ออทิสติก เฝ้าสังเกตร่วมดูแลเมื่อรู้ว่าลูกเป็น ต้องทำอย่างไร

December 21 / 2024

 

 

 

ออทิสติก ดูแลลูกอย่างไรเมื่อรู้ว่าเป็น

 

 

 

ออทิสติก

 

 

 

 

     ‘สะบัดแขน ไม่พูดด้วย และไม่มองหน้า’ อาจชวนดูไม่เป็นมิตรเมื่อได้ยิน บางรายอาจดูแค่ภายนอกนั้นมองไม่ออก แต่เมื่อได้คุยหรือลองมองลึกอาจรู้ได้ว่าบางสิ่งดูผิดแปลก บางครั้งก็สนใจแต่วัตถุอยู่เช่นนั้นซ้ำ ๆ คล้ายตัดขาดจากทุกสิ่ง อาการเหล่านี้นั้นน่าห่วง เฝ้าสังเกตร่วมดูแลเมื่อรู้ว่าลูกเป็นออทิสติก ต้องทำอย่างไร

 

‘Autism’ คำนี้มีความหมาย

     คำว่า ‘Autism’ มาจากภาษากรีกซึ่งแปลว่า ‘ตัวเอง’ โดยจิตแพทย์ชาวสวิสนามว่า Eugen Bleuler ใช้บรรยายพฤติกรรมของบุคคลที่ละทุกอย่างเพื่อเข้าสู่โลกภายใน ออทิสติกจึงเป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยชอบปลีกตัวอยู่กับตัวเอง ไร้จินตนาการเสมือนหุ่นยนต์

 

ออทิสติกคืออะไร

     ออทิสติก หรือ ‘ออทิซึม’ (ASD: Autism spectrum disorder) เป็นภาวะความผิดปรกติด้านพัฒนาการทางสมองและระบบประสาท ซึ่งส่งผลถึงพัฒนาการทางภาษา การสื่อสารและการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมถึงแสดงพฤติกรรมที่มีแบบแผนและจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งซ้ำ ๆ ซึ่งมีหลากหลายกลุ่มอาการย่อยตามระดับสเปกตรัม

 

 

สังเกตอย่างไรว่าลูกเป็น

  • จะเริ่มพูดช้าในวัยเด็ก ไม่ค่อยสบตาหรือมองหน้า
  • ไม่ให้ความร่วมมือในโรงเรียน ชอบแยกตัวอยู่คนเดียว
  • ไม่ชี้ชวนให้ผู้อื่นสนใจร่วม
  • มีภาษาเฉพาะตัวหรือ ‘ภาษามนุษย์ต่างดาว’
  • ชอบเล่นคนเดียวมากกว่าเข้าไปเล่นกับผู้อื่น 
  • ไม่ค่อยเลียนแบบหรือเล่นบทบาทสมมติ
  • มีพฤติกรรมซ้ำ ๆ ไร้จุดมุ่งหมาย เช่น ชอบสะบัดมือ เขย่งตัว หมุนรอบตัวเอง เอาของมาต่อเรียงกัน
  • หมกมุ่นกับบางเรื่องที่จำเพาะ เช่น สนใจธงชาติจนรู้ธงชาติได้ทุกประเทศ
  • ไม่ค่อยยืดหยุ่น เช่น เมื่อต้องเปลี่ยนเส้นทางกลับบ้านจะเริ่มรู้สึกกะวนกะวาย
  • มีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์
  • ไวต่อการรับประสาทสัมผัสรูป รส กลิ่น สัมผัสและการมองเห็น จึงแสดงออกในลักษณะ “หลีกหนีต่อสิ่งเร้า” ขณะเดียวกันก็อาจแสดงออกในรูปแบบการตอบสนองที่ช้ากว่าปรกติ
  • กรณีมีภาวะไวต่อสิ่งเร้าน้อยเกินไป เด็กจะเกิดการค้นหาสิ่งเร้ามากขึ้น


 


เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นอาจมีปัญหาเรื่องการปรับตัวในสังคม จึงเกิดความแปลกแยกและถูกกลั่นแกล้งได้ง่าย ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะเครียดและซึมเศร้า



