ตรวจมะเร็งเต้านม โรคร้ายรู้ทันได้ พร้อมประเมินสภาพด้วยตัวเองและแมมโมแกรม

October 24 / 2024

ตรวจมะเร็งเต้านม

 

 

 

     มะเร็งเต้านม เป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านมโรคร้ายนี้อาจจะเกิดขึ้นกับคุณโดยไม่ทันรู้ตัว ดังนั้นการตรวจเต้านมเป็นประจำสามารถช่วยชีวิตคุณได้ การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง เพื่อทำความคุ้นเคยกับเต้านมและสามารถค้นพบสิ่งผิดปกติได้ง่าย

 

 

ควรตรวจหามะเร็งเต้านมเมื่อไร ?

  • ตรวจหาเต้านมด้วยตัวเอง ทุกเดือน,เริ่มตั้งแต่อายุ 20 ปี
  • ตรวจเต้านมโดยแพทย์ ทุกปี, เริ่ม 40 ปี ขึ้นไป
  • ตรวจแมมโมแกรม ทุกปี, เริ่ม 40 ปีขึ้นไป

 

สำหรับผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านม ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะอาจต้องรับการตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรมเร็วกว่าปกติ

 

 

วิธีการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง 3 ท่า

 

ท่าที่ 1 ยืนหน้ากระจก

  • ปล่อยแขนข้างลำตัวตามสบาย เปรียบเทียบเต้านมทั้งสองข้างว่ามีการบิดเบี้ยวของหัวนมหรือมีสิ่งผิดปกติหรือไม่
  • ประสานมือทั้งสองข้างเหนือศีรษะ แล้วกลับมาอยู่ในท่าเท้าสะเอว พร้อมสำรวจหาสิ่งผิดปกติ
  • ให้โค้งตัวมาข้างหน้า โดยใช้มือทั้งสองข้างวางบนเข่าหรือเก้าอี้ ในท่าที่เต้านมจะห้อยลงไปตรงๆ หากมีสิ่งผิดปกติก็จะเห็นได้ชัดมากขึ้น

 

ตรวจมะเร็งเต้านมตรวจมะเร็งเต้านมตรวจมะเร็งเต้านม

 

 

ท่าที่ 2 นอนราบ

  • นอนในท่าสบายแล้วสอดหมอนหรือม้วนผ้าใต้ไหล่ขวา (ถ้าต้องการตรวจเต้านมด้านขวา)
  • ยกแขนขวาเหนือศีรษะเพื่อให้เต้านมด้านนั้นแผ่ราบ ซึ่งจะทำให้คลำก้อนเนื้อได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะส่วนบนด้านนอก ซึ่งมีเนื้อนมหนามากที่สุด และมีการเกิดมะเร็งบ่อยที่สุด
  • ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง (ของมือซ้าย) คลำทั่วทั้งเต้านมและรักแร้ที่สำคัญคือห้ามบีบเต้านมเพราะจะทำให้รู้สึกเหมือนเจอก้อนเนื้อซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่
  • ถ้าต้องการตรวจเต้านมด้านซ้าย ให้สอดหมอนหรือม้วนผ้าใต้ไหล่ซ้าย ยกแขนซ้ายเหนือศีรษะ ใช้มือขวาตรวจตามขั้นตอนเดียวกัน

 

ตรวจมะเร็งเต้านม

 

 

ท่าที่ 3 ขณะอาบน้ำ

  • สำหรับผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดเล็ก ให้วางมือข้างเดียวกับเต้านมบนศีรษะแล้วใช้มืออีกข้างคลำในทิศทางเดียวกันที่ทำในท่านอน
  • สำหรับผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดใหญ่ ให้ใช้มือข้างนั้นประคองและตรวจคลำเต้านมจากด้านล่างส่วนมืออีกข้างให้ตรวจคลำจากด้านบน

 

ตรวจมะเร็งเต้านม

 

 

วิธีการคลำ 3 แบบ

 

วิธีการคลำอาจใช้แบบใดแบบหนึ่งต่อไปนี้..

  • การคลำในแนวก้นหอย เริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านมไปตามแนวก้นหอยจนกระทั่งถึงฐานเต้านมบริเวณรอบรักแร้
  • การคลำในแนวรูปลิ่ม เริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านมจนถึงฐาน แล้วกลับขึ้นสู่ยอดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ให้ทั่วเต้านม
  • การคลำในแนวขึ้นลงจากใต้เต้านมถึงกระดูกไหปลาร้า เริ่มคลำจากใต้เต้านมถึงกระดูกไหปลาร้า แล้วขยับนิ้วทั้งสามคลำในแนวขึ้นลงและสลับกันไปเรื่อย ๆ จนทั่วทั้งเต้านม

 

ตรวจมะเร็งเต้านมตรวจมะเร็งเต้านมตรวจมะเร็งเต้านม

 

 

