s การตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับผู้ชาย ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

การตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับผู้ชาย ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

June 13 / 2024

 

ตรวจสุขภาพ

 

แม้ว่าตามธรรมชาติแล้ว ผู้ชายจะเป็นเพศที่มีความแข็งแรงทางด้านร่างกายมากกว่าเพศหญิง ร่างกายมีความเสื่อมถอยได้ช้ากว่า แต่ด้วยสภาวะในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเครียด รวมถึงชั่วโมงการทำงานที่มากเกินกว่าปกติจนร่างกายพักผ่อนได้ไม่เต็มที่ ต้องใช้ชีวิตแข่งกับเวลา รับประทานอาหารอย่างเร่งรีบ ทำให้ในบางครั้ง ความเจ็บป่วยอาจมาเยือนโดยไม่ทันได้ตั้งตัว ซึ่งในบางครั้งเมื่อเราละเลยอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่เอาใจใส่ เมื่อร่างกายส่งสัญญาณ ก็อาจนำไปสู่อาการเจ็บป่วยสะสม กว่าจะมารู้ตัวภายหลังก็ทำให้การรักษายากขึ้น การตรวจสุขภาพสำหรับผู้ชาย จึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญไม่ใช่น้อย ก่อนที่สายเกินแก้

 

ตรวจสุขภาพสำหรับผู้ชาย

 

 

ความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับผู้ชาย

ความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับผู้ชาย นั้นเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจ เพราะในปัจจุบัน ทุกคนควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเพื่อคัดกรองปัญหาสุขภาพเบื้องต้น แม้ผลตรวจจะออกมาว่าเราไม่มีปัญหาสุขภาพ แต่การเข้ารับการตรวจเช็กโดยละเอียด และรับคำแนะนำจากแพทย์ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ และเตรียมพร้อมร่างกายในการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น เราควรทราบถึงความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับผู้ชาย ดังนี้

ช่วยให้ทราบและรู้เท่าทันความสมบูรณ์ของร่างกาย

ช่วยให้ทราบและรู้เท่าทันความสมบูรณ์ของร่างกาย เพราะ ไลฟ์สไตล์การทำงานของคนในยุคปัจจุบันอาจทำให้คนในวัยทำงานละเลยการดูแลสุขภาพมากขึ้น การเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีจึงถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่จะช่วยให้ทราบถึงสุขภาวะโดยรวม รวมถึงพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดโรค นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้รับคำแนะนำจากแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้มีความเหมาะสมกับสถานะสุขภาพ และช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อโรคภัยมากยิ่งขึ้น

ช่วยค้นหาและป้องกันปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคร้าย

ช่วยค้นหาและป้องกันปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคร้าย โดยการตรวจสุขภาพประจำปี มีจุดประสงค์ในการมุ่งป้องกันมากกว่าการรักษาโรค เพราะสามารถช่วยค้นพบความผิดปกติ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงและโรคต่าง ๆ ได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม หรือในระยะที่โรคยังไม่แสดงอาการ ทำให้สามารถระวังและดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดโรค หรือหากเกิดโรคแล้วก็สามารถทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที และป้องกันไม่ให้เกิดการลุกลามมากยิ่งขึ้น

เป็นการวางแผนสุขภาพในระยะยาว

เป็นการวางแผนสุขภาพในระยะยาว เพราะการตรวจสุขภาพไม่เพียงแต่จะเป็นการลดความเสี่ยงสูญเสียความแข็งแรงของร่างกายในระยะยาว แต่ยังเป็นการช่วยวางแผนทางด้านการเงิน ลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคระยะยาว ประหยัดเวลาในการรักษา และเพิ่มโอกาสในการวางแผนการใช้ชีวิตในรูปแบบที่ต้องการได้

สามารถรับมือหากเจอโรคร้ายได้อย่างทันท่วงที

สามารถรับมือหากเจอโรคร้ายได้อย่างทันท่วงที โดยการตรวจสุขภาพประจำปีถือเป็นวิธีการค้นหาโรคและภาวะผิดปกติในร่างกาย ซึ่งหากตรวจพบความผิดปกติของร่างกาย แพทย์ก็จะสามารถวางแนวทางการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของโรค โดยไม่ปล่อยอาการทรุดหนักหรือโรคลุกลาม เพิ่มโอกาสการหายขาดและยังทำให้ทราบถึงแนวทางการปฏิบัติตัวเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน

 

โรคร้ายของผู้ชาย

 

