6 วิธีปรับเปลี่ยนชีวิตให้ลดโอกาสเสี่ยงโรคลิ้นหัวใจรั่ว

December 18 / 2024

ลิ้นหัวใจรั่ว ป้องกัน

 

     หากเรารักสุขภาพ สุขภาพจะรักเรากลับและตอบแทนด้วยการให้ชีวิตที่ยืนยาวไร้เจ็บป่วย แม้ว่าชีวิตของคนเรานั้นมีวันที่โรยราและจากไปตามกาล ทว่ากว่าวันนั้นจะมาถึง หากหันมาใส่ใจสุขภาพสักนิดในวันนี้ ก็สามารถลดโอกาสเสี่ยง โรคลิ้นหัวใจรั่วอย่างน้อยสักหนึ่งโรคก็ยังดี

 

เข้าใจโครงสร้างของหัวใจ

เราสามารถเข้าใจของหัวใจได้ง่ายยิ่งขึ้น หากเริ่มรู้จักหัวใจทั้ง 4 ห้องซึ่งแบ่งเป็นซ้ายและขวา ดังนี้

 

 

ลิ้นหัวใจรั่ว ป้องกันลิ้นหัวใจรั่ว ป้องกัน

 

 

ซีกขวา

  • หัวใจห้องบน-ขวา (Right atrium) รับเลือดดำจากหลอดเลือดดำซึ่งลำเลียงจากส่วนบน-ล่างของร่างกาย
  • หัวใจห้องล่าง-ขวา (Right ventricle) รับเลือดดำต่อจากห้องบนขวาผ่านลิ้นหัวใจไตรคัสปิด และส่งไปฟอกเลือดที่ปอดผ่านลิ้นหัวใจพัลโมนารี เมื่อผ่านกระบวนการดังกล่าวจึงได้เลือดแดงที่ส่งไปยังห้องหัวใจบนซ้าย

 

ซีกซ้าย

  • หัวใจห้องบน-ซ้าย (Left atrium) คอยรับเลือดที่มีออกซิเจนจากปอดก่อนลำเลี้ยงเลือดไปที่ห้องล่าง-ซ้ายผ่านลิ้นหัวใจไมตรัล
  • หัวใจห้องล่าง-ซ้าย (Left ventricle) สูบเลือดแจกจ่ายไปทั่วร่างกายผ่านลิ้นหัวใจเอออร์ติกไปและหลอดเลือดแดงใหญ่ ซึ่งเป็นห้องขนาดใหญ่และผนังหัวใจหนาสุด

 

ชนิดของลิ้นหัวใจ

ลิ้นหัวใจแบ่งออกเป็น 4 ชนิด ซึ่งเป็นเสมือนประตูในหัวใจที่คอยกำกับทิศทางเลือดให้ไหลเวียนทางเดียวกัน

 

  • ลิ้นหัวใจเอออร์ติก (Aortic valve) ลิ้นหัวใจที่มีความสำคัญสูง เนื่องจากอยู่ตำแหน่งกั้นระหว่างหัวใจห้องซ้ายล่างและหลอดเลือดแดงใหญ่ เมื่อถึงจังหวะหัวใจบีบตัวจะเปิดให้เลือดไหลเข้าสู่หลอดเลือดแดงเอออร์ต้า (Aorta) เพื่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หากเกิดรั่วจะส่งผลให้ห้วใจไหลเวียนเลี้ยงส่วนอื่นไม่เพียงพอ หัวใจเต้นอ่อนกำลังและล้มเหลวในที่สุด
  • ลิ้นหัวใจพัลโมนารี (Pulmonary valve) อยู่ตำแหน่งห้องหัวใจล่างขวาและหลอดเลือดแดงปอด เมื่อเปิดออกจะปล่อยให้เลือดไหลสู่หลอดเลือดรอผ่านกระบวนฟอกในปอด แม้ไม่พบบ่อย แต่เมื่อเป็นจะเกิดภาวะความดันเลือดในปอดสูง
  • ลิ้นหัวใจไมตรัล (Mitral valve) กั้นอยู่ระหว่างห้องหัวใจส่วนบน-ล่างซีกซ้าย ซึ่งจะเปิดตามจังหวะหัวใจคลายตัว หากลิ้นหัวใจส่วนนี้รั่ว เลือดจากห้องล่างซ้ายจะไหลย้อนกลับเข้าห้องบนซ้ายจนเกิดเลือดคั่งทั้งในหัวใจห้องบนซ้ายและปอด
  • ลิ้นหัวใจไตรคัสปิด (Tricuspid valve) กั้นอยู่ระหว่างห้องหัวใจส่วนบน-ล่างซีกขวา เมื่อหัวใจคลายจะเปิดทางให้เลือดไหลเวียนเลี้ยงแก่กัน หากเกิดการรั่วจะ ทำให้หัวใจล่างขวาโต ซึ่งพบได้บ่อย

