รู้จักโรค RSV ภัยร้าย ที่ผู้สูงอายุไม่ควรมองข้าม

August 15 / 2024

 

รู้จักโรค RSV ภัยร้าย ที่ผู้สูงอายุไม่ควรมองข้าม

 

 

โรคที่ไม่คุ้นหูแต่อาจจะเคยได้ยินข่าวเด็กเล็กป่วยเป็นโรคนี้อยู่บ่อยครั้ง รู้หรือไม่ว่าเป็นวัยผู้ใหญ่ ก็สามารถเป็นได้โดยเฉพาะในวัยผู้สูงอายุโรคนี้มีผลกระทบรุนแรงมาก เนื่องจากเป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น หลอดลมและปอดไวรัสนี้มีลักษณะเฉพาะที่สามารถทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ตั้งแต่ระดับเบาไปจนถึงทำให้เกิดอาการขั้นรุนแรงได้เลย และยิ่งอากาศในช่วงนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ก็ยิ่งเป็นช่วงที่ปลายฤดูฝนไปจนถึงฤดูหนาวก็มีโอกาสที่พบโรคนี้ได้สูงขึ้นกว่าฤดูอื่น ๆ เพราะฉะนั้นการทำความรู้จักกับโรครวมไปถึงวิธีการป้องกันก็จะช่วยลดความเสี่ยงรวมถึงการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความร้ายแรงในอนาคตอีกด้วย  

 

 

สาเหตุของโรค RSV

 

ไวรัส RSV เป็นไวรัสที่แพร่กระจายได้ง่ายผ่านละอองฝอยจากการไอหรือจาม ไวรัสนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูก ปาก หรือดวงตา โดยเกิดได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อหรือสัมผัสเชื้อได้โดยตรงจากการจับมือหรือเมื่อบุคคลสัมผัสกับพื้นผิวที่มีไวรัสและนำมือมาสัมผัสใบหน้าหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อน เชื้อไวรัสนี้สามารถติดต่อได้ง่ายในสภาพแวดล้อมที่มีคนอยู่หนาแน่นได้เช่นเดียวกัน เพราะเป็นไวรัสที่สามารถอยู่บนพื้นผิวต่างๆได้นานหลายชั่วโมง และแพร่กระจายได้ง่ายผ่านการไอหรือจาม 

 

โรค rsv

 

 

อาการของโรค RSV

ผู้สูงอายุและกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวนั้นเสี่ยงต่อการเป็น RSV ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป โดยส่วนใหญ่อาการของ RSV จะมีลักษณะคล้ายกับอาการของหวัดธรรมดา แต่จะแตกต่างกันตรง RSV จะมีไข้สูงและจะมีระยะเวลาในการเป็นนานกว่าไข้หวัดธรรมดาโดยจะอยู่ที่ 5-7 วัน ซึ่งสามารถสังเกตอาการของตนเองได้ดังนี้ 

  • มีไข้
  • ไอเรื้อรัง
  • หายใจลำบาก
  • หายใจสั้นและเร็ว
  • เสมหะมากขึ้น
  • เหนื่อยล้าและอ่อนแรง

 

สำหรับผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นโรค RSV มักจะมีอาการระยะสั้นไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ แต่ถ้าหากเป็นผู้ป่วยในกลุ่มโรคหลอดลมอักเสบ หรือกลุ่มที่มีโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด ทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง ก็อาจทำให้มีอาการไอต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือนได้

 

 

ความร้ายแรงของโรค RSV ในผู้สูงอายุ

 

สำหรับผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรงเมื่อเทียบเท่ากับวัยหนุ่มสาว ทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ RSV ได้ง่ายกว่าวัยอื่น ๆ และอาจนำไปสู่โรคร้ายแรงอื่น ๆ ได้ด้วย นอกจากนี้หากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวอื่นหรือระบบภูมิกันอ่อนแอร่วมด้วย ก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ หรือภาวะหายใจล้มเหลว เมื่อได้รับเชื้อ RSV อาจทำให้สุขภาพหรืออาการของโรคก็จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีกเพราะฉะนั้นการดูแลสุขภาพและการป้องกันการติดเชื้อจึงเป็นสิ่งสำคัญ

 

 

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรค RSV

 

ถ้าผู้ป่วยพบว่ามีอาการเบื้องต้นและยังไม่แน่ใจว่าได้รับเชื้อ RSV หรือไม่ แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอาการ โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยโรค RSV โดยการตรวจอาการและทำการตรวจจากสารคัดหลั่งจากจมูกหรือคอ เพื่อหาหลักฐานของไวรัส  ซึ่งจะตรวจพบเชื้อ RSV เพียงร้อยละ 53-96 ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ RSV ซึ่งการตรวจทำได้ในบางโรงพยาบาลเท่านั้น เมื่อแพทย์พบเชื้อจะรักษาตามอาการของผู้ป่วย แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล

 

โรค rsv

 

 

วิธีการรักษาและการป้องกัน และวัคซีน RSV

 

โรค RSV เป็นโรคติดเชื้อที่ถึงแม้หายแล้วก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก เพราะภูมิคุ้มกันอยู่ได้ไม่นาน สามารถแพร่กระจายจากเด็กเล็กให้ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ รวมไปถึงคนที่มีโรคประจำตัวโรคปอด โรคหัวใจ และภูมิคุ้มกันต่ำ ก็สามารถป่วยหนักถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

