เช็กให้ชัวร์! กำลังป่วยทางใจ หรือเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

August 09 / 2024

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

 

หลายคนอาจเคยได้ยินว่าอาการป่วยทางใจโดยเฉพาะอาการแพนิคนั้นมีความเกี่ยวข้องกันโดยตรงกับโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะแต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าทั้ง 2 โรคมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร เพราะทั้ง 2 โรคก็ทำให้เหนื่อยง่าย ใจสั่น หน้ามืด และอาจถึงขั้นหมดสติ ดังนั้น การทำความเข้าใจถึงทั้ง 2 โรคจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อจะได้สามารถแยกแยะอาการที่เกี่ยวกับหัวใจได้ โดยเฉพาะหากคนใกล้ตัวเริ่มมีอาการ ก็จะได้แนะนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงทีนั่นเอง

อาการป่วยทางใจ เป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง

อาการป่วยทางใจ เป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง จะมาให้คำตอบกัน อาการป่วยทางใจ หรือโรคจิตเวช คือ กลุ่มอาการทางจิตใจหรือพฤติกรรมที่ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความบกพร่องในการทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ หรือก่อให้เกิดความรู้สึกทุกข์ทรมาน ในปัจจุบัน มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ทราบว่าตนเองกำลังเผชิญกับโรคจิตเวชอยู่ ในขณะที่หลาย ๆ คนทราบว่าตนเองกำลังป่วย แต่ไม่มาพบแพทย์ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่มีอันตรายถึงชีวิต ดังนั้น เราจึงควรหมั่นสังเกตตนเองและคนรอบตัว เพื่อป้องกันปัญหาและวางแผนการรักษาเพื่อไม่ให้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในระยะยาว โดยโรคจิตเวชที่พบบ่อยได้แก่

โรคซึมเศร้า (Depression)

โรคซึมเศร้า ผู้ป่วยมักรู้สึกท้อแท้ เบื่อหน่าย หดหู่ สะเทือนใจง่าย และรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ไม่มีความสุขกับกิจกรรมที่เคยชอบทำ ในบางรายอาจหลงลืมง่าย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร และปวดหัว หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่ลงและมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง

โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)

โรควิตกกังวลสังเกตได้จากผู้ป่วยมักมีความกังวลในเรื่องทั่ว ๆ ไปในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น เรื่องครอบครัว เรื่องงาน หรือเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียดสะสม และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของร่างกาย เช่น รู้สึกอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ขาดสมาธิ และมีปัญหาในการนอนหลับ เป็นต้น

โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder)

โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว ซึ่งหมายถึง ความผิดปกติทางอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างความรู้สึกหดหู่ ซึมเศร้า และอารมณ์ร่าเริงเกินปกติ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยจะมีอาการซึมเศร้าต่อเนื่องนานหลายเดือน ก่อนเข้าสู่ช่วงที่รู้สึกกระฉับกระเฉง และอารมณ์ดีผิดปกติ อาการเหล่านี้มักเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมองโดยมีสารสื่อประสาทที่ไม่สมดุล โดยมีสาเหตุจากพันธุกรรมที่ผิดปกติ รวมถึงสภาพแวดล้อมของผู้ป่วย เช่น การเลี้ยงดูในวัยเด็ก หรือ ความเครียดในชีวิตประจำวัน

โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder หรือ PTSD)

โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ คือ อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ป่วยประสบกับเหตุการณ์ที่เลวร้ายมาก เช่น เผชิญกับภาวะเฉียดตาย ถูกทำร้าย หรือเห็นคนใกล้ตัวเสียชีวิต ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเกิดความกลัวว่าจะเกิดซ้ำ จนมีอาการหวาดระแวง ตกใจง่าย กังวลในเรื่องเล็กน้อย และคิดถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำ ๆ

โรคแพนิค (Panic Disorder)

โรคแพนิค คือ อาการผิดปกติที่ผู้ป่วยรู้สึกเกิดอาการกลัวและวิตกกังวลขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุ อาการที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากระบบประสาทอัตโนมัติไวต่อสิ่งกระตุ้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจติดขัด หัวใจเต้นเร็ว เวียนศีรษะ จุกแน่น อึดอัดรู้สึกคล้ายจะเป็นลม หรือคลื่นไส้ ซึ่งแม้อาการของโรคแพนิคจะไม่ใช่โรคร้ายแรงแต่ผู้ป่วยมักคิดว่าตนเองกำลังหัวใจวาย หรือเป็นโรคที่ร้ายแรงถึงแก่ชีวิต

 

ป่วยทางใจ รักษา

 

อาการป่วยทางใจ รักษาได้กี่วิธี

อาการป่วยทางใจ รักษาได้กี่วิธี โดยทั่วไป การรักษาผู้ป่วยจิตเวชสามารถทำได้โดยแบ่งออกเป็น 2 แนวทางหลัก ดังนี้

 

  • การใช้ยา

จะเป็นการมุ่งเน้นเพื่อให้ยาเป็นตัวปรับสารเคมีในสมองให้เกิดความสมดุลเพื่อให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น และสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ

  • การบำบัดและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต

เป็นการเน้นการพูดคุย บอกเล่าถึงปัญหา และพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์กับผู้ป่วย รวมถึงการช่วยให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้กิจกรรมที่มีความหมายต่อชีวิต อาทิ การเรียน งานอาชีพ งานอดิเรก หรือคำแนะนำในการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและการใช้สารเสพติด

