“มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ” ใกล้ตัวเรามากแค่ไหน?

October 18 / 2024

 

มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ

 

 

     มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ หรือ Cardiac Rhabdomyosarcoma เป็นโรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อลายของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งพบได้น้อยมากเพียง 0.1% ของโรคเนื้องอกที่เกิดกับหัวใจ โดยส่วนใหญ่จะพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ และผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิง แม้จะพบไม่บ่อยแต่ก็ไม่ควรมองข้าม เพราะโรคนี้มีความอันตรายและสามารถกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว 

 

มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ

 

 

ลักษณะอาการ

     อาการเริ่มต้นมักมีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น หรือขาบวม ในกรณีที่เป็นมากจะมีอาการหอบเหนื่อย ตัวบวม และนอนราบไม่ได้ ซึ่งเป็นสัญญาณของภาวะหัวใจล้มเหลว

 

สาเหตุของโรคมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ

     โรคนี้เกิดจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งอาจเริ่มจากจุดเล็กๆ แล้วกระจายไปยังอวัยวะใกล้เคียง เช่น ปอดหรือต่อมน้ำเหลือง และอาจกระจายไปทั่วร่างกายผ่านกระแสเลือด แม้ว่าสาเหตุที่แน่นอนของโรคนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่บางกรณีอาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ และพบในครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคนี้ประมาณ 10% นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ การได้รับรังสีที่บริเวณทรวงอก การสัมผัสสารพิษหรือสารเคมีในปริมาณมาก รวมถึงการสูบบุหรี่ ซึ่งล้วนมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ

 

มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ

 

การวินิจฉัยโรคมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ

     การตรวจวินิจฉัยเริ่มตั้งแต่การซักถามประวัติและตรวจร่างกาย หากมีอาการที่ชัดเจน แพทย์อาจทำการตรวจกราฟหัวใจและเอกซเรย์ปอด ทำ CT Scan หรือ MRI และส่งตรวจชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำ

 

การรักษามะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ

     การรักษามะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยวิธีที่ใช้ได้ผลคือการผ่าตัดร่วมกับเคมีบำบัดและการฉายแสง แต่โอกาสในการหายขาดค่อนข้างน้อย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ได้รับการวินิจฉัยมักจะเสียชีวิตภายใน 1 ปี วิธีที่มีโอกาสช่วยรักษาในปัจจุบันคือการเปลี่ยนหัวใจ (Heart Transplant)

 

บทสรุปของโรค

     การวินิจฉัยและการรักษาในระยะแรกเป็นสิ่งสำคัญ หากมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก ขาบวม หรือนอนราบไม่ได้ แนะนำควรรีบไปพบแพทย์ตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม โดยเฉพาะหากมีประวัติครอบครัวเกี่ยวกับโรคหัวใจ

 


นอกจากนี้การตรวจสุขภาพประจำปีก็เป็นสิ่งสำคัญเพื่อเฝ้าระวังอาการผิดปกติและความเสี่ยงต่อโรคหัวใจแต่เนิ่นๆ ลงทุนกับสุขภาพไม่ขาดทุนแน่นอน อย่ารอจนสายเกินไปนะครับ