 

ปัจจัยที่ส่งผลให้เด็กเป็น

แม้ไม่มีสาเหตุของโรคที่แน่ชัด แต่มีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาวะออทิซึม ได้แก่

 

  • พันธุกรรม ออทิซึมเป็นหนึ่งโรคที่ถ่ายทอดผ่านพันธุกรรม บางรายเกิดจากพ่อแม่มีลูกช่วงอายุมาก จึงมีโอกาสเสี่ยงสูง โดยออทิซึมจะเกิดกับเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง เมื่อตรวจจะพบความบกพร่องทางสมอง โดยเฉพาะส่วนที่เชื่อมต่อกับการใช้ทักษะทางสังคมและอารมณ์
  • สิ่งแวดล้อม ทั้งสภาพแวดล้อมรอบตัวที่เป็นพิษ อุบัติเหตุก่อน ระหว่างและหลังเกิดล้วนส่งผลต่อเด็กโดยตรง เช่น การขาดออกซิเจนระหว่างคลอด การคลอดก่อนกำหนด เคมีในร่างกายที่ไม่สมดุล ลูกได้รับสารตะกั่วหลังคลอด  เมื่อเติบโตขึ้นมีโอกาสเป็นภาวะออทิซึม

 

 

 

 

ออทิสติก

 

 

 

 

ออทิสติกเทียม

     แม้ไม่ได้เป็นออทิสติกซึ่งมีพัฒนาการทางสมองที่ผิดปรกติแต่กำเนิดก็สามารถเป็นออทิสติกได้ หากเด็กอยู่สภาวะแวดล้อมและการดูแลที่ไม่เหมาะสม ก็สามารถก่อเกิดภาวะนี้ได้ ‘ออทิสติกเทียม’ เป็นภาวะที่เด็กขาดการปฏิสัมพันธ์จนมีพัฒนาการสื่อสารและทางสังคมที่ล่าช้า หากหมั่นเอาใจใส่ เล่นและพูดคุยกับเด็กก็กลับเป็นปรกติได้

 

การวินิจฉัย

แพทย์เริ่มซักถามประวัติก่อนใช้วิธีสังเกตพฤติกรรม ปฏิสัมพันธ์กับเด็กและเปรียบเทียบพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ในแต่ละช่วงวัยกับเด็กคนอื่น เบื้องต้นพ่อแม่สามารถสังเกตเห็นความผิดแปลกของลูกได้ตั้งแต่ 1 ขวบ

 

  • สังเกตพฤติกรรมขณะปฏิสัมพันธ์ด้วย เช่น การสบตา ลองเรียกชื่อ หากไม่หันหน้า ไม่มองตาหรือไร้การตอบสนองใด อาจเกิดความผิดปรกติ
  • การประเมินทางแพทย์อื่น เช่น การทดสอบการได้ยินและการมองเห็น การตรวจยีนส์เพื่อหาความผิดปรกติ การประเมินทางประสาทวิทยาและจิตวิทยา ก่อนกุมารแพทย์เฉพาะด้านพฤติกรรมจะเริ่มวางแผนการรักษาและบำบัดอย่างเหมาะสม

 

ระดับของอาการ

โดยทั่วไปสามารถแบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้

 

  • Mild Autism หรือกลุ่ม High functioning ซึ่งมีระดับสติปัญญาปรกติหรือสูงกว่า บางครั้งมีความสามารถแฝงหรือขั้นเป็นอัจฉริยะ แต่ยังขาดทักษะปฏิสัมพันธ์และการสังเกตอารมณ์และสีหน้าผู้คน ซึ่งยังเป็นกลุ่มอาการแยกย่อยอย่างภาวะแอสเพอร์เกอร์ (Asperger syndrome)
  • Moderate Autism กลุ่มกลางที่การเรียนรู้ด้านภาษา การสื่อสารและสังคมล่าช้า แต่ยังคงช่วยเหลือตัวเองได้ในระดับหนึ่ง พบได้ร้อยละ 50 - 75
  • Severe Autism  กลุ่มผู้มีพัฒนาการล่าช้ามากและอาจมีภาวะอื่นร่วม เช่น ภาวะสติปัญญาบกพร่อง ซึ่งเป็นช่วงที่น่าห่วง ควรได้รับการดูแลจากกุมารแพทย์ พ่อแม่และบุคคลรอบข้างอย่างใกล้ชิด

