โรคหินปูนในหูชั้นในกับอาการที่วิงเวียนศีรษะบ้านหมุน

December 17 / 2024

 

 

โรคหินปูนในหูชั้นใน กับ อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน

 

 

 

     โรคหินปูนในหูชั้นใน (Benign paroxysmal positional vertigo: BPPV) เป็นโรคที่พบมากที่สุดในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุน โดยจากสถิติมีรายงานว่าพบโรคนี้ร้อยละ 20-30 ในคลินิก และโดยมากมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายในอัตราส่วน 1:5 – 2:1

 

 

 

โรคหินปูนในหูชั้นใน

 

 

สาเหตุของโรคหินปูนในหูชั้นใน

สาเหตุของโรคพอสันนิษฐานได้ว่าเกิดจาก

 

  • การเคยได้รับอุบัติเหตุทางศรีษะมาก่อนซึ่งพบร้อยละ 47
  • การเคยติดเชื้อในหูชั้นในร้อยละ 26
  • เส้นประสาทหูอักเสบ คนสูงอายุหรือคนที่นอนอยู่บนเตียงเป็นเวลานาน
  • ภาวะเครียดและขาดการออกกำลังกาย ทำให้พยาธิสภาพเกิดขึ้นกับอวัยวะที่ควบคุมการทรงตัวรูปเกือกม้าในหูชั้นใน ซึ่งพบในส่วนหลังมากที่สุด (ร้อยละ 90)
  • รองลงมาเป็นส่วนที่อยู่ในแนวนอนร้อยละ 5-10 และส่วนที่อยู่ด้านหน้าร้อยละ 1 เชื่อว่าเกิดจากการตกตะกอนของสารที่อยู่ภายใน หรือมีหินปูนจากอวัยวะที่ควบคุมการทรงตัวข้างเคียงหลุดเข้ามาอยู่ภายในอวัยวะรูปเกือกม้า

 

 

 

โรคหินปูนในหูชั้นในโรคหินปูนในหูชั้นใน

 

 

อาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุน เป็นอย่างไร ?

     ผู้ป่วยมักมีอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนเมื่อเคลื่อนไหวศีรษะ โดยเฉพาะในแนวดิ่ง เช่น มีอาการเวียนศีรษะเมื่อล้มลงนอนหรือลุกจากที่นอน ก้มหยิบของ เงยหน้ามองที่สูง หรือไปนอนสระผมที่ร้านทำผม เป็นต้น โดยในท่าเหล่านี้เป็นท่าที่ได้รับผลกระทบจากแรงดึงดูดของโลก ซึ่งมีผลให้ตะกอนหินปูนหรือแคลเซียมในหูชั้นในเคลื่อนตัว ผู้ป่วยจะมีอาการเวียนศรีษะแบบบ้านหมุน ตามด้วยอาการคลื่นไส้อาเจียน

 

 


อาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนมักมีอาการไม่นาน และมักเป็นแค่ช่วงที่กำลังขยับศีรษะ ซึ่งจะค่อย ๆ หายไปเอง แต่ก็กลับมาเกิดอาการได้อีกเมื่อขยับศีรษะในท่าเดิม บางรายอาจมีอาการมึนศีรษะอยู่เป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน


 

 

 

โรคหินปูนในหูชั้นในโรคหินปูนในหูชั้นใน

 

 

โดยทั่วไปอาการเวียนศีรษะในครั้งแรกจะรุนแรงต่อมาจะค่อยๆ ลดความรุนแรงลง อาการเวียนศีรษะเป็นได้หลายๆ ครั้งต่อวัน มักเป็นอยู่หลายวันแล้วค่อยๆ ดีขึ้นในเวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนในบางรายอาการจะกลับเป็นซ้ำขึ้นอีกในเวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี

 

ผู้ป่วยจะไม่มีอาการหูอื้อ ไม่พบการสูญเสียการได้ยินหรือมีเสียงผิดปกติในหูและไม่พบอาการทางระบบประสาทอื่นร่วมด้วย ผู้ป่วยรู้ตัวดีขณะเวียนศีรษะและไม่มีอาการหมดสติ

 

โรคหินปูนในหูชั้นใน

 

 

การรักษาโรคหินปูนในหูชั้นใน

  • ให้คำแนะนำและรักษาตามอาการ เช่น ในขณะที่มีอาการให้หลีกเลี่ยงจากท่าที่กระตุ้นให้เกิดอาการส่วนใหญ่อาการจะดีขั้นเอง โดยเฉพาะหลังจาก 1 สัปดาห์ขึ้นไปและไม่เกินหนึ่งเดือน อาจให้ยาช่วยบำบัดอาการในระยะแรก ๆ ในกลุ่มนี้จะต้องระวังกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอาการและมีอันตรายต่อผู้ป่วย เช่น ปีนป่ายในที่สูง ดำน้ำ และขับรถยนต์
  • การทำกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นวิธีที่ปัจจุบันนิยมและยอมรับว่าได้ผล การทำกายภาพบำบัดแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี


 

การทำกายภาพบำบัด

     วิธีที่ 1 คือการทำกายภาพบำบัดเพื่อเคลื่อนตะกอนหินปูนหรือแคลเซียมออกจากอวัยวะทรงตัวในหูชั้นในที่เป็นรูปเกือกม้า เมื่อตะกอนหินปูนเคลื่อนออกมาแล้วก็จะไม่กระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะอีก วิธีนี้กระทำภายใต้การดูแลของแพทย์ชำนาญการด้านโรคเวียนศีรษะเท่านั้น

 

โรคหินปูนในหูชั้นใน

 

     วิธีที่ 2 แนะนำให้ผู้ป่วยกลับไปทำกายภาพบำบัดที่บ้าน ซึ่งผู้ป่วยทำได้ด้วยตัวเอง เมื่อทำครั้งแรกจะรู้สึกเวียนศีรษะ แต่พอทำไปนาน ๆ ร่างกายจะปรับตัว ซึ่งอาการจะดีขึ้นตามลำดับ

 

 

 

โรคหินปูนในหูชั้นใน

 

การผ่าตัด

     การผ่าตัดใช้ในกรณีที่ทำกายภาพบำบัดวิธีที่ 1 และ 2 ไม่ได้ผล ติดตามผู้ป่วยอย่างน้อย 4-6 เดือน พบมีอาการอยู่ตลอดหรือกลับเป็นใหม่บ่อยๆ กลุ่มนี้แนะนำให้ทำการผ่าตัดซึ่งการผ่าตัดจะได้ผลดีมาก และไม่กลับมาเวียนศีรษะอีก

 

 

“เวียนศีรษะ บ้านหมุน” อย่าลืมคิดถึง 3 สาเหตุนี้ อ่านข้อมูลเพิ่มเติมคลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/2191

 

 

แก้ไข

02/08/2566