ร้อนนี้ต้องระวัง!.. รู้ทันอาการโรคลมแดด (Heat Stroke)

December 19 / 2024

 

 

ร้อนนี้ต้องระวัง!.. รู้ทันอาการโรคลมแดด​ (Heat Stroke)


 

โรคลมแดด

 

 

     หน้าร้อน ที่เต็มไปด้วยเทศกาลและการท่องเที่ยว แต่รู้หรือไม่ว่า หน้าร้อนก็มาพร้อมกับอันตรายที่มองไม่เห็น และอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด หนึ่งในนั้นก็คือ "โรคลมแดด" หรือ "ฮีทสโตรก" เรามาทำความรู้จักโรคนี้ให้มากขึ้น จะได้ป้องกันและดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง เพราะบางคนอาจยังไม่เข้าใจความร้ายแรงของโรคนี้

 

 

 

โรคลมแดด

 

 

โรคลมแดด (Heat Stroke)

     โรคลมแดด (Heat Stroke) เกิดขึ้นเมื่อร่างกายขาดน้ำและเสียสมดุล ส่งผลให้ควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้อยู่ในระดับปกติไม่ได้ มักเกิดขึ้นเมื่ออากาศร้อนจัด ร่างกายสูญเสียน้ำจากเหงื่อมาก หรือได้รับน้ำไม่เพียงพอ และหากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเกิดความเสียหายต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย หรือทำให้เสียชีวิตได้

 

โรคลมแดดไม่ได้เกิดจากอากาศที่ร้อนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย

  • ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานานในสภาพอากาศที่ร้อนจัด เช่น งานก่อสร้าง หรือออกกำลังกายอย่างหนัก ซึ่งอาจทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกินไป และเกิดอาการของลมแดดได้
  • อยู่ในที่แออัดและมีอากาศร้อน อาจทำให้ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้
  • ไม่ดื่มน้ำ หรือจิบน้ำบ่อยในช่วงที่อากาศร้อนจัดและอบอ้าว ทำให้ร่างกายเสียเหงื่อมาก และไม่ได้รับน้ำทดแทนปริมาณเพียงพอ

 

 

 

โรคลมแดด

 

อาการของโรคลมแดด

     อาการของโรคลมแดดอาจเริ่มต้นจากอาการเบา ๆ เช่น เหงื่อออกมาก ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย ไม่มีแรงทำงาน ซึ่งหากเกิดอาการเหล่านี้แล้ว ยังไม่ดื่มน้ำ นั่งพักหรือนอนพักในที่ ๆ มีอากาศเย็นลงและปลอดโปร่งขึ้น ก็อาจทำให้อาการแย่ลงได้ ไม่ว่าจะ หน้ามืด เป็นลม ชักเกร็ง ช็อกหมดสติ

 

 

 

โรคลมแดดโรคลมแดดโรคลมแดดโรคลมแดดโรคลมแดดโรคลมแดด

 

 

 

อันตรายจากโรคลมแดด

     อันตรายของโรคลมแดด เกิดจากการไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที จนเกิดเป็นลม ช็อก หมดสติ หรือเสียชีวิตกะทันหัน แต่นอกจากนี้แล้วการหมดสติจากอาการลมแดดยังอาจนำไปสู่อุบัติเหตุอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ล้มศีรษะกระแทก หรือหมดสติกลางถนน ถูกรถเฉี่ยวชน หรือแม้แต่การหมดสติแล้วตกจากที่สูงก็เป็นไปได้เช่นกัน

 

 

การป้องกันตัวเองห่างไกลโรคลมแดด

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ จิบน้ำบ่อยๆ ตลอดวัน จะช่วยให้ร่างกายจัดการกับความร้อนได้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงที่ร่างกายจะมีอุณหภูมิสูงเกินไปได้
  • เลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งตอนแดดแรงจัด ไม่ว่าจะเป็นทำงาน ท่องเที่ยว หรือออกกำลังกาย โดยเฉพาะช่วงเวลา 12.00-14.00 น. จะช่วยลดความเสี่ยงของอาการลมแดดได้
  • ป้องกันร่างกายจากแดด หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งนาน ควรใส่เสื้อผ้าสีอ่อน สวมหมวก กางร่ม หรือ ทาครีมกันแดด เพื่อป้องกันแสงแดดและความร้อน
  • พักผ่อนให้เพียงพอ การพักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟู และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ทานอาหารมีประโยชน์ การทานอาหารมีประโยชน์เป็นประจำ จะทำให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยป้องกันโรคต่างๆ และไม่อ่อนเพลียง่าย แม้ในสภาพอากาศที่ร้อนจัด
  • สังเกตอาการผิดปกติ หากรู้สึกอ่อนเพลีย เวียนหัว ปวดหัว คลื่นไส้ เหงื่อออกมากกว่าปกติในสภาพอากาศร้อน ควรหาที่ร่มนั่งพักและดื่มน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปโรงพยาบาล

 

 

 

โรคลมแดด

 

 


เมื่อรู้ถึงอันตรายของโรคลมแดด (Heat Stroke) กันแล้วก็อย่าชะล่าใจและคิดว่าโรคนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นกับคุณ เพราะโรคนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษในช่วงที่อากาศร้อนจัดแบบนี้


 

 

เจอผู้ป่วยโรคลมแดด ทำอย่างไร?

     หากสังเกตว่า ตัวเองหรือคนรอบข้างมีอาการคล้ายโรคลมแดด ให้รีบเข้าที่ร่มอากาศถ่ายเทสะดวก จากนั้นระบายความร้อนด้วยการปลดเสื้อผ้าออก แล้วเช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำเย็น พัดให้ลมเย็นๆ ทั่วตัว ให้ดื่มน้ำเย็นกรณีไม่หมดสติ ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพาส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด