s รับมืออย่างไร ไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากแผลเบาหวาน

รับมืออย่างไร ไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากแผลเบาหวาน

June 17 / 2024

 

ตรวจสุขภาพ

 

แผลเบาหวานเป็นอีกหนึ่งภาวะแทรกซ้อนที่พบมากในผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมอาการของโรคได้ไม่ดีพอ โดยเฉพาะแผลเรื้อรังที่เท้า จากการศึกษาพบว่า ในผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด จะมีผู้ที่มีแผลเบาหวานที่เท้าร่วมด้วยถึง 19-34% และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ดังนั้น ผู้ป่วยโรคเบาหวานทุกคนจึงควรหมั่นใส่ใจสุขภาพ ดูแลไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนทำให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติ ซึ่งก็ถือเป็นวิธีการป้องกันภาวะแทรกซ้อนและช่วยลดความเสี่ยงที่ต้องสูญเสียอวัยวะได้อีกทาง

 

ภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน

 

ไขข้อสงสัย ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานที่เท้าเกิดจากอะไร

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานที่เท้า สามารถเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้

ภาวะปลายประสาทเสื่อม

ภาวะปลายประสาทเสื่อม มีสาเหตุจากระดับน้ำตาลในเลือดที่เพิ่มสูงติดต่อกันเป็นเวลานานมีผลทำให้ระบบประสาททำงานผิดปกติ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานเกิดอาการชา หรือไร้ความรู้สึกบริเวณปลายมือ หรือปลายเท้า ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานจึงมักไม่รู้ตัวเมื่อเกิดบาดแผล ปล่อยให้มีการอักเสบติดเชื้อ แผลจึงหายยาก

โรคหลอดเลือดอักเสบ

โรคหลอดเลือดอักเสบ หรือภาวะหลอดเลือดตีบแข็งจนเกิดการอุดตันในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากเลือดไม่สามารถไหลเวียนมาหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ตามปกติ ทำให้การสมานแผลในผู้ป่วยเบาหวานเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะบาดแผลบริเวณปลายนิ้วเท้าหรือส้นเท้า

เนื้อเยื่ออักเสบ

เนื้อเยื่ออักเสบ เป็นอีกสาเหตุนอกจากผลกระทบจากภาวะเนื้อเยื่อขาดเลือดมาหล่อเลี้ยง โดยแผลบริเวณเท้ามักเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียทำให้อักเสบลุกลาม ซึ่งหากรักษาไม่ได้ อาจนำไปสู่การสูญเสียอวัยวะอย่างถาวรได้

อาการของโรคเบาหวานที่เท้าเป็นอย่างไร

ในระยะแรกเริ่มของการเกิดบาดแผล หรือก่อนเกิดบาดแผล ผู้ป่วยเบาหวานมักมีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณเท้า โดยส่วนใหญ่มักมีอาการเฉพาะในตอนกลางคืน ส่วนในรายที่มีอาการรุนแรงอาจรู้สึกปวดแปลบ ๆ ทั้งวัน สีผิวเริ่มเปลี่ยน อาจซีดลงหรือคล้ำขึ้น มีอาการบวมแดง เท้าบวม

 

นอกจากนี้ อาการที่พบได้บ่อยคืออาการชา ซึ่งอาจเริ่มที่บริเวณเท้าทั้ง 2 ข้าง แล้วค่อย ๆ ลุกลามไปยังบริเวณมือ อาการเหล่านี้จะค่อยเป็นค่อยไป โดยผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการน้อยมาก จนไม่ทันสังเกต แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้ที่มีอาการรุนแรงมาก มีอาการชาจนไม่รู้สึกถึงสัมผัสหรืออุณหภูมิ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเดินหรือทรงตัว ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

 

แผลเบาหวาน ผลกระทบ

 

อันตรายของแผลเบาหวาน

อันตรายของแผลเบาหวาน โดยส่วนใหญ่ แผลในผู้ป่วยเบาหวานมักเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น จากของมีคม การสะดุดล้ม หรือเกิดการกระทบกระแทก ซึ่งเมื่อผู้ป่วยเบาหวานมีบาดแผลเกิดขึ้นแล้ว แผลมักหายยากกว่าคนปกติ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่าง ๆ ดังนี้

แผลเรื้อรังรักษายาก

แผลเรื้อรังรักษายาก เมื่อผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติ ก็จะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงตีบ ซึ่งจะทำให้เลือดไม่สามารถนำออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายได้ดีเท่าที่ควร แผลเบาหวานส่วนใหญ่จึงขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้แผลหายช้า รักษายาก และอาจเป็นเรื้อรัง

ติดเชื้อแทรกซ้อน

ติดเชื้อแทรกซ้อน โดยแผลที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวานมักมีการติดเชื้อร่วมด้วยเสมอ ส่วนใหญ่จะพบว่าเป็นการอักเสบลุกลามจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งอาจทำให้เนื้อเยื่อในบริเวณนั้นส่งกลิ่นเหม็นได้

ปลายประสาทเสื่อม

ปลายประสาทเสื่อม โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเกิดอาการชา ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บ หรือรู้สึกว่าตัวเองเกิดบาดแผล เมื่อปล่อยไว้จึงเกิดการอักเสบลุกลาม ซึ่งในบางราย อาจเกิดการติดเชื้อลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด เป็นอันตรายต่อชีวิต

เท้าผิดรูป

เท้าผิดรูป มักเกิดขึ้นพร้อมกับอาการบวมแดง รู้สึกร้อนที่เท้า หรือผิวแห้งหนาผิดปกติ หรือมีก้อนนูนขึ้นมากดเนื้อเยื่อข้างใต้ ซึ่งจะทำให้เกิดแรงกดเฉพาะที่ส่งผลให้เนื้อเยื่อตาย

ระบบประสาทอัตโนมัติเสื่อม

ระบบประสาทอัตโนมัติเสื่อม เมื่อระบบประสาทที่ควบคุมต่อมไขมันและต่อมเหงื่อเกิดความผิดปกติ ก็จะทำให้ผิวหนังแห้งแตกง่าย และมีเหงื่อออกน้อย เชื้อโรคจึงสามารถเข้าไปตามรอยแตกทำให้เกิดเป็นบาดแผลและมีการลุกลามได้ง่ายมากขึ้น

มีความเสี่ยงสูญเสียอวัยวะ

มีความเสี่ยงสูญเสียอวัยวะ โดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุ ซึ่งจะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดบาดแผลและอักเสบเรื้อรังมากกว่าผู้ที่มีอายุน้อย เนื่องจากกลไกในการต่อสู้กับเชื้อโรคของร่างกายอาจเสื่อมถอยลงไป การสมานแผลช้า ซึ่งเกิดจากการที่เนื้อเยื่อขาดเลือดมาหล่อเลี้ยง ก็จะทำให้เกิดการอักเสบลุกลาม ซึ่งเมื่อไม่สามารถรักษาได้ ก็อาจต้องตัดขา หรืออวัยวะส่วนนั้น ๆ ที่เกิดบาดแผล

 

แผลเบาหวาน ป้องกัน

 

ดูแลแผลเบาหวานอย่างไรไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน

เมื่อเกิดบาดแผลแล้ว ผู้ป่วยเบาหวานสามารถดูแลแผลเบาหวานได้ด้วยตัวเอง ดังนี้

หมั่นดูแลทำความสะอาดแผล

ผู้ป่วยเบาหวานควรหมั่นดูแลทำความสะอาดแผลให้ปราศจากเชื้อโรคด้วยการล้างแผลด้วยน้ำสบู่ หรือน้ำเกลือ และควรเช็ดทำความสะอาดบาดแผลวันละ 2-4 ครั้ง ที่สำคัญ ควรเช็ดแผลให้แห้งสนิท และหลีกเลี่ยงการใช้แอลกอฮอล์ในการทำความสะอาดเนื่องจากแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการทำลายโปรตีนในเนื้อเยื่อ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อบาดแผลในระยะยาวได้

ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานควรลดการรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว เพราะเมื่ออาหารประเภทนี้ถูกย่อยแล้ว ก็จะทำให้ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารมื้อใหญ่ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ระดับน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้น ผู้ป่วยเบาหวานควรแบ่งรับประทานมื้อเล็ก ๆ แต่รับประทานหลาย ๆ มื้อแทน

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะการขาดการออกกำลังกายจะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเกิดภาวะการดื้อต่ออินซูลินได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อินซูลินไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ การควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกายจึงเป็นไปได้ยาก ดังนั้น การออกกำลังกายจะช่วยให้ภาวะดื้อต่ออินซูลินลดลง และร่างกายสามารถนำเอาน้ำตาลไปใช้ได้มากยิ่งขึ้น

การใช้ยาควบคุมระดับน้ำตาล

การใช้ยาควบคุมระดับน้ำตาล ซึ่งโรคเบาหวานเป็นโรคที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยเพื่อให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพมากที่สุด ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างตรงเวลา และสม่ำเสมอ ซึ่งแพทย์จะมีการปรับขนาดและการใช้ยาโดยพิจารณาเป็นรายบุคคลแล้วแต่ความรุนแรงของโรค

หมั่นคอยสังเกตบาดแผล

การหมั่นคอยสังเกตบาดแผลและความผิดปกติของแผลอยู่เสมอ ก็เป็นอีกวิธีในการช่วยลดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะหากมีน้ำเหลือง ผู้ป่วยควรใช้ผ้าก๊อซอุดแผลเพื่อซับหนองออกจากแผลให้หมด เพื่อป้องกันไม่ให้แผลอักเสบติดเชื้อรุนแรง และควรเข้าพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เนื่องจากแผลมีหนองจะมีโอกาสลุกลามสูง

ดูแลแผลกดทับ

ดูแลแผลกดทับเป็นสาเหตุของการตายของเนื้อเยื่อ ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นเมื่อมีแรงกดทับบริเวณผิวหนังกับพื้นผิว เป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้น หากเกิดแผลกดทับ ควรทำความสะอาดด้วยน้ำเกลือและปิดแผลให้แห้งสนิทด้วยผ้าปิดแผลที่ฆ่าเชื้อแล้วเท่านั้น ไม่ควรใช้พลาสเตอร์ปิดที่แผลโดยตรง

 

คัดกรองโรคเบาหวาน รามคำแหง

 

 

แพ็กเกจคัดกรองโรคเบาหวาน โรงพยาบาลรามคำแหง

 

แพ็กเกจคัดกรองโรคเบาหวาน โรงพยาบาลรามคำแหง

 

  • Diabetic care package แพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน (ผู้ชาย-ผู้หญิง) ราคา 4,890