 

 

นอกจากนี้ คนในครอบครัวควรเปิดใจรับฟังถึงปัญหา รวมถึงควรทำความเข้าใจและให้กำลังใจผู้ป่วย โดยที่ไม่มองว่าผู้ป่วยเป็นบุคคลอันตราย ก็จะเป็นการช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ และหายเป็นปกติได้เร็วขึ้น

 

วิธีแยกระหว่างป่วยทางใจ กับหัวใจเต้นผิดจังหวะ

วิธีแยกระหว่างป่วยทางใจ กับป่วยด้วยอาการหัวใจที่เต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยโรคหัวใจที่เต้นผิดจังหวะ มักมีอัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ น้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที หรือเร็วกว่าปกติ มากกว่า 100 ครั้งต่อนาที หรือเต้นไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ เช่น เต้น ๆ หยุด ๆ หรือเต้นเร็วสลับช้า ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจยืนยันด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ขณะที่มีอาการจะช่วยบอกว่ามีหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่และเป็นขนิดใด ซึ่งภาวะดังกล่าว อาจมีสาเหตุมาจากพฤติกรรม เช่น สูบบุหรี่ ดื่มชา กาแฟ หรือความเครียด รวมถึงอาการทางจิตเวช โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคแพนิค

 

ดังนั้น หากพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ผู้ป่วยควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ได้วินิจฉัยถึงสาเหตุที่แท้จริงของความผิดปกติ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้โรคเกิดความรุนแรงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนในภายหลังอีกด้วย

 

โรคหัวใจผิดจังหวะ รักษาหายไหม

โรคหัวใจผิดจังหวะ รักษาหายไหม ต้องบอกว่าในปัจจุบัน การรักษาโรคนี้สามารถทำได้หลายรูปแบบ โดยแพทย์จะพิจารณาจากระดับความรุนแรงของโรค ในเบื้องต้น แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้รับประทานยาเพื่อควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ หรือใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) โดยการฝังอุปกรณ์บนผนังหน้าอกใต้ผิวหนังในรายที่หัวใจเต้นช้า

 

นอกจากนี้ แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้สายสวนจี้กล้ามเนื้อหัวใจ โดยการปล่อยคลื่นเสียงวิทยุเข้าไปกำจัดเนื้อเยื่อหัวใจที่เป็นสาเหตุทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจทำงานผิดปกติ ซึ่งวิธีการใช้สายสวนนี้นับว่ามีความปลอดภัยและให้ผลการรักษาที่ดี เพิ่มโอกาสการหายขาดให้แก่ผู้ป่วยถึง 95-99% และมีผลข้างเคียงน้อย

 

 

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ดูแล

 

ดูแลตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ดูแลตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ แม้โรคหัวใจจะเป็นโรคเรื้อรังที่มีความรุนแรงและมีอันตรายต่อชีวิต แต่หากเราเริ่มต้นดูแลสุขภาพหัวใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม ก็สามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ โดยอาจเริ่มต้นด้วยการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่าง ๆ ดังนี้

การดูแลสุขภาพร่างกาย

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นรับประทานเนื้อปลา ซึ่งอุดมด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 รวมถึงหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ โดยเฉพาะในของทอด เบเกอรี่ต่าง ๆ เนยเทียม ครีมเทียม เป็นต้น
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อวัน
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและมีคุณภาพอย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง
  • ออกกำลังกายโดยเน้นการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องหรือคาร์ดิโอเพื่อเผาผลาญไขมัน กล่าวคือ ควรเป็นการออกกำลังกายที่มีอัตราการเต้นของหัวใจเหมาะสม โดยคำนวณจากสูตร 0.7 - 0.8 x (220 - อายุ) และควรออกกำลังกายครั้งละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน
  • งดสูบบุหรี่หรือใช้สารเสพติดโดยเด็ดขาด
  • เข้ารับการตรวจร่างกายประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
  • หากมีโรคประจำตัว ควรควบคุมดูแลโรคประจำตัวไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

การดูแลสุขภาพจิตใจ

  • นัดเจอเพื่อนเพื่อพูดคุย สังสรรค์ และแลกเปลี่ยนแนวคิดต่อปัญหาต่าง ๆ รวมถึงทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อให้เกิดการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กันและกัน
  • ลดการเสพสื่อ หรือการรับรู้ข่าวสาร โดยเฉพาะเนื้อหาเชิงลบที่อาจสร้างความกังวลหรือบั่นทอนจิตใจ รวมถึงการใช้โซเชียลมีเดียต่าง ๆ
  • ผ่อนคลายความเครียดโดยการทำงานอดิเรกที่ชอบ ท่องเที่ยว ฝึกสมาธิ หรือทำงานจิตอาสา เป็นต้น
  • หากรู้สึกว่ายังคงกังวล หรือมีปัญหารบกวนใจ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยา หรือ จิตแพทย์เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม

บทสรุป

นอกจากการเข้าพบแพทย์เมื่อร่างกายเกิดความผิดปกติจะมีความสำคัญในการรักษาโรคต่าง ๆ ตั้งแต่เนิ่น ๆ แล้ว ผู้ที่แข็งแรงดี ก็ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทราบถึงสุขภาพร่างกายของเรา และหากตรวจพบโรค ก็จะสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที เพิ่มโอกาสในการขาด และยังเป็นการวางแผนสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย