การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เข้าใจทุกจังหวะ เฝ้าสังเกตทุกความผิดแปลก

October 22 / 2024

ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

 

 

 

     เข้าใจทุกจังหวะ พร้อมเฝ้าสังเกตทุกความผิดแปลกในแต่ละวินาทีผ่านเส้นกราฟ ดูเป็นคำกล่าวรวมเรียกการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่เห็นภาพง่ายที่สุด เพราะนอกจากจะสะดวกและรวดเร็ว การตรวจชนิดนี้ยังเป็นการตรวจพื้นฐานที่ทุกสถานพยาบาลควรมีรองรับ เมื่อไหร่ที่เจ็บหน้าอก เหงื่อออก ใจสั่น เวียนศีรษะ หน้ามืดจะเป็นลมและหายใจลำบาก การเข้าพบแพทย์เพื่อเข้าตรวจยิ่งจำเป็น

 

ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

 

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

     การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram : EKG) คือการตรวจหาความผิดปรกติเบื้องต้นด้วยการรับสัญญาณไฟฟ้าหัวใจที่ปล่อยมาผ่านการเต้นในแต่ละจังหวะ เพื่อประกอบการวินิจฉัยโอกาสเสี่ยงเกิดโรค เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ

 

ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

 

EKG วินิจฉัยได้หลากโรค

     แพทย์ใช้กราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจประกอบการแปรผลเพื่อหาความผิดปรกติ เช่น อัตราเต้นของหัวใจสม่ำเสมอไหม การทำงานของหัวใจบน-ล่างสัมพันธ์กันหรือไม่ ซึ่งใช้สืบได้หลากโรคหัวใจ

  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
  • โรคหัวใจโตหรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว
  • โรคทางพันธุกรรม เช่น โรคไหลตาย
  • ภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

 

ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

 

การตรวจร่วมที่นิยมใช้

     แม้ผลตรวจกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะปรกติ ก็ยังมีโรคแฝงเร้นนอกกราฟที่ต้องสืบหาต่อไป หลายครั้งเมื่อผู้ป่วยมีอาการใจสั่นและไม่พบความผิดปรกติใด แพทย์จะใช้การตรวจร่วม

  • การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดติดตัว แพทย์มักใช้เมื่อสงสัยว่าหัวใจของผู้ป่วยทำงานผิดปรกติ แม้ไม่พบอะไรหลังเข้ารับการตรวจ โดยเครื่องจะช่วยติดตามตลอด 24 ชั่วโมง 

  • การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย หรือ ‘Exercise Stress Test’ (EST) ใช้เพื่อสืบหาโรคขณะทำกิจกรรมหนัก โดยทั่วไปคือการเดินสายพาน

  • การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ เน้นใช้คลื่นความถี่สูงอัลตราซาวน์ตรวจสภาพความผิดปรกติโดยละเอียดบริเวณทรวงอก ก่อนฉายภาพโครงสร้างของหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ การบีบตัวของหัวใจ การไหลเวียนเลือด เนื้องอก ภาวะติดเชื้อ


อ่านเพิ่มเติม: จะรู้ได้อย่างไร? ว่าเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า

 

ขั้นตอนการตรวจ

     แพทย์จะเริ่มซักประวัติสุขภาพของผู้เข้ารับการตรวจ ก่อนส่งเข้าห้องโดยให้นอนสงบบนเตียงตรวจ เจ้าหน้าที่จะเริ่มทำความสะอาดผิวหนังและป้ายเจล ก่อนติดแผ่นอิเล็กโทรด (Electrode) บริเวณอก แขนและขารวม 10 จุด เพื่อให้เครื่องตรวจประมวลผลและแสดงภาพกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยกระบวนการจะเสร็จสิ้นราว 15 นาที

 

ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

 

การแปรผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

ระหว่างตรวจ ตัวเครื่องรับสัญญาณไฟฟ้าและแปรผลเป็นกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 12 เส้น ซึ่งประกอบด้วย

  • P Wave เมื่อ SA Node เริ่มส่งกระแสไฟฟ้าไปยังห้องหัวใจบนซ้าย-ขวาให้บีบตัวพร้อมกัน จะเกิดคลื่นไฟฟ้าเป็นเนินต่ำ

  • QRS Complex คลื่นไฟฟ้าปลายแหลมสูงที่เกิดจากการบีบตัวของห้องหัวใจล่างซ้าย-ขวา

  • T Wave คลื่นไฟฟ้าหัวใจเมื่อคลายตัว


อ่านเพิ่มเติม: ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ Cardiac Arrhythmia

 

 

ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

 

 

Q&A ตอบประเด็นย่อยเรื่องการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

EKG และ ECG แตกต่างกันไหม

ทั้งคู่ต่างสื่อถึงการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเหมือนกัน แต่แตกต่างกันเล็กน้อยด้วยที่มาของคำเรียก เนื่องจาก EKG เป็นการย่อจากคำเต็มที่เป็นภาษาเยอรมัน โดยนิยมใช้ตัวย่อ EKG เพื่อกันสับสนกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) 

มีผลข้างเคียงและอันตรายไหม?

เนื่องจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นเพียงการตรวจและบันทึกคลื่นสัญญาณไฟฟ้า จึงไม่ก่ออาการเจ็บหรือผลข้างเคียงใด ๆ โดยใช้เวลาตรวจเพียง 5 - 10 นาที ก็สามารถใช้ชีวิตตามปรกติ

เตรียมตัวก่อนตรวจอย่างไร

ควรงดออกกำลังกายก่อนเข้าตรวจหนึ่งวัน และโปรดแจ้งให้แพทย์ทราบหากรับประทานอาหารเสริมหรือยาประจำตัว เพื่อการตรวจที่มีประสิทธิภาพ

ข้อจำกัดของการตรวจ

แม้ว่าเป็นการตรวจหัวใจที่มีประสิทธิภาพสูง ก็ยังต้องใช้ร่วมกับการตรวจอื่นเพื่อล่วงรู้ครอบคลุมหลากสาเหตุ เมื่อแนวโน้มอาการดูเจาะจงด้วยโรคจำเพาะ แพทย์อาจใช้การตรวจอื่นประกอบวินิจฉัย เช่น การฉีดสีสวนหัวใจ