รักษามะเร็งตับ โดยการจี้ความร้อน

November 08 / 2024

 

การรักษามะเร็งตับด้วยการจี้ความร้อนคืออะไร?

 

 

การรักษามะเร็งตับด้วยการจี้ความร้อน หรือ การรักษามะเร็งตับด้วยคลื่นความถี่สูง (Radiofrequency ablation ; RFA) คือ การรักษามะเร็งที่เกิดจากตับหรือที่ลุกลามมาจากอวัยวะอื่น และมะเร็งตับที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ ซึ่งคลื่นความถี่สูงนี้ไปเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนทำลายเซลล์มะเร็งตับ วิธีนี้จะได้ผลดีในก้อนมะเร็งตับที่มีขนาดไม่ใหญ่เกินไป โดยทั่วไปควรมีขนาดเล็กกว่า 3 เซนติเมตร และอยู่ห่างจากหลอดเลือดขนาดใหญ่

 

การจี้ความร้อนเป็นวิธีที่เหมาะสมกับการรักษาก้อนเนื้องอกขนาดน้อยกว่า 5ซม. ประสิทธิผลของการรักษาด้วยการจี้ก้อนเนื้องอกสูงถึงร้อยละ 97.2 โดยการจี้ก้อนเนื้องอกที่นิยมคือการใช้เข็มที่ผลิตความร้อนจากคลื่นวิทยุ (radiofrequency ablation, RFA) หรือเข็มที่ผลิตความร้อนจากคลื่นไมโครเวฟ (microwave, MWA)

 

ข้อดีของการรักษาด้วยการจี้ก้อนเนื้องอกด้วยความร้อนคือ ให้ผลการรักษาที่ดีเทียบเคียงกับการผ่าตัด ผลข้างเคียงน้อย ระยะเวลาพักฟื้นสั้น ทั้งยังสามารถใช้วิธีการรักษาแบบนี้ซ้ำได้เมื่อตรวจพบก้อนมะเร็งโตขึ้นในตำแหน่งอื่นๆ โดยทั่วไปผู้ป่วยสามารถพักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน ก็สามารถกลับบ้านได้

 

คนไข้

 

 

วิธีการรักษามะเร็งตับด้วย RFA

 

เป็นวิธีการทำลายก้อนเนื้อ ด้วยการสอดเข็มขนาดเล็กเข้าไปในตับเพื่อให้ปลายเข็มวางอยู่ตำแหน่งของก้อนมะเร็งเป้าหมาย โดยอาศัยการนำทางด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรืออัลตราซาวด์ จากนั้นจะให้พลังงานที่เรียกว่า Radio Frequency (RF) ผ่านเข็มเข้าสู่ก้อนเนื้อ ซึ่งจะทำให้เกิดความร้อนภายในตัวก้อนเนื้อโดยจะได้รับอุณหภูมิสูงเกือบ 100 องศาเซลเซียส วิธีการนี้ก็เปรียบเสมือนการเผาก้อนเนื้อในตับ ซึ่งมีผลกระทบต่อเนื้อตับส่วนดีน้อยที่สุด

 

มีข้อดี คือ ไม่ต้องผ่าตัด เพียงแต่ใช้ยาชาเฉพาะที่ หรือใช้ยานอนหลับในปริมาณเล็กน้อย ใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาล 1-2 วันเท่านั้น ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดสามารถกลับไปทำกิจกรรม หรือทำงานได้ตามปกติภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ทั้งนี้การทำ RFA นี้ถือเป็นการรักษาที่มีความปลอดภัยสูง มีผลข้างเคียงต่ำเมื่อเทียบกับการผ่าตัด ส่วนผลการรักษานั้น จะสามารถทำลายมะเร็งตับในอัตราที่ใกล้เคียงกับการผ่าตัด อัตรารอดชีวิตสูงเท่ากับการผ่าตัด

 

ปวดท้อง

 

 

