หัวใจเต้นผิดจังหวะ จี้ไฟฟ้าหัวใจ 3 มิติ ศูนย์หัวใจรามคำแหง

December 23 / 2024

 

จี้ไฟฟ้าหัวใจ

 

 

     ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ คือภาวะที่หัวใจเต้นผิดปกติ ไม่สม่ำเสมอ อาจเต้นช้าหรือเร็วเกินไป ซึ่งเป็นผลมาจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้า หรือการลัดวงจรของไฟฟ้าในหัวใจ ทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ โดยหากปล่อยไว้ ก็ทำให้เสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว และโรคหลอดเลือดในสมอง

 

ในปัจจุบัน ภาวะดังกล่าวสามารถรักษาได้ด้วยเทคโนโลยี CARTO ซึ่งเป็นการรักษาโดยใช้เครื่องมือประเมินหาจุดกำเนิดไฟฟ้าหัวใจที่เกิดความผิดปกติ โดยอาศัยเครื่องค้นหาตำแหน่งซึ่งจะสามารถแสดงผลเป็นภาพ 3 มิติแบบเรียลไทม์ ทำให้แพทย์สามารถใช้สายสวนจี้ตรงตำแหน่งที่เกิดความผิดปกติได้อย่างแม่นยำ นับเป็นการรักษาในปัจจุบันที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดวิธีหนึ่ง

 

 

จี้ไฟฟ้าหัวใจ

 

เช็กอาการ สัญญาณเตือนหัวใจเต้นผิดปกติ

     วิธีเช็คอาการ สัญญาเตือนหัวใจเต้นผิดปกติ โดยทั่วไปอัตราการเต้นของหัวใจจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ขณะนอนหลับ อัตราการเต้นของหัวใจจะอยู่ที่ 40-60 ครั้ง/นาที ขณะนั่งพักประมาณ 60-80 ครั้ง/นาที และในขณะเดิน อัตราจะเพิ่มขึ้นเป็น 80-100 ครั้ง/นาที และเร็วขึ้นมากกว่า 100 ครั้ง/นาที ในขณะวิ่งหรือออกกำลังกาย แต่หากตรวจวัดชีพจรดูแล้วอัตราการเต้นผิดปกติ หรือมีจังหวะการเต้นไม่สม่ำเสมอ ร่วมกับอาการต่อไปนี้ ก็ควรรีบเข้าพบแพทย์ที่ศูนย์หัวใจเพื่อหาสาเหตุ

 

  • เจ็บหน้าอก เกิดขึ้นเมื่อหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ใจสั่น รู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็ว แรง หรือเต้นไม่เป็นจังหวะ อาจเป็นเพียงชั่วครู่ หรือต่อเนื่องนานหลายนาที
  • หายใจลำบาก เกิดภาวะหายใจไม่อิ่ม รู้สึกอึดอัดขณะหายใจ หายใจไม่เต็มปอด หอบ หรือเหนื่อยง่าย
  • เป็นลมหมดสติ เกิดขึ้นเมื่อหัวใจเต้นช้าหรือเร็วผิดปกติ ทำให้เวียนศีรษะ หน้ามืดได้

 

 

จี้ไฟฟ้าหัวใจ

 

 

การวินิจฉัย และนวัตกรรมการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดปกติ โรงพยาบาลรามคำแหง

     การวินิจฉัย และนวัตกรรมการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดปกติ ที่ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลรามคำแหง มีความพร้อมและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ทันสมัยเพื่อช่วยให้การวินิจฉัยสาเหตุการเกิดโรคหัวใจเต้นผิดปกติเป็นไปอย่างแม่นยำ

 

ระบบ CARTO (CARTO System)

