s หมดห่วง! แผลเบาหวาน ควบคุมได้ ถ้ารักษาที่ต้นเหตุอย่างถูกวิธี

หมดห่วง! แผลเบาหวาน ควบคุมได้ ถ้ารักษาที่ต้นเหตุอย่างถูกวิธี

June 26 / 2024

 

แผลเบาหวาน

 

 

ผู้ป่วยเบาหวานหลายท่านคงทราบดีแล้วว่า ‘แผลเบาหวาน’ คือ ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานที่ผู้ป่วยทุกคนต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แต่ในขณะเดียวกันหากเกิดบาดแผลขึ้นแล้ว หลายคนก็อาจกำลังสงสัยว่าควรดูแลอย่างไร ไม่ให้บาดแผลลุกลาม? แท้จริงแล้ว เราสามารถดูแลแผลเบาหวานไม่ให้อักเสบลุกลามได้ เพียงแค่เอาใจใส่บาดแผล และรับการรักษาที่ต้นเหตุอย่างตรงจุด นอกจากนี้ การศึกษาข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับแผลเบาหวานและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ก็จะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การตัดนิ้วหรือตัดขา และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและไม่มีภาวะแทรกซ้อน

7 สัญญาณเตือนแผลเบาหวานมีอะไรบ้าง

 

7 สัญญาณเตือนแผลเบาหวาน มีดังนี้

 

  1. มีอาการชาหรือเป็นเหน็บที่เท้า โดยไล่จากปลายนิ้วเท้าขึ้นไปยังบริเวณหลังเท้าหรือขา ผู้ป่วยมักเป็นทั้งสองข้างพร้อมกัน
  2. รู้สึกปวดแปลบ คล้ายถูกเข็มแทงหรือถูกไฟช็อตที่เท้าข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง
  3. รู้สึกปวดแสบปวดร้อน หรือร้อนวูบวาบบริเวณปลายมือหรือเท้า เมื่อสัมผัสจะพบว่ามีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณอื่น
  4. สีผิวบริเวณนิ้วเท้า หรือปลายนิ้วมือเปลี่ยนจากเดิม อาจคล้ำขึ้นหรือซีดลงจนผิดสังเกต
  5. ผิวหนังแห้งคัน หรือแห้งจนปริแตก เล็บแข็งหนาขึ้น หรือแตกร่อน
  6. เกิดผิวหนังแข็งกระด้าง หรือตาปลา
  7. รูปเท้าผิดไปจากปกติ อาจมีปุ่มกระดูกงอกโปนขึ้นมา

 

แผลเบาหวาน ดูแล

 

 

ดูแลแผลเบาหวานอย่างไรไม่ให้ลุกลาม

 

ดูแลแผลเบาหวานอย่างไรไม่ให้ลุกลาม ไม่ได้ดูแลยากอย่างที่คิด ผู้ป่วยสามารถดูแลได้โดยทำตามวิธีต่าง ๆ ประกอบไปด้วย

ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลด้วยการเลี่ยงการทานมื้อใดมื้อหนึ่งมากเกินไป นอกจากนี้ ควรดูแลน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมถึงตรวจเช็กค่าความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ

เลือกรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม

เลือกรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม ควรจำกัดปริมาณอาหารคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว รวมถึงผลไม้ ขนมหวาน และเครื่องดื่มต่าง ๆ ที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ ในขณะเดียวกัน ควรเลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนซึ่งอุดมด้วยใยอาหาร เช่น ข้าวหรือแป้งที่ไม่ผ่านการขัดสี และธัญพืชชนิดต่าง ๆ นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานควรจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์สามารถส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้

ทำความสะอาดแผลอย่างสม่ำเสมอ

ทำความสะอาดแผลอย่างสม่ำเสมอ หมั่นทำความสะอาดแผลให้ปราศจากเชื้อโรคโดยการล้างแผลด้วยน้ำสบู่ น้ำอุ่น หรือน้ำเกลืออย่างน้อย 2-4 ครั้งต่อวัน และเช็ดแผลให้แห้งสนิททุกครั้ง จากนั้นทายาฆ่าเชื้อตามที่แพทย์สั่งแล้วปิดแผลด้วยผ้าก๊อซที่ผ่านการฆ่าเชื้อ หลีกเลี่ยงการใช้แอลกอฮอล์ในการทำความสะอาดเนื่องจากแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการทำลายโปรตีนในเนื้อเยื่อ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อบาดแผล

ดูแลใส่ใจเท้า

ดูแลใส่ใจเท้า ผู้ป่วยเบาหวานควรตรวจเช็กเท้าอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า ควรล้างทำความสะอาดแล้วเช็ดให้แห้งแล้ว สามารถใช้โลชั่นทาให้ทั่วเพื่อให้ผิวอ่อนนุ่ม แต่ควรหลีกเลี่ยงการทาบำรุงบริเวณซอกนิ้วเท้าเพราะว่าเป็นบริเวณที่เกิดความอับชื้นได้ง่าย

เลือกสวมรองเท้าที่เหมาะสม

เลือกสวมรองเท้าที่เหมาะสม โดยเลือกสวมใส่รองเท้าส้นเตี้ย ทำจากวัสดุที่ยืดหยุ่น ระบายความชื้นและอากาศได้ดี น้ำหนักเบา และควรมีส่วนคลุมหน้าเท้าเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และที่สำคัญพื้นรองเท้ามีดอกยางหรือกันลื่น หลีกเลี่ยงรองเท้าแตะแบบคีบ เพราะอาจทำให้เกิดการเสียดสีจนเกิดบาดแผลช่วงง่ามนิ้วเท้าได้

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดได้ โดยผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกประเภทการออกกำลังกายที่ไม่ต้องลงน้ำหนัก หรือเน้นการออกกำลังกายด้วยแขน

ทานยาตามที่แพทย์สั่ง

ผู้ป่วยควรทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และไม่ควรปรับ หรือลดขนาดยาเองตามความรู้สึก และห้ามซื้อยาชุดมารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนการใช้ยาต่าง ๆ

เข้าพบแพทย์ตามนัด

ผู้ป่วยควรพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรยกเลิกหรือเลื่อนนัดแม้รู้สึกว่าอาการของแผลดีขึ้น และในระหว่างที่แพทย์นัด หากพบว่าเกิดบาดแผล หรือความผิดปกติบริเวณปลายมือหรือเท้า ก็ควรรีบเข้าพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อรับการวินิจฉัยโดยละเอียด

 

แผลเบาหวาน รักษา

 

 

สรุป

สัญญาณเตือนการเกิดแผลโรคเบาหวานเช็กเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง และเมื่อมีอาการแล้ว ก็สามารถดูแลเพื่อป้องกันการลุกลามได้ แต่ก่อนจะไปถึงขั้นต้องสงสัยว่าตัวเองจะเป็นแผลเบาหวานหรือไม่ เราควรทำความเข้าใจถึงสาเหตุ และเรียนรู้ภาวะแทรกซ้อนจากแผลเบาหวาน โดยจะแนะนำในบทความถัดไป