อ่านเพิ่มเติม: รวบท่ากายบริหารเบื้องต้นช่วยชะลอข้อเข่าเสื่อม


 


การรักษาข้อเข่าเสื่อม ควรลดน้ำหนักเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ถ้าเข่าเสื่อมหรือขาโก่งมาก อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด