หัวใจเต้นแรง เพราะมีรักหรือมีโรค มาเช็กได้ที่ศูนย์หัวใจรามคำแหง

June 18 / 2024

 

ศูนย์หัวใจ

 

 

โดยปกติ หัวใจของคนเราจะมีอัตราการเต้นอยู่ที่ 60-100 ครั้งต่อนาที แต่หัวใจก็อาจเต้นแรงกว่านี้ได้เมื่อเราทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรง เช่น ออกกำลังกาย หรือกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวมาก โดยในบางครั้ง ก็อาจเกิดขึ้นได้ตามอารมณ์และความรู้สึก แต่รู้หรือไม่ว่าในบางครั้ง หากอาการหัวใจเต้นเร็วเกิดขึ้นบ่อย รวมถึงรู้สึกเหนื่อยง่าย หน้ามืด และเป็นลมหมดสติ อาการเหล่านี้ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งผู้ป่วยควรรีบเข้าพบแพทย์ หรือปรึกษาที่ศูนย์หัวใจ เพื่อค้นหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม

 

หัวใจเต้นเร็ว

 

หัวใจเต้นเร็วเกิดจากอะไร

ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งแบ่งออกเป็นปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

ปัจจัยภายนอก

ภาวะหัวใจเต้นแรงอาจเกิดได้จากปัจจัยภายนอก อาทิ การออกกำลังกาย ความเครียด การรับประทานอาหาร ยา หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีผลต่อการทำงานต่อหัวใจ โดยเฉพาะผู้ที่ชอบดื่มกาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่วนผู้ป่วยที่รับประทานยาลดความดัน ก็อาจส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้เช่นกัน โดยวิธีการรักษาภาวะหัวใจเต้นแรงจากปัจจัยภายนอกจะมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขที่สาเหตุ เช่น การลดขนาดยา หรือหยุดรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีผลต่อการทำงานของหัวใจเพื่อให้หัวใจกลับมาทำงานเป็นปกติ

ปัจจัยภายใน

แบ่งออกเป็นสาเหตุย่อยได้ดังนี้

ปัจจัยทางด้านร่างกาย

ปัจจัยทางด้านร่างกาย ได้แก่

 

  • อายุ : เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายก็ย่อมเสื่อมถอยลง จากการศึกษาพบว่าในปัจจุบัน อัตราการเกิดโรคหัวใจพบมากขึ้นในคนวัยทำงานอายุ 30-40 ปี
  • พันธุกรรม : ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจจะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากกว่าคนทั่วไป
  • เพศ : ผู้ชายจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจมากกว่าผู้หญิง
  • สภาวะของหลอดเลือดหัวใจ : หลอดเลือดที่ดีและมีความยืดหยุ่นย่อมสามารถรับมือกับการจัดการของเสียของเลือดที่ไหลผ่าน แต่หากหลอดเลือดเสื่อมสภาพ ก็อาจก่อให้เกิดการอุดตันซึ่งทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้
  • โครงสร้างของหัวใจ : หากมีประวัติเคยติดเชื้อ หรือมีความผิดปกติของโครงสร้างของหัวใจก็อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคหัวใจได้

 

 

โรคประจำตัว

 

โรคประจำตัว ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นแรง

 

  • ภาวะไขมันในเลือดสูง : ผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง จะส่งผลให้ไขมันเกิดการจับตัวที่ผนังหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดอุดตัน ซึ่งนำไปสู่ภาวะหัวใจเต้นเร็วและเกิดเป็นโรคหัวใจได้
  • ภาวะความดันโลหิตสูง : เมื่อความดันในหลอดเลือดสูงกว่าปกติ หัวใจจึงต้องบีบตัวมากขึ้นเพื่อต้านกับความดันในหลอดเลือดที่เพิ่มสูงเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ภาวะนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว และเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวขึ้นมาก หัวใจก็จะอ่อนแรงลง เกิดเป็นพังผืดที่หัวใจและทำให้กระแสไฟฟ้าในหัวใจเกิดความผิดปกติ ซึ่งเป็นผลทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • โรคเบาหวาน : เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ก็สามารถส่งผลให้ผนังหลอดเลือดไม่แข็งแรง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตัน และนำมาซึ่งอาการหัวใจเต้นผิดปกติ
  • โรคหัวใจ ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ผนังกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจ และภาวะที่เกิดจากไฟฟ้าหัวใจลัดวงจร
  • โรคไทรอยด์ : เมื่อเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หรือต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมามากเกินไป ฮอร์โมนนี้จะเข้าไปเร่งหรือกระตุ้นการเผาผลาญรวมถึงการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เช่น หัวใจ ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • โรคโลหิตจาง : ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจะมีฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าคนปกติ ส่งผลให้เหนื่อยง่าย และอาจมีอาการหัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น เนื่องจากหัวใจของผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจะพยายามมากขึ้นในการปั๊มเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อให้เนื้อเยื่อต่าง ๆ ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ
  • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง : ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นมักมีโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ อาทิ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม และโรคอื่น ๆ ที่เกิดจากการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ รวมถึงภาวะขาดออกซิเจนในเลือดอยู่เป็นประจำ ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องหายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว และถี่ขึ้น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงนำไปสู่โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้

 

ปัจจัยทางด้านจิตใจ

 

ปัจจัยทางด้านจิตใจ ทั้งความเครียด ภาวะซึมเศร้า และความโกรธสามารถส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในระบบหัวใจและการยืดหยุ่นของหลอดเลือด

 

หัวใจเต้นแรง อาการ

 

อาการของหัวใจเต้นแรงที่เริ่มส่งสัญญาณผิดปกติ

สำหรับอาการของหัวใจเต้นแรงที่เริ่มส่งสัญญาณผิดปกติ เนื่องจากหัวใจเต้นผิดจังหวะมีหลากหลายประเภท ผู้ป่วยแต่ละคนจึงมีอาการแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก เป็นลมหมดสติ รู้สึกอ่อนเพลีย หรือในบางรายอาจเกิดลิ่มเลือดในหัวใจ นอกจากนี้หัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดขึ้นจะมีระยะเวลาสั้นยาวแตกต่างกัน บางชนิดเป็นแค่เสี้ยววินาที หรือในบางชนิดนานเป็นหลายนาที หรือหลายชั่วโมง โดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า ดังนั้น หากสงสัยหรือรู้สึกว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ทำการวิเคราะห์หาสาเหตุและทำการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

พฤติกรรมเสี่ยง และการวินิจฉัยโรค

หลายคนอาจสงสัย ว่าการเป็นโรคหัวใจเต้นแรง เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงอะไรบ้าง และการวินิจฉัยโรงของแพทย์นั้น มีวิธีการวินิจฉัยอย่างไร เราจะไปลงลึกในรายละเอียดดังกล่าวนี้ในบทความถัดไปเพื่อให้คุณได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหัวใจเต้นแรง และสามารถเตรียมความพร้อมได้อย่างทันท่วงที