นวัตกรรมการตรวจจอประสาทตา (Optical Coherence Tomography)

February 23 / 2024

นวัตกรรมการตรวจจอประสาทตา (Optical Coherence Tomography)

การตรวจวิเคราะห์ชั้นจอประสาทตาด้วยเลเซอร์

 

 

 

โรคจอประสาทตาเสื่อม เนื่องจากอายุ (AMD หรือ Age-related Macular Degeneration)

เป็นโรคที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นในจอประสาทตา, พบมากที่สุดในกลุ่มประชากร อายุ 50 ปีขึ้นไป และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการสูญเสียการมองเห็นในผู้สูงอายุ โดยจากการสำรวจขององค์การอนามัยโลก ปี พ.ศ. 2552 พบว่า โรค AMD เป็นสาเหตุ อันดับ 4 ของภาวะตาบอดในประชากรทั่วโลก (รองจากโรคต้อกระจก, โรคสายตาผิดปกติ, โรคต้อหิน)

 

 

 

 

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม ?

 

อาการและอาการแสดงโรคจอประสาทตาเสื่อม อาจแสดงอาการแตกต่างกันในคนไข้แต่ละคน และยากต่อคนไข้ที่จะสังเกตความผิดปกติในการมองเห็นเองตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โดยเฉพาะถ้าตาอีกข้างหนึ่งยังมองเห็นได้ดี คนไข้อาจไม่สังเกตถึงความผิดปกติไปหลายปี แต่ถ้ามีจอประสาทตาเสื่อมเกิดขึ้นในตาทั้ง 2 ข้าง คนไข้จะรู้สึกถึงความผิดปกติในการมองเห็นอย่างรวดเร็ว เช่น มองตรงกลางภาพไม่ชัด ส่วนกลางของภาพที่มองขาดหายไป หรือมืดดำไปหรือภาพที่เห็นดูบิดเบี้ยวไป

 

 

อะไรเป็นสาเหตุของโรคจอประสาทตาเสื่อม ?

 

ส่วนใหญ่แล้ว พบในผู้สูงอายุเชื่อว่าเป็นขบวนการเสื่อมสภาพของร่างกายและพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่มีอิทธิพลต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมตามอายุ ได้แก่

  • อายุ : พบโรคนี้ได้บ่อยขึ้นในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป
  • พันธุกรรม : มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของคนที่เป็นโรคกับญาติสายตรง จึงแนะนำให้ญาติผู้ป่วยควรได้รับการตรวจเช็คจอประสาทตาทุก 1 ปี
  • บุหรี่ : มีหลักฐานทางการศึกษาพบว่า การสูบบุหรี่ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคอย่างชัดเจน
  • ความดันเลือดสูง : คนไข้ที่ต้องทานยาลดความดันเลือด และมีระดับของไขมัน Cholesterol ในเลือดสูงและระดับ Carotenoid ในเลือดต่ำมีความเสี่ยงสูงมากต่อการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมแบบสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว

 

 

ทำไมบุคคลทั่วไปที่ไม่มีอาการผิดปกติด้านจอประสาทตา ต้องตรวจสุขภาพตา ?

 

แม้ว่าไม่มีอาการผิดปกติในการมองเห็น ควรได้รับการตรวจสุขภาพตา (รวมทั้งตรวจจอประสาทตา) ทุก 2-4 ปี, สำหรับคนที่มีอายุ ตั้งแต่ 50 ปีขั้นไป แนะนำให้ตรวจทุก 1-2 ปี แม้ไม่มีอาการผิดปกติในการมองเห็น เนื่องจากการที่คนไข้จะรู้สึกถึงความผิดปกติจากโรคจอประสาทตาเสื่อม ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกเป็นสิ่งที่ยาก แต่ในขณะเดียวกันการตรวจพบและให้การรักษาโรคตั้งแต่ระยะแรกเริ่มเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด เพราะว่า จอประสาทตาที่เสื่อมเสียไปแล้วมีแต่จะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ

การรักษาในปัจจุบันจึงทำได้เพียงหยุดหรือชะลอการเสื่อมเสียของจอประสาทตาให้ช้าที่สุด ซึ่งอาจรักษาไม่ได้เลยถ้าโรคเป็นรุนแรง

 

 

จักษุแพทย์ทำการวินิจฉัย โรคจอประสาทตาเสื่อมได้อย่างไร ?

 

จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคจอประสาทตา ( Retina specialist ) จะมีวิธีในการตรวจหาความผิดปกติที่จอประสาทตา โดยใช้

  • กล้องส่องสภาพจอประสาทตา และกล้องจุลทัศน์สำหรับตาโดยเครื่องมือเหล่านี้จะใช้ในการตรวจหลายขั้นตอนแยกเป็นกลุ่มหลักๆ ได้แก่
    • ตรวจพิเศษด้วยเครื่องถ่ายภาพ ( Fluorescein angiography ) การฉีดสาร Fluorescein เข้าเส้นเลือดดำเพื่อตรวจดูจอประสาทตา
    • ตรวจวิเคราะห์ภาพตัดขวางจอประสาทตาด้วยเลเซอร์ ( Optical coherence tomography ) เพื่อดูลักษณะและขอบเขตความผิดปกติที่เกิดขึ้นเพื่อกำหนดแนวทางรักษา และพยากรณ์การดำเนินโรค ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล่าสุดในการตรวจจอประสาทตา

 

โรคใดบ้างที่จะได้รับประโยชน์จากการตรวจจอประสาทตาด้วยเครื่อง Optical coherence tomography (OCT)

 

  • โรคจอประสาทตาจากโรคเบาหวาน
  • โรคจอประสาทตาเสื่อม เนื่องจากอายุ (AMD)
  • โรคจุดรับภาพบวมจากภาวะต่างๆ เช่น เบาหวาน, เส้นเลือดดำที่จอประสาทตาอุดตัน
  • โรคจุดรับภาพฉีกขาด
  • ภาวะผังผืดที่จอประสาทตาและจุดรับภาพ
  • ภาวะจอประสาทตาหลุดลอก
  • ภาวะเส้นเลือดผิดปกติที่จอประสาทตา
  • โรคต้อหิน

 

คนทั่วไปที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ควรได้รับการตรวจจอประสาทตาจากจักษุแพทย์ เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม

 

 

ข้อดีของการตรวจจอประสาทตาด้วยเครื่อง Optical coherence tomography (OCT)

 

เป็นเครื่องมือตรวจวินิจฉัยพยาธิสภาพในขั้นต่างๆ ของจอประสาทตาโดยสามารถดูได้ละเอียดถึงประมาณ 0.01 มิลลิเมตร การตรวจทำได้ง่ายและรวดเร็วโดยไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด ไม่ต้องฉีดยาและไม่ต้องสัมผัสรังสี