 

โรคที่เกิดร่วม

     คนที่เป็นโรคออทิซึมมักมีอาการร่วม เช่น โรคลมชัก โรคซึมเศร้า วิตกกังวล หรือมีภาวะสมาธิสั้นร่วม บางรายมีปัญหาด้านการนอนหลับและการทำร้ายตัว ดังนั้นแพทย์และผู้ปกครองจึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด

 

ที่มา: องค์การอนามัยโลก (WHO)

 

 

 

ออทิสติกออทิสติกออทิสติก

 

 

 

การรักษาภาวะออทิสติก

  • การใช้ยา แพทย์เลือกใช้ยาปรับการทำงานของสารสื่อประสาทเพื่อควบคุมพฤติกรรมแสดงออก โดยทั่วไปแพทย์จะใช้การบำบัดร่วมตามสภาพปัญหา เนื่องจากเป็นโรคด้านพัฒนาการ
  • อรรถบำบัด เป็นวิธีบำบัดในด้านการผิดปรกติด้านการสื่อความหมาย เพื่อพัฒนาการเข้าใจภาษาและการพูด ซึ่งยังสามารถใช้บำบัดร่วมกับผู้ที่สูญเสียภาวะการสื่อความหมายจากโรคหลอดเลือดสมอง
  • การฝึกทักษะการสื่อสาร ใช้พลวัตกลุ่มเข้าช่วยบำบัด เพื่อเสริมทักษะทางสังคมเชิงบวกและทักษะช่วยเหลือตัวเองเพื่อให้เด็กกล้าสื่อสาร แสดงออกซึ่งความต้องการและปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่น  
  • กิจกรรมบำบัด  เปิดพื้นที่ให้เด็กได้ฝึกสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นผ่านกระบวนการเล่น  แพทย์จะเริ่มใช้โปรแกรมกิจกรรมบำบัดเฉพาะเด็กพิเศษ เพื่อใช้กระตุ้นพัฒนาการเด็ก ทั้งยังให้ผลดีแก่เด็กได้ฝึกกล้ามเนื้อและใยประสาทสมองให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น
  • การเสริมสร้างพัฒนาการ หลังได้รับการบำบัดและรักษาจากกุมารแพทย์ ผู้ปกครองควรร่วมช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ เช่น การอ่านนิทานภาพ

 

อ่านเพิ่มเติม: กิจกรรมบำบัด กับการพัฒนาการเด็กพิเศษ

 

ออทิสติกกับอัจฉริยะ ขวางกั้นแค่เส้นบาง

     ‘อูยองอู’ แม้อ่านกลับหลังก็ยังได้ความเดิม  และเป็นหนึ่งตัวแทนกลุ่มผู้เป็นโรคออทิสติก บางครั้งเราอาจไม่รู้ว่าออทิสติกแฝงเร้นอยู่ในคนปรกติ หลายครั้งแม้จะนิ่งเหมือนไม่รู้ก็แฝงด้วยอัจฉริยภาพเกินกว่าคนทั่วไปจะรับรู้ ทุกอย่างล้วนกลับสลับไปมา ซุกซ่อนและรอวันเผยในวันที่เรามาถูกทาง

 

 

 

 

 

แผนกเด็กพร้อมโอบกอดและดูแลลูกของคุณ

     แผนกเด็ก คลินิกเด็กสุขภาพดี โรงพยาบาลรามคำแหง พร้อมใส่ใจพัฒนาเด็กให้เติบโตให้อยู่ร่วมในสังคมได้เป็นสุข ภายใต้การดูแลของนักจิตวิทยาคลินิก นักกิจกรรมบำบัดและกุมารแพทย์ชำนาญเฉพาะด้านพฤติกรรมเด็ก โดยเชื่อเสมอว่าเด็กทุกคนล้วนมีความพิเศษซุกซ่อนอยู่ รอวันเฉิดฉายได้ หากดูแลเขาอย่างถูกต้อง