โรคไข้เลือดออก โรคระบาดที่เกิดได้จากมุมอับของตัวบ้าน

November 22 / 2024

 

 

ไข้เลือดออก โรคระบาดช่วงหน้าฝน

 

 

 


โรคไข้เลือดออก

     โรคไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever: DHF) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกิ (Dengue Virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยทั่วไปพบบ่อยในเด็กที่มีอายุ 5-14 ปี มักพบการระบาดในช่วงฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน

 

 

ไข้เลือดออก

 

 

 

อาการของโรคไข้เลือดออก
หากผู้ป่วยไข้เลือดออกมีอาการดังต่อไปนี้ข้อใดข้อหนึ่ง ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์รักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยชีวิตและป้องกันภาวะแทรกซ้อน

 

  • มีอาการไข้สูงตลอดเวลา หน้าแดง ตาแดง ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว
  • ซึมลง อ่อนเพลียมาก หรือรับประทานอาหารได้น้อยลง
  • ปวดท้องมาก คลื่นไส้อาเจียนตลอดเวลา
  • มีเลือดออกตามร่างกาย เช่น เลือดกำเดา อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ
  • กระสับกระส่าย หงุดหงิด พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากปกติ
  • กระหายน้ำตลอดเวลา ในเด็กเล็กร้องกวนตลอดเวลา
  • ตัวเย็น สีผิวคล้ำลง หรือตัวลายๆ
  • ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ถ่ายปัสสาวะเป็นเวลานาน

 

 

 

ไข้เลือดออกไข้เลือดออกไข้เลือดออก

 

เด็กเล็กและผู้สูงอายุน่าห่วงเป็นพิเศษ

     โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไข้เลือดออก เด็กเล็กมีภูมิต้านทานต่ำถ้าติดเชื้ออาจมีอาการรุนแรง ส่วนผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ถ้าติดเชื้อไข้เลือดออกอาการจะรุนแรงมากเช่นกัน ดังนั้นหากมีไข้สูงติดต่อกัน 2 วันและไม่ลดลง ควรนึกถึงโรคไข้เลือดออกและรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาให้เหมาะสม

 

 

3 ระยะของโรคไข้เลือดออก

  • ระยะไข้ (2-7 วัน) มีไข้สูงทันที 39-40 องศาเซลเซียส ตัวร้อนจัด ไข้ไม่ลดแม้ทานยา เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดท้อง มีจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา หรือมีเลือดกำเดาไหล
  • ระยะวิกฤต ไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว อาจมีอาการทรุดลง กระสับกระส่าย มือเย็น ชีพจรเบา ปวดท้องมาก อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด อาจถึงขั้นช็อกหมดสติได้
  • ระยะฟื้น เมื่อผ่านพ้นระยะวิกฤต อาการจะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ฟื้นตัวกลับสู่สภาวะปกติ

 

 

 

ไข้เลือดออก

 

 

 

การรักษาและดูแลเมื่อเป็นโรคไข้เลือดออก

  • หากมีไข้ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว ด้วยน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่นบ่อยๆ สวมเสื้อผ้าที่ไม่หนามาก ห่มผ้าบางๆ
  • ควรรับประทานยาพาราเซตามอล ห่างกันอย่างน้อย ทุก 4 ชั่วโมง ห้ามใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้เลือดออกได้ง่าย ห้ามฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อและไม่รับประทานยาอื่นที่ไม่จำเป็น
  • ผู้ป่วยควรได้รับน้ำทดแทน เพราะการมีไข้สูง เบื่ออาหาร และอาเจียน ทำให้ร่างกายขาดน้ำ แนะนำให้ดื่มน้ำเกลือแร่ หรือน้ำผลไม้ใส่เกลือเล็กน้อย ไม่ควรดื่มน้ำเปล่าอย่างเดียว หากมีอาการอาเจียนให้ดื่มครั้งละน้อยๆ แต่ดื่มบ่อยๆ
  • เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการดีขึ้น จะเริ่มมีความอยากอาหาร ควรให้รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่ายรสไม่จัด เช่น ข้าวต้ม หรือโจ๊ก และงดอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสีดำ แดงเพราะถ้าอาเจียนจะแยกไม่ได้ว่าเป็นเลือดหรือไม่

 

 

 


ถ้าผู้ป่วยเริ่มไข้ลดและซึมลง ปวดท้องมากขึ้น มือเท้าเริ่มเย็นและเริ่มกระสับกระส่าย แสดงว่าผู้ป่วยเข้าสู่ระยะวิกฤต ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรักษาและดูแลอย่างใกล้ชิด หากมีรุนแรงมากจำเป็นต้องรับดูแลในหอผู้ป่วยวิกฤต


 

 

 

 

ไข้เลือดออกไข้เลือดออกไข้เลือดออก

 

 

การป้องกันโรคไข้เลือดออก

  • กำจัดลูกน้ำแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกแห่งในและรอบบ้าน เพราะยุงลายจะวางไข่ในน้ำนิ่ง ดังนั้นควรปิดฝาภาชนะเก็บน้ำและทำลายภาชนะต่าง ๆ ที่เป็นแหล่งน้ำขังด้วยการใช้ทรายอะเบทหรือเกลือใส่ในน้ำเพื่อทำลายลูกน้ำยุงลาย
  • พ่นสารเคมีหรือการบูรในมุมอับภายในบ้านและรอบบ้านทุกสัปดาห์
  • ระวังอย่าให้ยุงกัด โดยเฉพาะในเวลากลางวัน ดังนั้นควรนอนในมุ้งหรืออยู่ในที่แสงสว่างเพียงพอและลมพัดผ่านสะดวก
  • เข้ารับวัคซีนไข้เลือดออกเดงกีเพื่อลดโอกาสเสี่ยงเป็นไข้เลือดออก ทั้งยังช่วยลดความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกหากติดเชื้อ