ในวัยเกษียณ ควรตรวจสุขภาพอะไรบ้าง และมีการเตรียมตัวอย่างไร

June 12 / 2024

 

ตรวจสุขภาพ

 

 

ครั้งก่อนเราพูดถึงเรื่องความสำคัญของการตรวจสุขภาพกับ 7 ปัญหาสุขภาพที่ควรจะต้องระวัง ในวันนี้เราจะมาพูดถึงการตรวจเช็กร่างกายขั้นพื้นฐานของวัยเกษียณไม่ว่าจะเพศหญิง หรือเพศชาย อาทิ การประเมินสภาวะสุขภาพ การตรวจความสมบูรณ์ของเลือด การตรวจตา รวมถึงการตรวจปัสสาวะและอุจจาระ ซึ่งผู้สูงอายุควรได้รับการตรวจสุขภาพอย่างละเอียด ให้เห็นภาพรวมสุขภาพของร่างกาย และแนวโน้มของปัญหาสุขภาพได้อย่างถี่ถ้วน ให้ลูก ๆ หลาน ๆ หรือกลุ่มคนวัยเกษียณได้ทำความเข้าใจ เพื่อที่จะช่วยป้องกันโรคได้อย่างทันท่วงที


ตรวจสุขภาพ ผู้สูงอายุ

 

วางแผนสุขภาพวัยเกษียณ ควรตรวจสุขภาพตัวไหนบ้าง

 

วางแผนสุขภาพวัยเกษียณ ตรวจสุขภาพเพื่อดูภาพรวมของร่างกายโดยละเอียด ควรตรวจดังนี้

การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด

การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด เป็นการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน รวมไปถึงการประเมินผลการรักษาและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคเบาหวานในระยะยาว

การตรวจระดับไขมันในเลือด

การตรวจระดับไขมันในเลือด คือ การตรวจหาระดับไขมันอิ่มตัว หรือคอเลสตอรอลในร่างกายเพื่อประเมินหาความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันและโรคเส้นเลือดในสมองตีบ

การตรวจการทำงานของกระดูกและกล้ามเนื้อ

การตรวจการทำงานของกระดูกและกล้ามเนื้อ เป็นการตรวจวินิจฉัยประกอบกับการประเมินภาวะโภชนาการเพื่อให้ทราบถึงความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน และสมรรถภาพในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

การตรวจการทำงานของหัวใจ

การตรวจการทำงานของหัวใจ เป็นการตรวจที่มีวิธีการที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับกรณีและสภาวะของแต่ละบุคคล ประกอบด้วย

การตรวจเอกซเรย์ปอดและหัวใจ (Chest X-ray)

การตรวจเอกซเรย์ปอดและหัวใจ เป็นการถ่ายภาพเอกซเรย์บริเวณหน้าอก เพื่อให้ทราบถึงขนาดของหัวใจและหลอดเลือดใหญ่ รวมถึงลักษณะและสภาพของปอด เพื่อช่วยในการวินิจฉัยภาวะหัวใจโต หรือโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง


การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram หรือ EKG)

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าที่กำเนิดจากกล้ามเนื้อหัวใจผ่านบริเวณผิวหนัง ข้อมูลที่ได้จะช่วยให้แพทย์ทราบถึงอัตราการเต้นและความสม่ำเสมอของการเต้นของหัวใจ เพื่อวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ รวมถึงการเหนี่ยวนำไฟฟ้าในหัวใจที่ผิดปกติชนิดต่าง ๆ และภาวะหัวใจโต โดยลักษณะของข้อมูลที่เป็นกราฟจากวิธีการตรวจประเภทนี้ ยังสามารถช่วยระบุตำแหน่งของหัวใจที่ขาดเลือดได้อีกด้วย


การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง หรือการทำเอคโค่ (Echocardiogram)

การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง หรือการทำเอคโค่ เป็นการอาศัยคุณสมบัติของการสะท้อนของคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) จากหัวใจมาสร้างเป็นภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว เพื่อให้แพทย์มองเห็นลักษณะทางกายภาพของหัวใจ อาทิ ขนาดและความหนาของกล้ามเนื้อ รวมถึงลักษณะของลิ้นหัวใจ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วได้ นอกจากนี้ ยังทำให้ทราบถึงความสามารถในการบีบตัวของหัวใจว่าเป็นปกติหรือไม่อีกด้วย


การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (Exercise Stress Test หรือ EST)

เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจในขณะที่ผู้รับการตรวจเดินบนสายพานที่เร็ว และชันขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้แพทย์สามารถวัดความดันและอัตราการเต้นของหัวใจ โดยวิธีการนี้ แพทย์จะสามารถประเมินการตอบสนองของอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ นอกจากนี้ วิธีการดังกล่าว ยังช่วยในการวินิจฉัยภาวะหัวใจขาดเลือด ซึ่งแพทย์อาจไม่สามารถตรวจได้ในขณะที่ผู้ป่วยพัก


การตรวจวัดการแข็งตัวของหลอดเลือดส่วนปลาย (Ankle Brachial Index หรือ ABI)

การตรวจวัดการแข็งตัวของหลอดเลือดส่วนปลาย เป็นการวัดความดันของแขนและขาพร้อม ๆ กันเพื่อตรวจความยืดหยุ่น โดยข้อมูลที่ได้จะช่วยให้แพทย์ทราบถึงทราบความยืดหยุ่นของผนังหลอดเลือด รวมถึงสภาวะการตีบของหลอดเลือด ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ


การตรวจปริมาณคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ (CT Calcium Score)

การตรวจปริมาณคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ เป็นการตรวจโดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT Scan) เพื่อตรวจวัดปริมาณแคลเซียมที่สะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ต้องมีการฉีดสี การตรวจชนิดนี้จะช่วยให้แพทย์ประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

 

 

ตรวจคัดกรองมะเร็ง

 

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง แบ่งออกเป็นการตรวจเพื่อคัดกรองมะเร็งชนิดต่าง ๆ ดังนี้


สำหรับทั้งผู้ชายและผู้หญิง

 

  • โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ : สามารถทำได้โดยการตรวจอุจจาระหรือการส่องกล้องสแกนลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงเพื่อตรวจหาร่องรอยของมะเร็ง โดยผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปควรตรวจอุจจาระทุกปี และได้รับการส่องกล้องทุก ๆ 5-10 ปี
  • โรคมะเร็งตับ : แพทย์จะทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจค่าการทำงานของตับโดยอาศัยข้อมูลจากสารบ่งชี้มะเร็งตับแอลฟาฟีโตโปรตีน (AFP) การตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง การเจาะชิ้นเนื้อตับ (Liver biopsy) และการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือในบางกรณี แพทย์อาจพิจารณาการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อช่วยให้การวินิจฉัยแม่นยำขึ้น
  • โรคมะเร็งในช่องปาก : การตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำโดยทันตแพทย์ถือเป็นวิธีการเฝ้าระวังมะเร็งในช่องปากได้เป็นอย่างดีและทำได้โดยง่าย โดยทันตแพทย์จะตรวจหาลักษณะจำเพาะบางอย่าง อาทิ การบวมโตของเนื้องอก หรือความผิดปกติของต่าง ๆ ในช่องปาก รวมถึงบริเวณศีรษะและลำคอ

 

การตรวจเพิ่มเติมสำหรับผู้หญิง

 

  • โรคมะเร็งเต้านม : สำหรับผู้หญิงในวัยเกษียณ ควรเข้ารับการตรวจเต้านมด้วยเครื่องเอกซเรย์แมมโมแกรม (Mammogram) ร่วมกับการทำอัลตราซาวนด์เต้านม (Ultrasound) ทุกปีเพื่อค้นหาความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม หากพบความผิดปกติเกิดขึ้น แพทย์อาจให้มีการตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติม หรือติดตามเพื่อดูการเจริญเติบโตของชิ้นเนื้อ
  • โรคมะเร็งปากมดลูก : ถือเป็นมะเร็งที่อันตรายและมีอัตราการเสียชีวิตสูง ดังนั้น ผู้หญิงทุกคนควรเข้ารับการตรวจมะเร็งปากมดลูกอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเพื่อตรวจหาก้อนเนื้องอกในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ เพราะหากพบความผิดปกติก็จะสามารถทำการรักษาได้อย่างรวดเร็ว และเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้มากยิ่งขึ้น

 

การตรวจสุขภาพเพิ่มเติมสำหรับผู้ชาย

 

  • โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก : สำหรับผู้ชายที่มี 50 ปีขึ้นไปโดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งชนิดนี้ทุกปี โดยหากพบในระยะเริ่มต้น ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดจากมะเร็งชนิดนี้ได้

 

เตรียมตัวตรวจสุขภาพ

 

คำแนะนำในการเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพวัยเกษียณ

 

คำแนะนำในการเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพวัยเกษียณ การเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก ดังนั้น ผู้ที่วางแผนเข้ารับการตรวจจึงควรเรียนรู้ข้อปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้ผลการตรวจแม่นยำและตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด ดังนี้

 

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
  • ควรงดน้ำ และอาหารก่อนเข้ารับการตรวจประมาณ 8-10 ชั่วโมง เพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด แต่หากรู้สึกกระหายน้ำ สามารถจิบน้ำเปล่าได้เล็กน้อย โดยหลังเจาะเลือดแล้ว สามารถดื่มน้ำและรับประทานอาหารให้ตามปกติ
  • งดกาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลา 24 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพ เนื่องจากเครื่องดื่มเหล่านี้มีผลต่อความดันโลหิต
  • สวมเสื้อผ้าที่สะดวกต่อการเจาะเลือดบริเวณข้อพับแขน และการตรวจร่างกาย
  • ควรงดใส่เครื่องประดับต่าง ๆ ที่ทำจากโลหะ และสำหรับสุขภาพ ควรงดใส่ชุดชั้นในที่เป็นโครงเหล็ก
  • หากรับประทานยาควบคุมความดันโลหิตอยู่ก่อนแล้ว สามารถรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์ต่อได้ แต่ควรแจ้งแพทย์ หรือพยาบาลก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพ
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีโรคประจำตัว หรือประวัติสุขภาพใดๆ รวมถึงรับประทานยาชนิดใดเป็นประจำเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัย

 

 

ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลรามคำแหง

 

แพ็กเกจตรวจสุขภาพวัยเกษียณ โรงพยาบาลรามคำแหง

 

แพ็กเกจตรวจสุขภาพวัยเกษียณ โรงพยาบาลรามคำแหง มีดังนี้

 

  • Hypertension Care Package แพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคความดันโลหิตสูง (ผู้ชาย-ผู้หญิง) ราคา 5,390
  • Diabetic Care Package แพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน (ผู้ชาย-ผู้หญิง) ราคา 4,890
  • แพ็กเกจวัคซีนไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบ (Prevnar 13) ราคา 4,190
  • แพ็กเกจไฮเปอร์แบบริก (Hyperbaric) การรักษาด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง (90 นาที/10 ครั้ง) ราคา 34,000
  • การตรวจหาคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ ราคา 5,700
  • นวัตกรรมการบรรเทาอาการปวดด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า PMS ราคา 950