s เช็กลิสต์ร่างกาย รู้ทัน กันได้ ตรวจสุขภาพ ตัวไหนดี ตอนที่ 1

เช็กลิสต์ร่างกาย รู้ทัน กันได้ ตรวจสุขภาพ ตัวไหนดี ตอนที่ 1

June 25 / 2024

 

ตรวจสุขภาพ

 

 

สุขภาพถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรละเลย เพราะการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย ก็อาจนำไปสู่ปัญหาลุกลามได้หากรักษาไม่ทันท่วงที ซึ่งการตรวจสุขภาพประจำปี นับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้การวางแผนสุขภาพกลายเป็นเรื่องง่าย เพราะนอกจะจะทำให้เราทราบถึงปัจจัยเสี่ยงทั้งจากภายในและภายนอกแล้ว หากตรวจพบโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ แพทย์ก็สามารถทำการรักษาก่อนโรคจะมีความรุนแรง ช่วยประหยัดทั้งเวลา ค่าใช้จ่าย แถมยังช่วยทำให้ใช้ชีวิตง่ายเพราะได้รับคำแนะนำจากแพทย์โดยตรง

ทำไมการตรวจสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ทำไมการตรวจสุขภาพถึงเป็นสิ่งสำคัญ ยังคงเป็นคำถามที่หลาย ๆ คนสงสัย ในวันนี้โรงพยาบาลรามคำแหง จะมาให้คำตอบกัน

1.ค้นหาโรคระยะเริ่มต้น

ค้นหาโรคระยะเริ่มต้น คือ จุดประสงค์หลักในการตรวจสุขภาพ โดยเน้นการตรวจหาโรคแฝงอาทิ โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง รวมถึงโรคมะเร็งในระยะเริ่มแรก ซึ่งโรคเหล่านี้อาจเกิดจากความเสี่ยงด้านพันธุกรรม ซึ่งอาจประเมินได้จากประวัติสุขภาพของคนในครอบครัวด้วย

2.ประเมินปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค

ประเมินปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค โดยเฉพาะจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่อาจมีผลต่อสุขภาพเช่น การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือการพักผ่อนไม่เพียงพอ

3.ป้องกันการเกิดโรค

ป้องกันการเกิดโรค การตรวจร่างกายโดยแพทย์ ร่วมการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เหมาะสมจะช่วยให้เราเข้าใจถึงสุขภาพโดยรวมของร่างกาย ซึ่งนับเป็นการป้องกันการเกิดโรคในเชิงลึก และเป็นจุดเริ่มต้นในการวางแผนชะลอความเสื่อมของร่างกายระยะยาว

4.วางแผนการรักษาหากตรวจพบโรค

วางแผนการรักษาหากตรวจพบโรค หากตรวจพบโรค หรือความผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โดยเฉพาะโรคที่มักไม่แสดงอาการ แพทย์ก็จะสามารถวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมก่อนที่จะโรคจะมีความรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาด และไม่ปล่อยให้โรคลุกลาม หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน

 

การเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพ

 

การเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพ

การเตรียมตัวก่อนการเข้ารับการตรวจสุขภาพถือเป็นอีกขั้นตอนที่สำคัญที่จะทำให้ได้ผลตรวจที่ถูกต้องและแม่นยำมากที่สุด ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสมแก่การตรวจสุขภาพคือช่วงเช้า ดังนั้น ผู้ที่วางแผนจะเข้ารับการตรวจสุขภาพควรเตรียมความพร้อมและปฏิบัติตามคำแนะนำให้ครบถ้วน ดังต่อไปนี้

 

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
  • ควรงดอาหารและเครื่องดื่มเป็นเวลาอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพ แต่สามารถจิบน้ำเปล่าได้ในปริมาณที่ไม่มากเกินปกติ
  • งดดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24-48 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพ
  • งดการสูบบุหรี่ก่อนตรวจสุขภาพ เนื่องจากสามารถทำให้ความดันโลหิตสูง
  • หากมียาประจำตัวที่ทานเป็นประจำ สามารถทานได้ตามปกติ แต่ควรแจ้งแพทย์หรือพยาบาลก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพ
  • จัดเตรียมประวัติสุขภาพ หรือประวัติการรักษา โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เพื่อให้แพทย์ให้ประกอบการตรวจ
  • เลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่สบาย และสะดวกต่อการเจาะเลือด
  • กรณีตรวจอุจจาระ เพื่อหาเลือดออกในทางเดินอาหาร งดทานเครื่องใน, เลือดสัตว์, วิตามินซีและอาหารที่มีธาตุเหล็ก 3 วัน

 

 

หากต้องการตรวจหาความเสี่ยงเฉพาะโรค ควรปรึกษาศูนย์ตรวจสุขภาพล่วงหน้า เพื่อรับทราบเงื่อนไขและเตรียมตัวอย่างครบถ้วน ก่อนเข้ารับการตรวจควรแจ้งแพทย์ หรือพยาบาลล่วงหน้าหากสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์

 

 

ทั้งนี้ผู้หญิงที่ต้องการเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับผู้หญิง ควรเว้นช่วงตรวจก่อนและหลังมีประจำเดือนประมาณ 7 วัน ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตรวจมากที่สุด

 

ตรวจสุขภาพ ต้องตรวจอะไร

 