     ระบบ CARTO เป็นเทคโนโลยีตรวจและรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบเรียลไทม์ด้วยระบบ 3 มิติ ซึ่งช่วยให้แพทย์จากผู้รักษาสามารถระบุตำแหน่งความผิดปกติของหัวใจได้อย่างแม่นยำ โดยแพทย์จะทำการสอดสายสวนที่มีขั้วไฟฟ้าฝังอยู่ที่บริเวณปลายสายสวนเข้าไปที่หัวใจของผู้ป่วยโดยผ่านทางหลอดเลือดดำหรือแดงที่ขาหนีบ เพื่อตรวจหาและจี้ทำลายวงจรที่เกิดความผิดปกติในหัวใจ

 

เทคโนโลยี Cryoablation

     Cryoablation เป็นเทคโนโลยีในการรักษาหัวใจห้องบนเต้นพลิ้ว (atrial fibrillation, AF) โดยใช้บอลลูนความเย็น โดยจะทำให้อุณหภูมิที่บอลลูนลดต่ำลงถึง -40 ℃ ถึง -50 ℃ ซึ่งจะทำลายวงจรที่ผิดปกติได้อย่างรวดเร็ว

 

เทคโนโลยี Cardiac MRI

     เทคโนโลยี Cardiac MRI เป็นเทคโนโลยีที่ใช้คลื่นสะท้อนแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging) ในการสร้างภาพเพื่อช่วยให้แพทย์มองเห็นโครงสร้างและการทำงานของหัวใจ รวมถึงประเมินการทำงานของหลอดเลือดหัวใจได้อย่างละเอียดและมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

 

EPM (Electrophysiological Study Mapping)

     EPM เป็นการตรวจหาความผิดปกติของระบบสัญญาณไฟฟ้าหัวใจในผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ ในกรณีที่ไม่สามารถตรวจได้โดยวิธีอื่นโดยการใช้สายสวนหัวใจที่มีขั้วไฟฟ้าฝังอยู่ปลายสาย โดยแพทย์จะทำการสอดสายเข้าไปยังบริเวณหัวใจโดยตรงเพื่อค้นหาความผิดปกติที่ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างแม่นยำ และนำไปสู่การรักษาได้อย่างถูกต้อง

 

     อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจพิจารณาใช้วิธีอื่น ๆ ร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงและรอยโรค อาทิ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบ Holter Monitoring หรือการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพา (Event Recorder) ในกรณีที่หัวใจเต้นปกติมานานๆ ครั้ง เพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยแบบต่อเนื่อง เพื่อตรวจหาจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ รวมถึงตรวจสอบความถี่ และช่วงเวลาที่เกิดภาวะผิดปกติด้วย

 

 


จี้ไฟฟ้าหัวใจ

 

 

ข้อดีของระบบ CARTO (CARTO System) คืออะไร ต่างจากระบบอื่น ๆ ยังไง

     เทคโนโลยี CARTO สามารถช่วยให้แพทย์ศูนย์หัวใจมองเห็นภาพเสมือนจริงของโครงสร้างหัวใจและคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้อย่างชัดเจน โดยผลลัพธ์จะแสดงเป็นสีต่าง ๆ กันตามลักษณะของการนำไฟฟ้า สามารถสร้างภาพได้หลากหลาย และมีความเฉพาะเจาะจง ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นตำแหน่งของความผิดปกติได้อย่างชัดเจน ถือเป็นการช่วยเพิ่มความแม่นยำในการตรวจวินิจฉัย และสามารถรักษาความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจได้ในบริเวณกว้าง ทำให้ผลของการรักษามีประสิทธิภาพและสามารถลดภาวะแทรกซ้อนลงได้อย่างมาก

 

ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลรามคำแหง

     เพราะหัวใจคืออวัยวะสำคัญที่ทำงานต่อเนื่องตลอดเวลา ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมากด้วยประสบการณ์ ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลรามคำแหง ตระหนักถึงความสำคัญนี้ และมีความพร้อมในการให้บริการตรวจวินิจฉัย และดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงภาวะความผิดปกติของหัวใจทุกประเภท เพียบพร้อมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอุ่นใจ และได้รับการบริการที่สะดวก ปลอดภัย และแม่นยำ