3 นิ้ว ที่ใช้สัมผัส

  • ใช้บริเวณกึ่งกลางนิ้วส่วนบนทั้งสามนิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง)
  • บริเวณกึ่งกลางนิ้วส่วนบนดังกล่าวจะสัมผัสได้ดี และกว้างกว่าส่วนปลายนิ้ว
  • โค้งฝ่ามือเพื่อปรับให้นิ้วทั้งสามอยู่ในสภาพแบนราบสัมผัสกับเต้านม
  • เคลื่อนนิ้วกด วนไปทั้งเต้านม

 

ตรวจมะเร็งเต้านม

 

 

วิธีการกด 3 ระดับ

  • กดเบา ๆ เพื่อให้รู้สึกถึงบริเวณใต้ผิวหนัง
  • กดปานกลาง เพื่อให้รู้สึกถึงกึ่งกลางของเต้านม
  • กดหนักขึ้น เพื่อให้รู้สึกถึงส่วนลึกใกล้ผนังปอด

 

การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง 3 ท่า 3 นิ้ว 3 แบบ 3 ระดับ เดือนละครั้ง เพื่อทำความคุ้นเคยกับเต้านมและสามารถค้นพบสิ่งผิดปกติได้ง่าย

 

 

ตรวจมะเร็งเต้านม

 

 

การตรวจหามะเร็งเต้านมแบบแมมโมแกรม

     การตรวจแบบแมมโมแกรมมีอยู่สองแบบ (Digital Mammogram with Tomosynthesis) เป็นหนึ่งการตรวจหลังสำหรับคัดกรองมะเร็งเต้านม ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ การตรวจด้วยการใช้ฟิล์มและการตรวจด้วยระบบดิจิตอลซึ่งพัฒนาขึ้นมาใหม่ให้มีละเอียด รวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ปริมาณรังสีน้อยลง

 

ข้อดีของการตรวจแบบแมมโมแกรม

  • ถ้าตรวจพบก้อนจะเห็นขอบเขตได้ชัดขึ้น และมีโปรแกรมสแกนภาพหาความผิดปกติของเต้านมรวมทั้งใช้คลื่นเสียงและความถี่สูงเพื่อวินิจฉัยหาความผิดปกติว่ามี ก้อน ถุงน้ำ หรือไม่
  • สามารถตรวจได้ทั้ง 2 วิธีในครั้งเดียวกัน 

 

 

ตรวจมะเร็งเต้านม

 

 

Q&A คลายข้อสงสัยด้านการตรวจแมมโมแกรม

เวลาทำแมมโมแกรมจะรู้สึกเจ็บมากไหม ?

ปัจจุบันมีแมมโมแกรม 2 แบบ คือ แบบแรกเป็นการตรวจโดยใช้ฟิล์มแบบที่สองเป็นการพัฒนาขึ้นมาใหม่ให้มีความแม่นยำมากขึ้น เป็นการถ่ายด้วยระบบดิจิตอล ซึ่งมีความคมชัดของภาพมากกว่า สามารถบอกตำแหน่งของจุดที่มีปัญหาได้ดีกว่าระบบใช้ฟิล์มและปัญหาเรื่องความเจ็บปวดเต้านมระหว่างการทำแมมโมแกรมจะน้อยมาก เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการกดเต้านมจะค่อยๆ กดลงมาที่บริเวณเต้านมอย่างนุ่มนวลกว่าเครื่องที่ใช้ฟิล์ม และที่โรงพยาบาลเราก็ใช้แมมโมแกรมระบบดิจิตอล

 

โอกาสได้รับอันตรายจากรังสี จากการทำแมมโมแกรม มีมากไหม ?

การทำแมมโมแกรมใช้ปริมาณรังสีที่ต่ำมาก อาจเทียบเท่าหรือน้อยกว่าการถ่ายรังสีทรวงอก ดังนั้น อันตรายจากรังสีต่ำมาก และแมมโมแกรมแบบดิจิตอลนั้น สามารถลดปริมาณรังสีลงจากเดิมประมาณ 30-60 %

 

ตรวจแมมโมแกรมไม่พบความผิดปกติ แสดงว่าไม่เป็นมะเร็งใช่ไหม ?

การตรวจไม่พบความผิดปกติ บอกได้แต่เพียงว่าในขณะนั้นไม่พบมะเร็งเต้านม มะเร็งอาจเกิดขึ้นหลังจากนั้น  หรืออาจมีแล้วแต่ไม่มีลักษณะความผิดปกติในแมมโมแกรม จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมจึงควรตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ และตรวจเอกซเรย์เต้านมเมื่อถึงวัยอันควร รวมทั้งสตรีที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรจะได้รับการตรวจเอกซเรย์เต้านมด้วยระบบแมมโมแกรมปีละ 1 ครั้ง เพื่อที่จะวินิจฉัยมะเร็งให้ได้แต่เนิ่นๆ การรักษาจึงจะได้ผลดี 

 

วิธีดูแลและป้องกันมะเร็งเต้านม

  • ตรวจเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำ เดือนละครั้ง (Breast Self Examination) หลังหมดประจำเดือน 7-10 วัน
  • ตรวจโดยแพทย์ (Physical Examination)
  • ตรวจเอกซเรย์เต้านมเมื่อถึงวัยอันควร (Mammogram)

 

รับชมวิดีโอ: มะเร็งเต้านม

 

แก้ไขล่าสุด 25/08/64