ตรวจสุขภาพ ต้องตรวจอะไรบ้าง

ตรวจสุขภาพ ต้องตรวจอะไรบ้าง ร่างกายของเราในแต่ละช่วงวัยต้องการการดูแลที่แตกต่างกัน ดังนั้น การให้ความสำคัญในการเลือกโปรแกรมการตรวจสุขภาพที่เหมาะสมจะช่วยให้แพทย์สามารถวิเคราะห์ และดูแลปัญหาสุขภาพของทุกความต้องการได้อย่างตรงจุดและครบถ้วนสมบูรณ์

การตรวจสุขภาพทั่วไป

  • การวัดความดันโลหิต ชีพจร และอัตราการหายใจ

ผู้ที่มีสุขภาพดีควรมีค่าความดันโลหิตควรอยู่ที่ 120/80 มิลลิเมตรปรอท ส่วนอัตราการเต้นของหัวใจควรอยู่ที่ 70-80 ครั้งต่อนาที และมีอัตราการหายใจอยู่ที่ 20-26 ครั้งต่อนาที

  • การชั่งน้ำหนัก และการวัดส่วนสูง

การชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง มีจุดประสงค์เพื่อประเมินหาค่าดัชนีมวลกาย ซึ่งเป็นค่าพื้นฐานที่ใช้ประเมินหาสัดส่วนไขมันในร่างกาย และใช้เพื่อดูอัตราความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ที่มักมาพร้อมกับโรคอ้วน แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ที่มีน้ำหนักน้อยเกินไปก็อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ อีกด้วย

การตรวจเลือด

การตรวจเลือด คือ การเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปวิเคราะห์ผลในห้องตรวจแล็บ เพื่อวิเคราะห์ค่าต่าง ๆ ในร่างกาย ได้แก่

 

  • ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC)
  • ระดับน้ำตาลในเลือด (FPG) และค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA1c)
  • ระดับไขมันในเลือด ได้แก่ ระดับคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอร์ไรด์
  • สมรรถภาพการทำงานของไต โดยวัดจากค่าของเสียครีเอตินิน (Creatinine) และค่า BUN
  • สมรรถภาพการทำงานของตับ
  • ระดับกรดยูริก
  • ค่าติดเชื้อในร่างกาย
  • การคัดกรองมะเร็งบางชนิด

 

นอกจากนี้การตรวจเลือดยังสามารถตรวจวิเคราะห์ DNA ตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง และตรวจระดับฮอร์โมนต่าง ๆ ได้ด้วย

 

การตรวจปัสสาวะ

การตรวจปัสสาวะ ลักษณะของปัสสาวะที่ปกติ ควรจะต้องมีลักษณะใส มีสีเหลืองอ่อน หรือเหลืองอำพัน และไม่พบสารเคมี เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว ผลึก หรือจุลชีพอื่น ๆ ปะปน นอกจากนี้ การตรวจปัสสาวะ ยังช่วยให้แพทย์สามารถวิเคราะห์ค่าต่าง ๆ ในร่างกาย ได้แก่

 

  • ภาวะการตั้งครรภ์จากฮอร์โมน HCG
  • ค่าเบาหวาน จากน้ำตาลกลูโคส หรือคีโตน (Ketones)
  • ภาวะการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • สมรรถภาพการทำงานของไต จากการตรวจคาสท์ (Casts) ในปัสสาวะ
  • ความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในไต หรือการทำงานของระบบเผาผลาญ
  • การคัดกรองมะเร็งบางชนิด
  • ค่าสารเสพติดในร่างกาย

 

การเอกซเรย์ทรวงอก (Chest X-Ray)

 

การเอกซเรย์ทรวงอก เป็นการตรวจเพื่อยืนยันความปกติของอวัยวะภายในทรวงอก ได้แก่ ปอด หัวใจ ทางเดินหายใจ กระดูกซี่โครง เส้นเลือดใหญ่ และอวัยวะอื่นๆ ในช่องอก อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้หญิงที่สงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ ควรแจ้งแพทย์และพยาบาลให้ทราบก่อนการเอกซเรย์ทุกครั้ง

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นการตรวจคัดกรองความผิดปกติของหัวใจเบื้องต้น ซึ่งแพทย์จะใช้เป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ อัตราการเต้นของหัวใจ จังหวะการเต้นของหัวใจ การเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าของหัวใจ รวมถึงภาวะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

การอัลตราซาวนด์ช่องท้อง

การอัลตราซาวนด์ช่องท้อง เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อตรวจดูอวัยวะในช่องท้องทั้งหมด ซึ่งการอัลตราซาวนด์ถือเป็นวิธีที่ปลอดภัยและสามารถค้นหาความผิดปกติต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

 

ตรวจสุขภาพ รามคำแหง

 

 

สรุป

 

สรุปแล้วการตรวจสุขภาพอย่างการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ การเอกซเรย์ทรวงอก การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการอัลตราซาวนด์ช่องท้อง ทำให้คุณรู้ปัญหา สามารถดูแลร่างกายได้ในระดับเบื้องต้น แต่จริง ๆ แล้วการตรวจสุขภาพมีรายละเอียด และแสดงระดับปัญหาสุขภาพได้มากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการตรวจตามเพศ อายุ ตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง ต้องตรวจอะไรบ้าง ซึ่งเรื่องนี้เราจะพูดในตอนต่อไป