กลไกในการรักษา

เป้าหมายของการทำลายก้อนมะเร็งตับด้วยความร้อน คือ ต้องทำลายก้อนมะเร็งได้ทั้งหมด รวมทั้งเนื้อตับโดยรอบก้อนมะเร็งตับออกไปอีกประมาณ 0.5 - 1 เซนติเมตร ซึ่งเข็มจะเป็น ตัวนำพลังงานเข้ามาภายในตับเปลี่ยนเป็นความร้อนเพื่อทำลายไม่ให้มีเซลล์มะเร็งให้ได้ขอบเขตอย่างที่ต้องการ โดยใช้เวลาในการรักษาประมาณ 1 ชั่วโมง

 

 

ขั้นตอนการรักษา

  1. ผู้ป่วยจะต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อเตรียมตัวก่อนการรักษา โดยการเจาะเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ LFT, Coagulogram, Platelet count, AFP, BUN, Creatinine
  2. แพทย์ทำการเตรียมผิวหนังทำความสะอาดบริเวณหน้าท้อง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่แพทย์จะสอดเข็ม
  3. รังสีแพทย์จะทำการยืนยันตำแหน่งก้อนจากเครื่องอัลตราซาวน์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
  4. รังสีแพทย์จะกำหนดทางเข้าที่ปลอดภัยในการสอดเข็ม และทำการฉีดยาชาเฉพาะที่
  5. วิสัญญี่แพทย์จะให้ยาระงับความรู้สึกร่วมกับยาแก้ปวด
  6. รังสีแพทย์จะสอดเข็มผ่านผิวหนังสู่ตำแหน่งก้อนเนื้องอก เมื่อได้ตำแหน่งที่เหมาะสม คือเข็มอยู่ในตำแหน่งกลางก้อนและคาดว่าความร้อนที่แผ่ออกจากเข็มจะครอบคลุมก้อนเนื้องอกทั้งหมด
  7. รังสีแพทย์จะทำการรักษาด้วยการให้ความร้อนเพื่อให้ได้อุณหภูมิในก้อนเนื้องอกอยู่ในระหว่าง 60 ถึง 100 องศาเซลเซียส

 

 

การปฏิบัติตัวภายหลังการตรวจ

  1. นอนราบบนเตียงประมาณ 4 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการตกเลือด ถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อน แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านได้ในวันรุ่งขึ้น
  2. ผู้ป่วยอาจมีอาการไข้ต่ำๆ ปวดแน่นบริเวณแผลได้บ้าง ซึ่งสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยยาแก้ปวด ลดไข้
  3. ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวัน และทำงานได้ตามปกติยกเว้นงานหนัก เช่น แบกหามของหนัก หรือออกกำลังกายอย่างหนัก
  4. การติดตามผลของการรักษาหลังจากการจี้ก้อนเนื้องอกนั้น จะทำการตรวจด้วยภาพวินิจฉัยได้แก่ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) โดยจะทำการตรวจที่ 4 สัปดาห์หลังทำการรักษา

 

หมอเยี่ยมไข้

 

 

ข้อบ่งชี้ในการรักษา

  1. ก้อนเนื้องอกมะเร็งตับที่มีขนาดเล็ก (น้อยกว่า 5 ซม.)
  2. ก้อนเนื้องอกมะเร็งตับที่มีจำนวนน้อยกว่า 3 ก้อนก้อนเนื้องอกมะเร็งตับขนาดเล็กที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ เช่น ร่างกายผู้ป่วยไม่แข็งแรงพอสำหรับการผ่าตัดใหญ่
  3. ใช้รักษาก้อนเนื้องอกขณะที่ผู้ป่วยรอรับการรักษาด้วยการเปลี่ยนตับ

 

 

ข้อห้ามและข้อจำกัดในการรักษา

  1. ผู้ป่วยมะเร็งตับในขั้น Child's class C
  2. ผู้ป่วยที่มีการแพร่กระจายของโรคมะเร็งตับไปอวัยวะอื่นๆ
  3. ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด