ECMO เทคโนโลยีช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด

August 28 / 2024

 

ECMO เทคโนโลยีช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด

(ECMO : Extracorporeal Membrane Oxygenation)

 

 

ทำความรู้จักกับ ECMO

Extracorporeal Membrane Oxygenation (ECMO) คือเครื่องมือที่สามารถทำงานทดแทนการทำงานของหัวใจและปอด ในกรณีที่หัวใจและปอดทำงานผิดปกติจากสาเหตุต่างๆ เช่น โรคหัวใจอักเสบ (Myocarditis), โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary Artery Disease), โรคระบบหายใจล้มเหลวแบบรุนแรง (Acute Respiratory Distress Syndrome) โดยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานเต็มที่แล้วไม่ได้ผล เพื่อประคับประคองให้หัวใจและปอด ได้รับการรักษาหรือฟื้นตัวจนกลับมาเป็นปกติ

 

เครื่อง ECMO

 

 

หลักการทำงานของเครื่อง ECMO

ตัวเครื่องจะทำหน้าที่แทนหัวใจ คือ ปั๊มเลือดแทนการบีบตัวของหัวใจและจะมีตัวกรองที่ทำหน้าที่แทนปอด (แลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์) โดยตัวเครื่องจะนำเลือดดำออกจากตัวผู้ป่วยผ่านท่อ และทำการฟอกเลือด แล้วส่งเลือดกลับเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการทำงานของเครื่องปอดหัวใจเทียมที่ใช้ในการผ่าตัดหัวใจ

 

 

ข้อบ่งชี้ในการใช้เครื่อง ECMO

  • ผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของหัวใจล้มเหลวหรือการทำงานของหัวใจและปอดล้มเหลว (V-A ECMO)
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของปอดล้มเหลวอย่างเดียว (V-V ECMO)
  • ใช้ช่วยขณะทำการฟื้นคืนชีพผู้ป่วย (ECMO-CPR)

ทั้งนี้ภาวะหัวใจและปอดล้มเหลวอาจเกิดขึ้นได้จากทั้งตัวโรคหรือเกิดหลังจากการทำหัตถการและการผ่าตัดหัวใจ

 

คนเจ็บหัวใจ

 

 

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้จากการใส่เครื่อง ECMO

  • เลือดออกตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เนื่องจากต้องให้ยากันเลือดแข็งตัว
  • ภาวะการติดเชื้อบริเวณที่ใส่ท่อ
  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดสมอง (Stroke)
  • ภาวะขาขาดเลือด (ซึ่งแก้ไขได้โดยการใส่สาย เพื่อนำเลือดไปเลี้ยงขาข้างที่ใส่ท่อ)

 

 

ผลการรักษาด้วยเครื่อง ECMO

  • ผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องมีอัตราการรอดชีวิตประมาณร้อยละ 50 โดยเฉลี่ย (อ้างอิงจาก ELSO)

 

 

การหยุดใช้เครื่อง ECMO

  • จะสามารถหยุดเครื่องและนำท่อออกได้เมื่อหัวใจและปอดกลับมาทำงานได้ปกติหรือใกล้เคียงปกติ

 

ดูแลหัวใจด้วยใจ

 

 

 

ข้อมูลโดย

รศ. นพ.เสรี สิงหถนัดกิจ