s คุยกับหมอเฉพาะทางโรคไต โรคไตป้องกันได้ หากรู้สาเหตุชัดเจน

คุยกับหมอเฉพาะทางโรคไต โรคไตป้องกันได้ หากรู้สาเหตุชัดเจน

June 25 / 2024

 

หมอเฉพาะทางโรคไต

 

 

รู้หรือไม่ สำหรับโรคไต สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น การดื่มน้ำน้อย การมีโรคประจำตัว รวมไปถึง พฤติกรรมชอบซื้อยาแก้ปวดมาทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงการชอบทานอาหารเค็มอย่างที่หลายคนเข้าใจ ดังนั้น เพื่อเป็นลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไต เราจึงควรศึกษาถึงสาเหตุ ที่มา และเคล็ดลับการดูแลสุขภาพไตให้แข็งแรง โดยหมอเฉพาะทางโรคไตเพราะโรคไตเมื่อเกิดขึ้นแล้ว มักส่งผลกระทบต่อระบบอวัยวะส่วนอื่น ๆ ทำให้การรักษามีความซับซ้อน และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยและคนรอบข้าง

โรคไตมีกี่ประเภท อะไรบ้าง

โรคไตมีกี่ประเภท อะไรบ้าง ก่อนอื่นอยากให้รู้ก่อนว่าโรคไต หรือที่คุ้นหูกันว่า ภาวะไตวาย ไตเสื่อม หมายถึง ภาวะที่ไตทำงานผิดปกติ หรือทำงานได้ลดลง แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่

ภาวะไตวายเฉียบพลัน

ภาวะไตวายเฉียบพลัน หมายถึง ภาวะที่ไตสูญเสียการทำงานอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ อาทิ การติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง การได้รับสารพิษ ผลข้างเคียงจากยา หรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ รวมถึงโรคอื่น ๆ ที่มีผลต่อไต หรือตัวคุณสามารถสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ อย่างเช่น มีอาการตัวบวม ปัสสาวะมีสีน้ำล้างเนื้อ และความดันโลหิตสูงผิดปกติ ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะแสดงตั้งแต่แรกเริ่มภายในวันหรือสัปดาห์ และมีความรุนแรงมากกว่าภาวะไตวายเรื้อรัง

 

แต่ถึงแม้ว่าภาวะไตวายเฉียบพลันจะมีอันตรายถึงชีวิต แต่หากผู้ป่วยรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุตั้งแต่เนิ่น ๆ หมอก็จะสามารถทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที และช่วยให้ไตฟื้นคืนสภาพกลับมาทำงานเป็นปกติได้

 

ภาวะไตวายเรื้อรัง

ภาวะไตวายเรื้อรัง หมายถึง ภาวะที่ไตเริ่มค่อย ๆ สูญเสียการทำงานทีละน้อยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ภาวะไตวายเรื้อรังไม่สามารถรักษาให้ไตกลับมาทำงานเหมือนเดิมได้ และโดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักไม่พบความผิดปกติจนกระทั่งการทำงานของไตลดลงเหลือเพียงร้อยละ 50

 

อาการแรกเริ่มต่าง ๆ อาจดูไม่รุนแรงเท่าภาวะไตวายเฉียบพลัน และตรวจพบได้ยาก แต่เมื่อตรวจปัสสาวะ มักพบว่ามีเม็ดเลือดแดงหรือโปรตีนปนออกมา ซึ่งในระยะนี้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ไตจะเสื่อมสภาพลงเรื่อย ๆ

 

 

โดยทั่วไป ผู้ป่วยภาวะไตวายเรื้อรังมักมีอาการตัวบวม ความดันโลหิตสูง รู้สึกคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร หรือในรายที่มีอาการรุนแรง อาจเป็นลมหมดสติและเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน

 

 

โรคไต สาเหตุ

 

สาเหตุของการเกิดโรคไตคืออะไร

โรคไตนั้นมีปัจจัยที่เป็นสาเหตุในการเกิดโรคมากกว่าแค่การทานอาหารรสเค็มจัด เผ็ดจัด หวานจัด หรืออาหารที่มีโซเดียมสูงอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ ซึ่งปัจจัยอื่น ๆ ที่พบบ่อย ได้แก่

 

  • พันธุกรรม

พันธุกรรม โดยเฉพาะโรคถุงน้ำในไต ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของยีนเด่น ซึ่งหมายถึง หากพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคนี้ ก็สามารถถ่ายทอดสู่รุ่นลูกได้ นอกจากนี้ ทารกที่มีน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่า 2,500 กรัม ก็นับเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคไตต่อไปในอนาคต เนื่องจากไตอาจทำงานได้น้อยกว่าปกติ

  • การดื่มน้ำน้อย

การดื่มน้ำน้อย เนื่องจากไตต้องใช้น้ำเพื่อทำหน้าที่กรองของเสียในร่างกายให้กลายเป็นปัสสาวะ การดื่มน้ำน้อยเกินไปจะทำให้ไตทำงานหนัก ปัสสาวะมีสีเข้ม เพราะไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

  • โรคประจำตัวที่มีผลกระทบต่อไต

โรคประจำตัวที่มีผลกระทบต่อไต โดยเฉพาะโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ภาวะนิ่วในไต ไตอักเสบ เกาต์ รวมถึงการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะซ้ำ ๆ ก็มีส่วนทำให้เกิดโรคไตได้