ปัจจุบันมีวัคซีน RSV ที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงการติดเชื้อและความรุนแรงของโรค RSV และโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้โดยตรง ซึ่งมีทั้งวัคซีนสำหรับเด็ก และวัคซีนสำหรับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุการฉีดวัคซีน RSV แนะนำให้ฉีดควบคู่ไปกับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้ออื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ก็จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ ที่อาจทำให้ร่างกายอ่อนแอลงได้ โดยระยะเวลาในการรักษาของแต่ละคนขึ้นกับความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ สำหรับการป้องกันการติดเชื้อ RSV อื่นๆ ก็คือ การเริ่มต้นป้องกันได้ด้วยตัวเอง อย่างการล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลอยู่เสมอ หรือ ใส่หน้ากากอนามัยเป็นประจำ และรักษาความสะอาดทำความสะอาดของเล่นเด็กบ่อย ๆ หรือหากมีคนในบ้านป่วยควรแยกและงดใช้ของส่วนตัวร่วมกัน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ร่วมไปกับการพักผ่อนให้เพียงพอก็เป็นอีกตัวช่วยที่สำคัญในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง ในผู้สูงอายุและเด็กเล็ก หากมีอาการป่วย ควรสังเกตอาการของตนเองเพราะถ้าปล่อยไว้อาจเกิดผลกระทบรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ การตรวจเบื้องต้นจะช่วยให้สามารถแยกผู้ป่วยออกจากบุคคลอื่น ๆ ได้ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค การป้องกันและการรักษา ให้ทันท่วงทีจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่น ๆ ที่ตามมาได้

 

โรค rsv

 

 

วัคซีน RSV คืออะไร?​

 

วัคซีนอาร์เอสวี (Respiratory syncytial virus Respiratory syncytial virus; RSV) “Arexvy” ใช้สำหรับกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันโรคทางเดินหายใจส่วนล่าง (Lower Respiratory Tract Disease; LRTD) ที่มีสาเหตุมาจาก respiratory syncytial virus ซึ่งผลของวัคซีนจะช่วยทำให้ลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อได้ โดยฉีดเพียง 1 เข็ม เท่านั้น

เนื่องจากเชื้อ RSV อาจมีผลทำให้อาการหอบหืดกำเริบได้ และในเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อนี้อาจมีอาการปอดอักเสบรุนแรง ดังนั้นสำหรับคนไข้โรคหืดและปอดเรื้อรังสามารถให้ได้ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป สำหรับผู้สูงอายุทั่วไปสามารถให้ได้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป โดยฉีดเพียงเข็มเดียว สำหรับปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ต่อการติดเชื้อ RSV ได้แก่ การมีโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไต โรคตับ โรคเลือด ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

 

 

ข้อแนะนำในการฉีดวัคซีน RSV

  • สามารถให้ Arexvy ร่วมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตายรวม 4 สายพันธุ์  (standard dose unadjuvanted, high dose unadjuvanted หรือ standard dose adjuvanted)
  • หากฉีดวัคซีน Arexvy พร้อมกับฉีดวัคซีนชนิดอื่น ควรแยกฉีดคนละตำแหน่ง
  • ควรพักดูอาการเพื่อสังเกตอาการแพ้หลังการฉีดวัคซีน
  • ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปในผู้ที่มีไข้สูงอย่างเฉียบพลันรุนแรง แต่ไม่จำเป็นต้องเลื่อนการฉีดวัคซีนในกรณีที่มีการติดเชื้อเล็กน้อย เช่น ไข้หวัด
  • เช่นเดียวกับวัคซีนอื่น ๆ การกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มเพื่อป้องกันอาจเกิดขึ้นในผู้รับวัคซีนบางคน ไม่ใช่ทุกคน
  • ควรสังเกตปฏิกิริยาที่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวล รวมถึงอาการหมดสติ (เป็นลม) การหายใจหอบถี่ หรือปฏิกิริยาที่เกี่ยวข้องกับความเครียดที่อาจเกิดขึ้นในขั้นตอนการฉีดวัคซีน ดังนั้น ต้องระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บจากการเป็นลม

 

 

วัคซีน RSV สำหรับผู้ใหญ่ มีประสิทธิภาพในการป้องกันโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงดังนี้

  • ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 50 ถึง 59 ปี ที่มีความเสี่ยงต่อโรคที่เกิดจาก RSV และมีโรคประจำตัว
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคเรื้อรังต่อเนื่องที่เป็นอยู่ก่อน เช่น โรคปอดเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือดเรื้อรัง, เบาหวาน, โรคไต หรือ โรคตับเรื้อรัง

 

 

ประโยชน์หลังจากที่ฉีดวัคซีนป้องกัน RSV

  • ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัส RSV ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ RSV
  • ในกรณีที่ติดเชื้อ RSV ในผู้สูงอายุ จะช่วยลดความรุนแรงของโรคจากอาการไอ หายใจลำบาก ภาวะปอดอักเสบ และความเสี่ยงต่อการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
  • ป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงจากการติดเชื้อ RSV เช่น ปอดบวม (pneumonia) และหลอดลมฝอยอักเสบ (bronchiolitis)
  • ลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจาก RSV โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงสูง

 

 

ข้อควรระวังในการรับวัคซีน RSV

  • ห้ามฉีด Arexvy ให้ผู้ที่มีอาการแพ้สารออกฤทธิ์ หรือส่วนประกอบใด ๆ ของวัคซีน
  • ควรระมัดระวังการฉีด Arexvy ในผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ หรือผู้ที่มีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด เนื่องจากอาจทำให้มีเลือดออกหลังฉีด
  • ไม่แนะนำให้ฉีด Arexvy ในระหว่างตั้งครรภ์ และในสตรีที่ให้นมบุตร

 

 

ผลข้างเคียงของวัคซีน RSV

อาจมีอาการ ปวด บม แดง บริเวณที่ฉีด อาจมีไข้ หนาวสั่น