7 โรคอันตรายที่ผู้ชายควรระวัง

ผู้ชายส่วนใหญ่มักไม่ให้ความสำคัญในการดูแลใส่ใจสุขภาพเท่าผู้หญิง รวมถึงในบางราย ยังมีการสะสมพฤติกรรมสุขภาพด้านลบมาอย่างยาวนาน ทำให้อาจเกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคบางโรคมากกว่าผู้หญิง ขออธิบาย 7 โรคอันตรายที่ผู้ชายควรระวัง ดังนี้

โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยมักเกิดจากพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสมในระยะยาว ทำให้ระดับไขมันเลว (LDL) ในร่างกายพุ่งสูงขึ้น และส่งผลต่อปริมาณเลือดที่ไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจและสมองซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ภาวะดังกล่าวถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โดยมักสังเกตอาการผู้ป่วยได้จากอาการเหน็บชา อ่อนแรง อาจมีอาการอัมพฤกษ์ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เหน็บชา รวมถึงมีพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ผิดปกติ

โรคต่อมลูกหมากโต

โรคต่อมลูกหมากโต โดยจากการศึกษาพบว่าร้อยละ 50 ของผู้ชายวัย 50 ขึ้นไป เคยมีภาวะต่อมลูกหมากมีขนาดโตผิดปกติ ซึ่งจะทำให้ไปเบียดท่อปัสสาวะให้ตีบแคบ ทำให้ปัสสาวะไหลไม่แรงหรือต้องเบ่งปัสสาวะช่วย และอาจนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อาทิ ปัสสาวะเลือด ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หรือในบางรายอาจเกิดนิ่วในระบบปัสสาวะหรือรุนแรงจนถึงภาวะไตวายเฉียบพลันได้

โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นโรคที่สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากการพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม อาทิ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ หรือการรับประทานเนื้อแดงมากจนเกินไป โดยอาการเริ่มต้นมักคล้ายกับโรคต่อมลูกหมากโต ผู้ป่วยจึงมักมองข้ามอาการในระยะแรก และมาตรวจพบเมื่ออาการเริ่มลุกลามมากขึ้นจนปัสสาวะมีเลือดปน

โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยทางด้านอารมณ์ ความเครียด หรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเมื่อเข้าสู่วัยทอง และผลกระทบจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ หรือการดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ โรคประจำตัวบางโรคก็อาจส่งผลกระทบให้เกิดเส้นเลือดบริเวณอวัยวะเพศตีบร่วมกับอาการเส้นประสาทเสื่อมได้

โรคไต

โรคไต มักเป็นผลแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน และภาวะความดันโลหิตสูง โดยอาการโรคไตจะมีกลุ่มอาการ 2 ชนิดที่พบมากที่สุด ได้แก่ ไตวายเฉียบพลันและไตวายเรื้อรัง โดยเฉพาะอาการไตวายเรื้อรังนั้นมักไม่แสดงอาการในช่วงเริ่มต้น จนเมื่อตอนที่ไตเสียหายไปมากแล้วจึงเริ่มแสดงอาการ

โรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ

โรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ มีสาเหตุเกิดจากร่างกายผลิตฮอร์โมนควบคุมแคลเซียมมากเกินไป หรือผู้ป่วยอาจดื่มน้ำน้อย ทำให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นสูง ก่อให้เกิดก้อนผลึกเกลือแร่ขนาดเล็กจับตัวกันเป็นก้อนหินปูนในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งสามารถเกิดได้ในทุกอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ นิ่วในไต ท่อไต และนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นอีกหนึ่งโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ชาย โดยเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น อาหารที่รับประทานเข้าไปจะใช้เวลาเดินทางจากระบบย่อยไปทวารหนักนานมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์หรืออาหารที่มีไขมันสูง โดยการที่อาหารค้างอยู่ในระบบย่อยนานเกินไป ทำให้แบคทีเรียที่ดีในลำไส้เสียสมดุล ซึ่งเมื่อลำไส้อ่อนแอเป็นระยะเวลานาน ก็จะส่งผลให้เกิดเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

เหตุผลที่คนส่วนใหญ่มักละเลยการตรวจสุขภาพ

ถึงแม้ว่าการตรวจสุขภาพจะมีความสำคัญต่อการดูแลร่างกาย และการวางแผนชีวิตหลายประการ แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนมาก ที่ยังละเลย ไม่ใส่ใจในการตรวจสุขภาพประจำปี ในบทความถัดไปโรงพยาบาลรามคำแหง จะมาพูดถึงเหตุผลที่คนส่วนใหญ่มักละเลยการตรวจสุขภาพ รวมไปถึงคำแนะนำต่าง ๆ และแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เพื่อเตรียมพร้อมในการวางแผนสุขภาพ