s เช็กอาการโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม ภัยเงียบของหนุ่มสาวชาวออฟฟิศ

เช็กอาการโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม ภัยเงียบของหนุ่มสาวชาวออฟฟิศ

July 06 / 2024

 

หมอนรองกระดูกเสื่อม

 

 

พนักงานออฟฟิศเป็นอาชีพที่ต้องนั่งทำงานอยู่กับที่บนโต๊ะทำงานเป็นเวลานาน ไม่ค่อยได้ขยับ หรือทำกิจกรรมเพื่อยืดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ จึงไม่แปลกที่กลุ่มอาการปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดคอ หรือที่เรียกว่า ‘ออฟฟิศซินโดรม’ จะกลายเป็นโรคที่คุ้นหูในกลุ่มผู้ที่ทำงานประจำ แต่รู้หรือไม่ว่า หากมีสัญญาณเตือนเหล่านี้แล้วอย่าละเลย เพราะหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการดูแล ก็อาจกลายความเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคหมอนรองกระดูกเสื่อมได้

หมอนรองกระดูกเสื่อมเกิดจากอะไร

หมอนรองกระดูกเสื่อมเกิดจากอะไร โรงพยาบาลรามคำแหงจะอธิบายให้เข้าใจพร้อมกัน โดยทั่วไป หมอนรองกระดูกของคนเราจะค่อย ๆ เริ่มเสื่อมลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น แต่ในปัจจุบันกลับพบว่า คนวัยทำงานอายุเพียง 20-30 ปีก็สามารถเกิดภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมได้

 

เนื่องจากพฤติกรรมการใช้งานกระดูกสันหลังที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้หมอนรองกระดูกสันหลังไม่สามารถทำหน้าที่รับแรงกระแทกและส่งผ่านน้ำหนักได้ดีเหมือนปกติ ข้อต่อกระดูกสันหลังจึงเกิดการอักเสบและเสื่อมสภาพ กลายเป็นอาการปวดเรื้อรัง

 

 

เมื่อไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ก็เกิดเป็น ‘โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม’ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ‘หมอนรองกระดูกเสื่อม’ ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยตามลำดับความรุนแรงของโรค

 

อาการของโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม

อาการของโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม แบ่งออกได้เป็น 3 ระดับตามความรุนแรงของโรค ดังนี้

ระยะแรก

ระยะแรก ผู้ป่วยมักมีอาการปวดตื้อบริเวณรอบ ๆ เอว หรือหลังแบบเป็น ๆ หาย ๆ แต่โดยทั่วไป ยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

ระยะกลาง

ระยะกลาง เมื่อหมอนรองกระดูกเริ่มเคลื่อน หรือปลิ้นออกมาเบียดทับเส้นประสาท ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกปวดร้าวบริเวณช่วงคอลงไปถึงแขน หรือจากบริเวณหลังลงมาถึงสะโพก หรือขาจรดเท้า ซึ่งในบางรายอาจมีอาการชาร่วมด้วย

ระยะรุนแรง

ระยะรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการปวด ชา และอ่อนแรงร่วมกัน ในบางรายอาจมีปัญหาเรื่องการขับถ่ายเนื่องจากเส้นประสาทเกิดการบาดเจ็บอย่างรุนแรง และมีโอกาสเสี่ยงต่อการพิการ

 

หมอนรองกระดูกเสื่อม อาการ

 

 

6 พฤติกรรมเสี่ยงของพนักงานออฟฟิศที่นำไปสู่หมอนรองกระดูกเสื่อม

 

6 พฤติกรรมเสี่ยงของพนักงานออฟฟิศที่นำไปสู่หมอนรองกระดูกเสื่อม มีดังนี้

1.นั่งทำงานในท่าที่ไม่เหมาะสม

นั่งทำงานในท่าที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการนั่งทำงานโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ การนั่งหลังไม่พิงพนัก นั่งหลังงอ รวมถึงการใช้งานร่างกายอย่างหนัก และพักผ่อนน้อยอย่างต่อเนื่อง

2.สูบบุหรี่จัด

สูบบุหรี่จัด บรรยากาศการทำงานที่เคร่งเครียดย่อมส่งผลให้มีผู้ที่สูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่า ควันบุหรี่นั้นทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้น้อยลง ซึ่งรวมถึงหมอนรองกระดูกด้วย ทำให้คอลลาเจนเกิดการสลายตัว

3.มีน้ำหนักเกิน

มีน้ำหนักเกิน การกินตามใจปาก หรือทานมื้ออาหารหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นประจำ มักทำให้น้ำหนักเพิ่มมากขึ้นจนเกินเกณฑ์มาตรฐาน ส่งผลให้หลังแอ่นและกระดูกสันหลังส่วนล่างต้องรับน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม หรือแตกปลิ้นได้ง่ายกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า

4.ขาดการออกกำลังกาย

ขาดการออกกำลังกาย โดยเฉพาะกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว ผู้ที่ไม่ออกกำลังกายจะทำให้กล้ามเนื้อฝ่อ ลีบ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการเกิดการบาดเจ็บต่อหมอนรองกระดูกได้มากขึ้น

5.เล่นกีฬาอย่างไม่ระมัดระวัง

เล่นกีฬาอย่างไม่ระมัดระวัง ในกีฬาที่ต้องมีการปะทะ หรือมีการกระแทกกันอย่างรุนแรงมักทำให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลังได้โดยง่าย ผู้ที่ชื่นชอบกีฬาประเภทนี้จึงควรรักษาอาการบาดเจ็บให้หายก่อนการเล่นกีฬาครั้งต่อไป เพื่อให้ร่างกายได้รับการฟื้นฟู ซึ่งถือเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสะสมเรื้อรัง

6.แบกของหนัก

พนักงานออฟฟิศหลายคนเสพติดการทำงานหนัก แบกแล็ปท็อปไปทำงานด้วยทุกที่ ซึ่งนำไปสู่การสะพายกระเป๋าหนัก ๆ เพียงข้างเดียว ทำให้กล้ามเนื้อมัดที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระดูกและกล้ามเนื้อหลังต้องรับน้ำหนักมากเกินความพอดี นอกจากนี้ การใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำของเหล่าสาวออฟฟิศ ก็สามารถส่งผลให้เกิดความผิดปกติของแนวกระดูกสันหลังได้เช่นกัน

 

หมอนรองกระดูกเสื่อม ป้องกัน

 

 

วิธีป้องกันหมอนรองกระดูกเสื่อมสำหรับชาวออฟฟิศ

วิธีป้องกันหมอนรองกระดูกเสื่อมสำหรับชาวออฟฟิศ สามารถเริ่มต้นได้ด้วยการปรับพฤติกรรมต่าง ๆ ดังนี้

ปรับท่านั่งให้ถูกต้อง

ปรับท่านั่งให้ถูกต้อง การนั่งส่งผลต่อแรงกดของน้ำหนักร่างกายลงบนหมอนรองกระดูกสันหลังมากกว่าท่ายืน ดังนั้น ผู้ที่ต้องนั่งโต๊ะทำงานเป็นเวลานาน ๆ ควรมีการปรับท่านั่งให้เหมาะสมด้วยการนั่งตัวตรง หลังไม่ค่อม ไหล่ไม่ห่อ คอตรง และหน้าไม่ยื่น รวมถึงการจัดโต๊ะทำงานให้เป็นระเบียบโดยวางสิ่งของที่ต้องหยิบใช้บ่อย ๆ ในระยะเอื้อมถึงได้เพื่อป้องกันการโน้มตัวไปไกล และที่สำคัญควรปรับอุปกรณ์การทำงาน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ และแสงสว่างบริเวณโต๊ะทำงานให้มีพอดี

หลีกเลี่ยงการนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน

หลีกเลี่ยงการนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน ในระหว่างวัน ควรลุกขึ้นเพื่อยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เดินไปสูดอากาศข้างนอกเพื่อเคลื่อนไหวและผ่อนคลายร่างกายไม่ให้กล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังยึดตึงจนเกินไป ซึ่งนอกจากจะช่วยคลายความล้าและแรงกดทับแล้ว ยังสามารถช่วยการเพิ่มไหลเวียนของโลหิต ทำให้รู้สึกกระฉับกระเฉง และมีพลังงานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้มากยิ่งขึ้น

หลีกเลี่ยงการยกของหนัก

หลีกเลี่ยงการยกของหนัก โดยเฉพาะการยกของหนักในท่าเดิมซ้ำ ๆ เนื่องจากการยกของหนักไม่ได้เพียงแค่ใช้แรงแขนและหลังเท่านั้น แต่ยังใช้แรงจากหลังอีกด้วย ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องยกของหนัก ควรยืนอยู่ใกล้กับสิ่งของชิ้นนั้น ๆ และพยายามย่อตัวให้หลังตรงมากที่สุด และพยายามกระจายกำลังกล้ามเนื้อในส่วนต่าง ๆ เพื่อยกของชิ้นนั้นขึ้นมาโดยเลือกมุมจับที่ถนัดและมั่นคงที่สุด

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเน้นการออกกำลังกายที่เน้นการสร้างกล้ามเนื้อในแนวแกนกลางลำตัว ซึ่งหมายถึงกล้ามเนื้อที่หลังและท้อง ด้วยการเล่นเวทเฉพาะส่วน รวมถึงการเล่นโยคะ หรือพิลาทิส ซึ่งจะช่วยให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรง และมีความยืดหยุ่น ทนต่อการรับแรงมากยิ่งขึ้น

งดสูบบุหรี่

งดสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้หมอนรองกระดูกเสื่อมได้เร็วขึ้น เนื่องจากสารเคมีในบุหรี่มีผลต่อหลอดเลือด และยังทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงหมอนรองกระดูกได้ไม่ดีเท่าที่ควร มีผลทำให้หมอนรองกระดูกเสียคุณสมบัติในการยืดหยุ่นและเสื่อมเร็วกว่าวัยอันควร

 

แม้ว่าอาการหมอนรองกระดูกเสื่อมเป็นสิ่งที่สามารถดูแลและควบคุมได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากกิจวัตรประจำวันที่ต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ซ้ำ ๆ ทุกวัน ๆ ดังนั้นสิ่งที่สามารถช่วยลดโอกาสการเกิดปัญหาดังกล่าวสามารถทำได้เพียงแค่ดูแลตัวเองตามวิธีข้างต้น สุดท้ายแล้วถ้าหากคุณกำลังไม่แน่ใจเกี่ยวกับอาการปวดเมื่อยเรื้อรัง ปวดจนแขนชา ขาชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง สามารถเข้ามารับคำปรึกษาเบื้องต้นได้ที่โรงพยาบาลรามคำแหง