ไวรัสไข้หวัดใหญ่ และวิธีป้องกัน

December 09 / 2022

 

 

ไวรัสไข้หวัดใหญ่ และวิธีป้องกัน

 

 

 

ไข้หวัดใหญ่คืออะไร

 

โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) ที่มีหลายสายพันธุ์ และอาจมีการระบาดของสายพันธุ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละปี

 

 

ไข้หวัดใหญ่ติดต่อได้อย่างไร

 

โรคไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อกันได้ง่าย โดยติดต่อทางการสัมผัสละอองฝอยของสารคัดหลั่งทางเดินหายใจของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ เช่น น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ เข้าทางจมูก และปากโดยตรง หรือติดต่อทางอ้อมโดยสัมผัสเชื้อที่ปนเปื้อนที่พื้นผิวสิ่งแวดล้อม เช่น ลูกบิด ราวบันได แล้วนำมือมาสัมผัสที่จมูก ปาก หรือตา โดยผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ก่อนมีอาการ 1 วัน และหลังมีอาการ 5-7 วัน มีระยะฟักตัวของโรคคือ 1-4 วัน

 

 

 

 

สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย

 

กระทรวงสาธารณสุขคาดประมาณจํานวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ทั้งประเทศถึง 7-9 แสนรายต่อปี โดยเป็นผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง 1-7 หมื่นรายต่อปี และมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ที่มีภาวะแทรกซ้อนถึงร้อยละ 2.5

 

 

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่เป็นอย่างไร?

 

โรคไข้หวัดใหญ่ มักจะมีอาการที่รุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา อาการมักเกิดขึ้นทันทีทันใด คือ

  • มีไข้สูงติดกันหลายวัน โดยเฉพาะในเด็กจะมีไข้สูงลอยเกินกว่า 39-40 องศาเซลเซียส
  • มีน้ำมูกใส คัดจมูก ไอ ปวดศีรษะ
  • อาจมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย 
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร
  • เด็กเล็กอาจพบท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน

 

 

 

 

 

ภาวะแทรกซ้อนไข้หวัดใหญ่ที่พบมีอะไรบ้าง?

 

ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อน ซึ่งอาจมีอาการรุนแรงจนเสียชีวิตได้ ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หูชั้นกลาง หรือไซนัสอักเสบ และไข้ชักในเด็ก เป็นต้น

 

 

 

 

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นไข้หวัดใหญ่หรือไม่?

 

ในปัจจุบันมีการตรวจทดสอบไข้หวัดใหญ่ ด้วยสิ่งส่งตรวจจากทางเดินหายใจ โดยการใช้ไม้พันสำลีป้ายบริเวณเยื่อบุโพรงจมูก แล้วนำส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ สามารถทราบผลได้ในเวลา 40-60 นาที

 

 

ใครมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากไข้หวัดใหญ่?

 

  1. หญิงตั้งครรภ์ หรือหลังคลอดภายใน 2 สัปดาห์
  2. เด็กอายุน้อยว่า 2 ปี หรือผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
  3. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคไตวาย โรคธาลัสซีเมีย โรคเบาหวาน
  4. ผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวี
  5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
  6. ผู้ที่อายุ <18 ปี ที่กินยากลุ่มแอสไพรินเป็นเวลานาน
  7. ผู้ป่วยโรคอ้วน หรือ ดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่าหรือเท่ากับ 30 kg/m2

 

 

แนวทางการรักษา และดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่

 

  • นอนหลับพักผ่อนมากๆ
  • ดื่มน้ำ น้ำเกลือแร่ หรือน้ำผลไม้มากๆ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • รักษาตามอาการ เช่น เช็ดตัวลดไข้ รับประทานยาลดไข้ เป็นต้น
  • ในรายที่มีอาการรุนแรง อาการไม่ดีขึ้นหลังรักษาตามอาการ หรือผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ควรรีบพบแพทย์ เพื่อพิจารณาให้ยาต้านไวรัสโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งผลการรักษาจะดีที่สุดเมื่อได้ยาใน 48 ชั่วโมงแรก

 

 

วิธีป้องกันตนเองจากไข้หวัดใหญ่

 

  1. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจล
  2. ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น หลอดดูดน้ำ ช้อน
  3. ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หากจำเป็นควรปิดปาก จมูกด้วยหน้ากากอนามัย
  4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์  นอนหลับให้เพียงพอ  ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  5. ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

 

 

 

 

 

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

 

 

เป็นการป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ดีที่สุด ฉีดได้ในทุกคนที่มีอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรงควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกราย

วัคซีนสามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ร้อยละ 50 – 95 ภูมิคุ้มกันโรคจากการฉีดวัคซีนสามารถอยู่ได้นานประมาณ 1 ปี ดังนั้นจึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี ปีละ 1 เข็ม

 

 

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่หากเกิดในเด็กหรือผู้สูงอายุจะมีความรุนแรงมากเนื่องจากภูมิคุ้มกันโรคต่ำทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ในบางรายอาจรุนเเรงถึงขั้นเสียชีวิต ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน

แก้ไขล่าสุด 08/10/64