 

อ่านเพิ่มเติม: โรคลิ้นหัวใจ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด พร้อมแนวทางการรักษา

 

 

ลิ้นหัวใจรั่ว ป้องกัน

 

 

6 พฤติกรรมลดเสี่ยงโรคลิ้นหัวใจรั่ว

1. ดูแลสุขภาพช่องปากให้สะอาด

     ฟันผุอาจก่อโรคหัวใจได้ แม้ยังไม่มีงานวิจัยรับรองแน่นอน แต่พบว่ามีผลเสียต่อหัวใจ เนื่องจากเชื้อ 'สเตร็ปโตคอคคัส' ที่พบในฟันผุเป็นเชื้อชนิดเดียวที่ตรวจพบที่เยื่อบุหัวใจอักเสบและลิ้นหัวใจอักเสบ เมื่อใดที่เลือดออกจากฟันที่ผุ เชื้อจากเลือดที่ปากจะไหลเวียนติดกระแสเลือดสู่หัวใจให้เกิดโรค การรักษาความสะอาดจึงจำเป็นทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

2. เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์

     ‘กินอาหารให้เป็นยา’ เป็นวลีโบราณที่ยังใช้ได้ผลถึงปัจจุบัน หากทานมากหรือน้อยเกินไปก็เป็นยาพิษได้เหมือนกัน เพียงเริ่มลดทอนอาหารที่มีน้ำตาล ไขมันและเกลือโซเดียมสูงอย่างละนิด ละบุหรี่ เลี่ยงอาหารรสจัด เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีนก็ลดโอกาสเกิดโรคอื่นเพิ่ม แม้บางรายที่เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วแต่กำเนิดก็สามารถทุเลาโรคจากหนักเป็นเบา

 

3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

     แค่เริ่มก้าวเท้าเดินหรือขยับตัวก็เท่ากับออกกำลังกาย ซึ่งไม่ใช่แค่ประโยชน์เรื่องลดน้ำหนัก แต่ยังให้โอกาสแก่ร่างกายได้ทำงาน ลำไส้บีบตัวย่อยสะดวกไม่ถ่ายแข็งและยังฟื้นฟูสภาพหัวใจให้สูบฉีดเลี้ยงร่างกายให้กระปี้กระเปร่า อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายควรทำอย่างสม่ำเสมอที่ไม่มากหรือน้อยเกินไป สำหรับผู้ป่วยที่กำลังฟื้นอาการหลังรับการรักษา ให้ปรึกษาแพทย์ชำนาญด้านหัวใจก่อนใช้กำลัง

 

4. ตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี

     เราไม่อาจล่วงรู้ว่าร่างกายของเราเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนในรอบหนึ่งปี หากไม่ได้รับการตรวจที่เหมาะสมจากอายุรแพทย์และแพทย์เฉพาะด้านเป็นอย่างน้อย โดยเริ่มจากการตรวจสุขภาพตามช่วงวัย เนื่องจากแต่ละวัยมีสภาพความผิดปรกติและการดูแลรักษาที่ต่างกัน

 

5. เลิกการสูบบุหรี่

     บุหรี่หนึ่งมวนนั้นรวมสารพัดสารพิษทำร้ายร่ายกายไว้มากมาย ทันทีที่หยิบสูบก็บั่นทอนให้ชีวิตสั้นลงถึง 7 นาที ควันที่เข้าสู่ร่างกายจะเริ่มทำลายถึงหัวใจและหลอดเลือด หัวใจที่เต้นเร็วและหนัก ความดันเลือดที่สูงขึ้น ก่อนกลายเป็นหลากโรค หากเลิกสูบบุหรี่ในตอนนี้ การมีสุขภาพร่างกายที่ปลอดโรคก็ไม่ไกลเกินจริง

 

6.  เข้าพบแพทย์เมื่อรู้สึกว่าร่างกายผิดปรกติ

     สัญญาณเตือนของร่างกายนั้นสำคัญที่สุด หากรู้สึกว่าไม่ไหวให้พบแพทย์เพื่อดูแล เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณโรคในระยะลุกลาม เมื่อไหร่ที่รู้สึกแน่นอก ใจสั่น หน้ามืดจะวูบ หายใจลำบาก นอนราบไม่ได้ ขาบวม ให้พบเราที่ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลรามคำแหง อย่าปล่อยให้ทุกอย่างสายไป เพื่อชีวิตที่ยังอยู่ยงต่อไป