การฉีดสีสวนหัวใจ (CAG) ตรวจก่อนใครให้ห่างไกลโรคหัวใจตีบ

January 07 / 2025

ฉีดสีสวนหัวใจ

 

 

     บางครั้งก็เรียกว่า 'การสวนหัวใจ' บ้างก็เรียกว่าการฉีดสีสวนหัวใจ ซึ่งแพทย์มักใช้เป็นการตรวจสุดท้ายเมื่อสงสัยว่าผู้ป่วยมีภาวะหัวใจตีบจากการตรวจอื่น เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจเอคโค่ การเดินสายพานทดสอบหัวใจ

 

ฉีดสีสวนหัวใจ

 

การฉีดสีสวนหัวใจ

     การฉีดสีสวนหัวใจ (CAG: Coronary Angiography) คือการตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยาด้วยการสอดสายตรวจขนาดเล็กผ่านหลอดเลือดตามข้อมือหรือขาหนีบสู่หัวใจ ก่อนฉีดสารทึบรังสีตามเพื่อดูสภาพกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจและการไหลเวียนในหลอดเลือดว่ามีภาวะตีบหรืออุดตันในตำแหน่งใดได้อย่างแม่นยำและตรงจุด

 

เมื่อไหร่ที่ควรตรวจด้วยการฉีดสีสวนหัวใจ

โดยทั่วไปแพทย์ใช้การฉีดสีสวนหัวใจด้วยหลากจุดประสงค์ในกรณีที่

 

  • แพทย์ต้องการหาสาเหตุของอาการแน่นที่ทรวงอกและรอยโรคอื่นซึ่งคาดว่าเป็นภาวะหัวใจตีบ คลื่นไฟฟ้าหัวใจเต้นผิดจังหวะและอื่น ๆ
  • ใช้ตระเตรียมการรักษาด้วยการใช้บอลลูนและขดลวดขยายหลอดเลือดหรือวิธีอื่นที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล

 

ฉีดสีสวนหัวใจ

 

รู้จักโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

     จากสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลกยังหนีไม่พ้นโรคหัวใจ โดยคิดเฉลี่ยการเสียชีวิตชั่วโมงละ 8 คนเป็นอย่างน้อย และ ‘โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ’ ก็ยังเป็นหนึ่งในนั้น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเกิดจากหลอดเลือดแข็งตัวจนเปราะตีบ หรือมีไขมันเกาะตามผนังจนลำเลียงเลือดสู่หัวใจไม่เพียงพอจนเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดและโรคอื่นร่วม

 

อาการแสดงออกที่เข้าข่ายโรคหัวใจตีบ

 

  • รู้สึกเจ็บ แน่นอกและลิ้นปี่ซึ่งอาจร้าวไปถึงกรามและแขนด้านซ้าย
  • เริ่มหายใจหอบ เหงื่อแตกและใจสั่น
  • บางรายที่เป็นเบาหวานจะเริ่มมีปลายประสาทชา เหนื่อยง่ายและหายใจลำบาก

 


อ่านเพิ่มเติม: ประสบการณ์ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ 2 เส้นด้วยการทำบอลลูน

 

การฉีดสีสวนหัวใจ

 

ขั้นตอนการฉีดสีสวนหัวใจ

     เริ่มแรกแพทย์จะให้ยาชาแก่ผู้เข้ารับการตรวจก่อนใช้สายสวนตรวจขนาดเล็กสอดเข้าหลอดเลือดหัวใจจากข้อมือหรือขาหนีบ  หลังจากนั้นแพทย์จะเริ่มฉีดสารทึบรังสีกลุ่มไอโอดีนเพื่อดูการไหลเวียนเลือดผ่านจอเอกซเรย์ ซึ่งทั้งหมดใช้เวลา 30 - 50 นาทีภายในห้อง Cath Lab ปลอดเชื้อพร้อมเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูง

 

การเตรียมตัวเข้ารับการตรวจ

  • งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 4 - 6 ชั่วโมง
  • ควรงดรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • ควรตรวจดูสภาพไตก่อนเข้ารับการฉีดสีสวนหัวใจ
  • โปรดแจ้งให้เราทราบถึงโรคประจำตัวหรือกลุ่มอาการแพ้ที่เป็นอยู่

 

 

ฉีดสีสวนหัวใจ

 

ข้อแนะนำหลังการตรวจ

  • แพทย์หรือพยาบาลจะกดห้ามเลือดบริเวณที่เจาะราว 15 นาที
  • ให้นอนราบหลังตรวจสักระยะตามคำแนะนำของแพทย์ในกรณีสวนสายเข้าหลอดเลือดตรงขาหนีบ
  • อาจเกิดเลือดออกใต้ผิวหนังบริเวณที่เจาะ ซึ่งจางหายไปหลังผ่านไป 2 - 3 วัน
  • หากมีอาการแพ้สารทึบรังสีหลังตรวจควรเข้าพบแพทย์
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หากรู้สึกเจ็บบริเวณที่เจาะสอด
  • งดการมีเพศสัมพันธ์หลังตรวจอย่างน้อย 1 สัปดาห์

 

ฉีดสีสวนหัวใจ

 

เพราะเราดูแลหัวใจของคุณในทุกจังหวะ

     ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลรามคำแหงพร้อมให้การดูแลสุขภาพหัวใจกว่าหลายทศวรรษ ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะด้านหัวใจร่วมเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงที่ให้คุณรู้สึกสบายใจยิ่งขึ้นเมื่ออยู่กับเราตลอด 24 ชั่วโมง