  • ภาวะไตผิดปกติ

ภาวะไตผิดปกติ หรือมีประวัติการเป็นโรคไตอักเสบ รวมถึงถุงน้ำในไต ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคไตได้

  • ยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs

ยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs การรับประทานยาแก้ปวด แก้อักเสบ เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน และยาอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้เลือดไปหล่อเลี้ยงไตได้น้อยลง ดังนั้น ก่อนการใช้ยาทุกประเภท ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรผู้ชำนาญเพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสม

 

สัญญาณโรคไตแบบไหน ควรรีบพบแพทย์

สัญญาณโรคไตแบบไหน ควรรีบพบแพทย์ หากพบว่ามีอาการเสี่ยงเหล่านี้ ผู้ป่วยควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด โดยอาการต่าง ๆ สามารถสังเกตได้จาก

 

  1. อาการบวมตามร่างกาย ทั้งบริเวณใบหน้า หรือขา โดยจะสังเกตเห็นได้ชัดเจนตอนยืน
  2. ปัสสาวะมีฟอง หรือเมื่อกดน้ำล้างแล้วยังมีฟองหลงเหลืออยู่
  3. ปัสสาวะมีเลือดปน หรือมีลักษณะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ
  4. ปัสสาวะในช่วงกลางคืนบ่อยกว่าปกติ หรือต้องตื่นขึ้นมาปัสสาวะบ่อยมากขึ้น
  5. รู้สึกปวดเอว หรือปวดหลังมากผิดปกติ
  6. ความดันโลหิตสูงมากผิดปกติ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี
  7. รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน หรือเบื่ออาหาร

 

โรคไตดูแลตัวเองยังไง

 

 

เคล็ดลับดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลโรคไต

เคล็ดลับดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลโรคไต สามารถทำได้ดังนี้

ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ

นอกจากการดื่มน้ำจะช่วยทำให้ระบบต่าง ๆ ทำงานอย่างราบรื่นแล้ว การดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ลิตรต่อวันยังช่วยให้ไตสามารถกรองสารพิษและของเสียออกจากเลือดโดยการขับออกทางปัสสาวะอย่างมีประสิทธิภาพ

เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ซึ่งรวมถึงอาหารเค็มจัด หวานจัด หรือเผ็ดจัด รวมถึงอาหารที่มีไขมันสูง และอาหารแปรรูป ควรเลือกรับประทานผักและผลไม้สดที่ปราศจากสารเคมี ธัญพืชเต็มเมล็ด อาหารที่อุดมด้วยโอเมก้า 3

ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ประมาณวันละ 30 นาที หรืออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ มีส่วนช่วยในการกระตุ้นการกำจัดของเสียที่สะสมในเลือด รวมไปถึงช่วยควบคุมความดันโลหิตให้คงที่

งดสูบบุหรี่

งดสูบบุหรี่ จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่มีแนวโน้มในการเกิดภาวะไตวายมากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า เนื่องจากสารพิษในควันบุหรี่จะเข้าไปสู่กระแสเลือด ซึ่งส่งผลต่อหัวใจและไต การงดบุหรี่เป็นการลดความเสี่ยงต่อตัวเองและบุคคลรอบข้าง

หลีกเลี่ยงความเครียด

ความเครียดสะสมมักส่งผลให้เราพักผ่อนไม่เพียงพอ เมื่อร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพออย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้ระบบอวัยวะภายในต่าง ๆ เสียสมดุล ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระตุ้นการเกิดโรคไต

หลีกเลี่ยงการทานยาแก้ปวดหรือแก้อักเสบเกินความจำเป็น

การทานยา สมุนไพร หรืออาหารเสริมประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะยาแก้ปวดมากเกินความจำเป็น โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว สิ่งเหล่านี้มักส่งผลต่อการทำงานของไต ทำให้เกิดภาวะไตเสื่อมได้ในระยะยาว

ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงการควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน ก็มีส่วนช่วยในการป้องกันโรคไตได้ เนื่องจากการที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงนั้น จะทำให้ไปกระตุ้นกลไกต่าง ๆ ที่ทำลายเนื้อไต จนทำให้เกิดภาวะไตเรื้อรังได้

เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี

รวมไปถึงการตรวจคัดกรองโรคไต โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง จะทำให้ทราบถึงสถานะสุขภาพและสามารถกำหนดแนวทางในการวางแผนดูแลสุขภาพในระยะยาวได้

 

 

โรคไต รักษา

 

 

รักษาโรคไต ที่โรงพยาบาลรามคำแหง

 

รักษาโรคไต ที่โรงพยาบาลรามคำแหง ทีมหมอเฉพาะทางโรคไต โรงพยาบาลรามคำแหง พร้อมดูแลให้คำปรึกษา และรักษาผู้ป่วยทั้งที่มีภาวะไตวายเรื้อรังและภาวะไตวายเฉียบพลันอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงให้คำแนะนำเพื่อวางแผนและแนวทางในการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอุ่นใจ และสามารถชะลอความเสื่อมของไต รวมถึงป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากภาวะไตวายได้อย่างมีประสิทธิภาพ