s สาเหตุและภาวะแทรกซ้อนการเกิดแผลเบาหวาน โดยโรงพยาบาลรามคำแหง

สาเหตุและภาวะแทรกซ้อนการเกิดแผลเบาหวาน โดยโรงพยาบาลรามคำแหง

June 26 / 2024

 

แผลเบาหวาน

 

 

ในบทความก่อนหน้า คุณได้เรียนรู้สัญญาณเตือนการเกิดแผลจากโรคเบาหวาน พร้อมวิธีดูแลไปแล้วว่าควรทำอย่างไรบ้าง แม้ว่าการรับมือเป็นเรื่องที่ดี แต่จะดีกว่ามาก ถ้าหากคุณรู้ถึงสาเหตุการเกิดแผลเบาหวานที่แท้จริง และไม่เพียงแค่นั้น โรงพยาบาลรามคำแหงจะอธิบายภาวะแทรกซ้อนจากแผลโรคเบาหวานด้วย เพื่อให้ทุกคนป้องกันการเกิดตั้งแต่ตัวโรค จนลุกลามไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอย่างแผลจากโรคเบาหวาน

 

แผลเบาหวาน สาเหตุ

 

สาเหตุสำคัญในการเกิดแผลเบาหวาน

สาเหตุสำคัญในการเกิดแผลเบาหวาน มีหลายสาเหตุ แต่ในส่วนนี้จะเลือกสาเหตุหลัก ๆ ที่ส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนโดยตรง

ระดับน้ำตาลในเลือดสูง

ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เมื่อผู้ป่วยเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีเท่าที่ควร ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงอย่างต่อเนื่องจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไปยังหลอดเลือดส่วนปลายได้ไม่ดีเท่าที่ควรและนำไปสู่ภาวะขาดเลือดเฉพาะที่ บาดแผลที่เกิดขึ้นจึงมีไม่สามารถสมานได้ตามปกติ กลายเป็นแผลอักเสบเรื้อรัง

ภาวะปลายประสาทเสื่อม

ภาวะปลายประสาทเสื่อม นอกจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าปกติจะทำให้หลอดเลือดของผู้ป่วยเบาหวานเกิดความเสียหายแล้ว ยังส่งผลให้ระบบประสาททำงานผิดปกติ ก่อให้เกิดภาวะเส้นประสาทเสื่อม ผู้ป่วยจึงมักมีอาการชาหรือไร้ความรู้สึกบริเวณปลายมือหรือเท้า เมื่อเกิดบาดแผลจึงมักไม่รู้ตัว และปล่อยให้บาดแผลเกิดการอักเสบลุกลาม

ผิวหนังแห้งกร้าน

ผิวหนังแห้งกร้าน ภาวะดื้อต่ออินซูลินเป็นภาวะที่พบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน ทำให้ต้องปัสสาวะบ่อยจนร่างกายขาดน้ำ ส่งผลให้ผิวหนังแห้งกร้าน มีอาการคัน ซึ่งบางครั้งเมื่อผู้ป่วยเบาหวานเกาจนเกิดการอักเสบติดเชื้อ ก็ทำให้แผลเบาหวานลุกลามได้

การติดเชื้อ

การติดเชื้อ บาดแผลของผู้ป่วยเบาหวานมักเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยเนื่องจากผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าตนมีบาดแผลเกิดขึ้นในตอนแรก รวมไปถึงการสมานแผลที่ช้าเพราะเนื้อเยื่อขาดเลือดมาหล่อเลี้ยงในผู้ป่วยเบาหวานก็ยิ่งส่งผลทำให้บาดแผลอักเสบรุนแรง และรักษาได้ยาก

 

ภาวะแทรกซ้อน แผลเบาหวาน

 

ภาวะแทรกซ้อนจากแผลเบาหวาน

ภาวะแทรกซ้อนจาก มี 3 อาการหลัก ๆ ที่ควรรักษา ได้แก่

1.เกิดการอักเสบเรื้อรัง

บาดแผลของผู้ป่วยเบาหวานมักเกิดการติดเชื้อร่วมด้วย โดยเฉพาะในบริเวณเท้าซึ่งสัมผัสกับแบคทีเรียได้ง่าย การติดเชื้อมักเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถสมานแผลได้รวดเร็วตามปกติเนื่องจากเนื้อเยื่อในบริเวณปลายเท้าขาดเลือดมาหล่อเลี้ยง เกิดเป็นแผลเรื้อรัง ซึ่งหมายถึงแผลที่รักษาแล้วไม่หายภายใน 4 สัปดาห์

2.เท้าผิดรูป

ความผิดรูปของเท้า หรือชาคอตฟุต (Charcot foot) เป็นผลกระทบมาจากภาวะปลายประสาทเสื่อมซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน ภาวะนี้มีส่วนทำให้เนื้อเยื่ออ่อน กระดูก และข้อของผู้ป่วยเปราะบาง และแตกหักง่าย และเมื่อผู้ป่วยไม่มีความรู้สึกผิดปกติที่เท้าและใช้งานต่อไปอย่างไม่ระวัง หรือลงน้ำหนักผิดตำแหน่ง ก็ทำให้เกิดเท้าผิดรูป เท้าบิดเบี้ยวได้

3.เสี่ยงสูญเสียอวัยวะ

เสี่ยงสูญเสียอวัยวะ เมื่อผู้ป่วยเบาหวานเกิดแผลเรื้อรังหรือติดเชื้อรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ก็อาจทำให้เนื้อเยื่อในบริเวณนั้นตายเนื่องจากภาวะเส้นเลือดแดงส่วนปลายตีบแข็ง ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียนิ้วหรือขาได้

รักษาแผลเบาหวาน ที่โรงพยาบาลรามคำแหง

รักษาแผลเบาหวาน โรงพยาบาลรามคำแหง เรามีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเบาหวาน ที่พร้อมให้คำแนะนำ และให้คำปรึกษา ตลอดจนการดูแลรักษาให้แก้ผู้ป่วยโรคเบาหวานทุกประเภท

 

โรคเบาหวาน ถือว่าเป็นโรคที่ค่อนข้างอันตราย เพราะไม่เพียงแค่ก่อให้เกิดแผลเบาหวานแล้ว ยังมีโอกาสลุกลามไปยังโรคอื่น ๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคไต โรคจอประสาทตาเสื่อม และ หลอดเลือดสมองอุดตัน ทั้งนี้ การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ทานในปริมาณที่เหมาะสม และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับรองเลยว่าคุณจะเป็นคนที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงอย่างแน่นอน