ภาวะหัวใจสลาย อันตรายใกล้ตัวที่ควรเฝ้าระวัง

November 14 / 2024

ภาวะหัวใจสลาย

 

 

 

     จิตวิญญาณไม่สมบูรณ์ย่อมส่งผลต่อร่างกาย เมื่อภาวะหัวใจสลายเพราะความรักไม่ใช่แค่คำพรรณนาความเจ็บปวดทางจิต แต่กลับกลายเป็นภาวะที่เกิดขึ้นจริงกับหัวใจ นับวันที่ยิ่งเครียดหรือเศร้า หัวใจก็ยิ่งเต้นช้าลง อันตรายใกล้ตัวที่ควรเฝ้าระวัง ที่เป็นได้.. แค่รู้สึก

 

ภาวะหัวใจสลาย

     หัวใจสลาย (Broken Heart Syndrome) เป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวเบาลงแบบฉับพลันเนื่องจากความเครียดหรือเสียใจอย่างรุนแรงจนส่งผลให้หัวใจห้องซ้ายล่าง (Left Vertricle) บีบตัวช้า ในทางการแพทย์ยังรู้จักในชื่อ Takotsubo Cardiomyopathy เนื่องจากเมื่อสวนสีหัวใจตรวจจะพบว่าหัวใจโปร่งคล้ายภาชนะดักจับปลาหมึก ซึ่งเป็นที่มาตามคำเรียกของแพทย์ชาวญี่ปุ่นผู้ค้นพบ

 

ชนิดของภาวะหัวใจสลาย

 

  • Apical  มักพบบ่อยที่สุด โดยเกิดอาการบริเวณห้องหัวใจล่าง
  • Mid-ventricular เกิดตรงกลางหัวใจห้องล่าง มีลักษณะเป็นเส้นเข็มขัดหรือวงแหวน 
  • Basal ลักษณะคล้ายกับ Mid-ventricular ทว่าช่วงบนของเส้นเข็มขัดเกิดปัญหาร่วมด้วย
  • Focal เป็นประเภทที่พบยากที่สุด ซึ่งมักเกิดบริเวณจุดเล็กที่สังเกตยาก

 

‘อกหัก’ มีผลให้หัวใจสลาย

     แม้ไม่แน่ชัดว่าแท้จริงแล้วภาวะหัวใจสลายเกิดจากสาเหตุใด ทว่ามีงานวิจัยหลายชิ้นได้มุ่งประเด็นไปที่การหลั่งฮอร์โมนคาทีโคลามีน (Catecholamines) เป็นสาเหตุ ทุกครั้งที่รู้สึกตื่นเต้น ตกใจ เศร้าหรือกลัว ร่างกายจะหลั่งคาทีโคลามีนเข้าสู่ร่างกายให้ตื่นตัวพร้อมปกป้องตัวเองจากอันตราย ซึ่งส่งผลให้หัวใจทำงานอย่างหนักจนเกิดโรค

 

ภาวะหัวใจสลายมักเกิดกับใคร

     ภาวะหัวใจสลายมักเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายโดยเฉลี่ย 90% และมีโอกาสเกิดกับผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 - 75 ปี อย่างไรก็ตาม แพทย์ยังไม่สามารถแยกโรคได้จนกว่าผู้ป่วยจะได้รับการฉีดสีสวนหัวใจ โดยในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันนั้นมีราว 1% ที่เป็นโรคหัวใจจากความเครียด (Stress-induce Cardiomyopathy)

 

 

 

ภาวะหัวใจสลาย

 

 

 

 

อาการของโรค

     ผู้ป่วยเริ่มมีอาการแน่น เจ็บบริเวณหน้าอก หน้ามืด เหงื่อซึม และหายใจลำบาก เนื่องจากความดันต่ำ ทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนอื่นของร่างกายไม่เพียงพอ หากมีอาการเจ็บปวดรุนแรงอื่นร่วมก็อาจทำให้เสียชีวิต

 

การวินิจฉัยโรค

เนื่องจากภาวะหัวใจสลายมีอาการคล้ายหัวใจวาย แพทย์จึงต้องตรวจหัวใจแบบพิเศษเพื่อหาความผิดปรกติที่เกิดขึ้นร่วมการตรวจอื่น โดยเริ่มจาก

 

  • ซักประวัติอาการและความเครียด
  • การตรวจเลือด
  • การตรวจเอกซเรย์ปอดและหัวใจ
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
  • การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram)


 

 


ก่อนเข้าสู่การฉีดสีสวนหัวใจ (Coronary Angiography) เพื่อประกอบการวินิจฉัยแยกโรค ซึ่งหากเป็นภาวะหัวใจสลายจะไม่พบภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน


 

 

 

ภาวะหัวใจสลายภาวะหัวใจสลาย

 

 

 

การดูแลรักษา

การรักษาผู้ป่วยจากภาวะหัวใจสลายมักเป็นแบบประคับประคองคล้ายการรักษาภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน (Acute Heart Failure)

 

1. การรักษาด้วยยา

     แพทย์สามารถใช้ยาปรับสภาพการทำงานของหัวใจควบคู่กับป้องกันภาวะอื่นตามความรุนแรง เช่น ยาลดความดันเลือด (ACE) การใช้ยาขับปัสสาวะ ยาสลายลิ่มเลือดหรือการใช้เบต้าบล็อกเกอร์เพื่อลดผลกระทบจากฮอร์โมนเครียดที่มีต่อหัวใจ

 

2.  การปรับการใช้ชีวิต

 

  • ทำกิจกรรมคลายเครียด เช่น การฝึกสมาธิ การเล่นโยคะ การฝึกหายใจแบบ 4x4
  • เลือกรับประทานอาหารเสริมสมดุลกายและจิต เช่น กลุ่มสมุนไพรฤทธิ์เย็น
  • เน้นคิดเชิงบวก ควบคู่กับการปรึกษาปัญหากับเพื่อน ครอบครัวหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต