โรคไวรัส RSV ภัยร้ายคุกคามลูกน้อย เสี่ยงปอดบวม

December 21 / 2024

โรค rsv

 

 

 

     ฤดูฝน เป็นช่วงที่เด็กๆ มักจะป่วยบ่อย สามารถติดเชื้อโรคได้หลายชนิด รวมถึงไวรัส RSV ซึ่งเป็นเชื้อหนึ่งที่อาจจะพบได้บ่อยเช่นกัน มักพบในเด็กอ่อนกว่า 2 ขวบ แต่ 5 ขวบก็เจอได้

 

 

โรคติดเชื้อ RSV

     RSV มีชื่อเต็ม ๆ ว่า Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ ได้ตั้งแต่หวัด คออักเสบ หลอดลมอักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบหรือปอดบวมได้ โดยเริ่มต้นมักมีอาการไข้ น้ำมูกไหล คัดจมูก ไอมีเสมหะ ถ้าโรคเป็นรุนแรงขึ้น จะทำให้เกิดอาการหอบ เหนื่อย และหายใจลำบาก

 

 

 

โรค rsv

 

 

 

เมื่อเป็นโรค RSV แล้วส่งผลเสียอย่างไร

     เมื่อติดเชื้อ RSV เริ่มต้นจะมีอาการของไข้หวัด แต่ถ้ารุนแรงขึ้นอาจจะเป็นปอดบวมได้ ซึ่งถ้ารุนแรงมากอาจมีระบบหายใจล้มเหลวอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

 

อาการของเด็กที่ติดเชื้อ RSV

  • เริ่มจากมีไข้ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอมีเสมหะ
  • ถ้ารุนแรงมากขึ้นจนเกิดหลอดลมฝอยอักเสบ หรือปอดบวม จะมีอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงวี๊ดๆ ได้
  • อาจจะอาเจียน รับประทานไม่ได้ อ่อนเพลีย ซึมลง
  • ในเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด โรคปอด หรือโรคหัวใจ มีโอกาสที่จะเกิดอาการรุนแรงจาก RSV ได้มากกว่าเด็กปกติทั่วไป ควรมาพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ

 

 

โรค rsv

 

 

การวินิจฉัยโรคติดเชื้อ RSV

     อาศัยอาการและอาการแสดงเป็นหลัก โดยการซักประวัติการป่วยและตรวจร่างกายโดยแพทย์ อาจจำเป็นต้องใช้ภาพรังสีปอด (เอกซเรย์) ถ้าสงสัยว่ามีหลอดลมอักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ หรือปอดบวม การวินิจฉัยเชื้อ RSV เบื้องต้น อาจทำได้โดยการเก็บตัวอย่างจากเยื่อบุทางเดินหายใจส่งตรวจ (nasal swab) ได้ผลประมาณ 30 นาที อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีไวรัสหรือแบคทีเรียอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคปอดบวมได้เช่นกัน ถ้าจำเป็นอาจต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยแยกโรค

 

การรักษาโรค RSV

     ส่วนใหญ่รักษาตามความรุนแรงของโรคเป็นหลัก เช่น ให้ยาลดไข้ถ้ามีไข้ ให้น้ำเกลือถ้ารับประทานอาหารไม่ได้ หรือถ้ามีภาวะหายใจเร็ว หอบเหนื่อย อาจต้องให้ออกซิเจนในโรงพยาบาล ถ้ามีหายใจวี๊ด ๆ อาจต้องพ่นยาขยายหลอดลมหรือใช้วิธีอื่นๆ ตามความเหมาะสม กรณีที่มีภาวะการหายใจล้มเหลว ก็อาจจำเป็นต้องใส่ท่อหลอดคอและใช้เครื่องช่วยหายใจจนกว่าอาการจะดีขึ้น เป็นต้น

 

 

โรค rsv

 

 

การป้องกันการติดเชื้อ RSV 

     เชื้อ RSV ติดต่อโดยการสัมผัสใกล้ชิดกับสิ่งคัดหลั่งต่างๆ ของผู้ติดเชื้อ เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ดังนั้นการป้องกันทำได้ด้วย

 

  • ผู้ดูแลเด็ก รวมถึงคนรอบข้าง ควรล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล
  • แยกของใช้ส่วนตัวของผู้ป่วยเด็ก และเน้นการทำความสะอาด รวมถึงของเล่น
  • ควรให้เด็กหยุดเรียน จนกว่าจะหายเป็นปกติ
  • หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย
  • ผู้ใหญ่ควรระมัดระวัง เรื่องการสัมผัสผู้ป่วยเด็ก

 

เชื้อไวรัส RSV ในระบบทางเดินหายใจ เริ่มต้นจะมีอาการหวัด ถ้ารุนแรงอาจจะถึงขั้นระบบหายใจล้มเหลว หากสงสัยว่ามีอาการควรพาลูกมาพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